ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้ความสำคัญ "วันอาสาฬหบูชา - วันเข้าพรรษา" ที่เรียกว่า "วันพระใหญ่"

ไลฟ์สไตล์
17 ก.ค. 67
15:38
65,972
Logo Thai PBS
รู้ความสำคัญ "วันอาสาฬหบูชา - วันเข้าพรรษา" ที่เรียกว่า "วันพระใหญ่"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เดือน กรกฎาคม 2567 มี "วันพระใหญ่" ถึง 2 วัน คือ "วันอาสาฬหบูชา" และ "วันเข้าพรรษา" ซึ่งเป็นวันที่ต่อเนื่องกัน และในปีนี้ ถือเป็นวันหยุดที่หลายคนตั้งใจเข้าวัดไปทำบุญที่วัด สวดมนต์ ฟังธรรม ทำจิตใจให้สงบ ดำรงตนตั้งอยู่ในศีลในธรรม รวมไปถึงเวียนเทียน เพื่อเสริมความเป็นมงคลให้ชีวิต  

  • "วันอาสาฬหบูชา" ปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 ก.ค. ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
  • "วันเข้าพรรษา" ปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค. แรม 1 ค่ำ เดือน 8

อ่านข่าว : วันอาสาฬหบูชา 2567 ปฐมเทศนา "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"

"วันพระ" หรือที่เรียกว่า "วันธรรมสวนะ" หมายถึง วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพุทธศาสนา ซึ่งการกำหนดวันพระจะกำหนดตาม "ปฏิทินจันทรคติ" แต่ละเดือนจะมีวันพระประมาณ 4 วัน ได้แก่

  • วันขึ้น 8 ค่ำ
  • วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ)
  • วันแรม 8 ค่ำ
  • วันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)

แต่วันพระ ในเดือนนี้จะมีเพิ่มเข้ามาอีก 1 วัน คือ "วันเข้าพรรษา" และจะมีวันพระทั้งหมด 5 วัน 

  • วันศุกร์ที่ 5 ก.ค.2567 : แรม 14 ค่ำ เดือน 7
  • วันเสาร์ที่ 13 ก.ค.2567 : ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8
  • วันเสาร์ที่ 20 ก.ค.2567 : ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับ วันอาสาฬหบูชา
  • วันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค.2567 : แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับ วันเข้าพรรษา
  • วันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค.2567 : แรม 8 ค่ำ เดือน 8

ในวันพระ พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญ กิจกรรมที่มักจะทำกัน ไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่วัด ฟังธรรม ผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาอาจถือศีลแปดในวันพระด้วย นอกจากนี้ ชาวพุทธยังถือโอกาสนี้ในการเว้นจากความชั่ว หรือ บาป ทั้งทางกาย วาจา และใจ อีกด้วย

"วันพระ" ความเป็นมา ความสำคัญ 

ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าศาสนาพุทธยังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนา และแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชน ในวัน 8 ค่ำ, 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ

พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็น "วันธรรมสวนะ" ซึ่ง วันธรรมสวนะนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพังงา ระบุว่า เมืองไทยมีมาตั้งแต่ "สมัยกรุงสุโขทัย"

"วันโกน" กับ "วันพระ" คืออะไร

นอกจากนี้ ไทยยังมีคำเรียกวันก่อน "วันพระ" หนึ่งวันว่า "วันโกน" เป็นภาษาพูด หมายถึง วันก่อนวันพระ 1 วัน 

  • วันโกน คือ วันขึ้น 7 ค่ำ กับ 14 ค่ำ และแรม 7 ค่ำ กับแรม 14 ค่ำ ของทุกเดือน
    (หรือ แรม 13 ค่ำ หากตรง กับเดือนขาด) ซึ่งเป็นวันก่อนวัน พระ 1 วัน 
  • วันพระ หรือ วันธรรมสวนะ คือ วันขึ้น 8 ค่ำ กับ 15 ค่ำ และ แรม 8 ค่ำ กับแรม 15 ค่ำ ของทุกเดือน (หากตรงกับเดือนขาด อาจเป็น แรม 14 ค่ำ)

มาถึงตรงนี้ได้รู้แล้วว่าในเดือนนี้ มีวันพระใหญ่ เนื่องจากตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ชวนมาทำความเข้าใจ 2 วันนี้ให้มากขึ้น

ความสำคัญ "วันอาสาฬหบูชา" 

วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรือ เดือน 8 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ในปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ 20 ก.ค.2567 

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทาง พระพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก คือ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้ "พระโกณฑัญญะ" หนึ่งในปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมจนได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ได้อุปสมบทเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย มักตรงกับเดือน ก.ค. หรือ ส.ค.

สิ่งที่พึงปฎิบัติในวันอาสาฬหบูชา

กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา กิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์ ในวัดก็เตรียมจัดกิจกรรมที่วัด รวมถึงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ส่วนสิ่งที่พุทธศาสนิกชน พึงกระทำในวันนี้ คือ

  • ทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน
  • ให้ทาน รักษาศีล งดการทำบาป
  • เข้าวัดสวดมนต์ ฟังธรรม
  • เวียนเทียนรอบอุโบสถในเวลาเย็น เพื่อน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และยังช่วยชำระล้างจิตใจให้ผ่องใส

หลักธรรมสำคัญที่พึงน้อมนำมาปฎิบัติ

"มัชฌิมาปฏิปทา" หรือ "ทางสายกลาง" ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก และไม่ตึงไปทางใดทางหนึ่ง โดยมีหลักปฎิบัติ 8 ประการ ที่เรียกว่า "มรรคมีองค์ 8" 

1. สัมมาทิฏฐิ : เห็นชอบ 

2. สัมมาสังกัปปะ : ดำริชอบ

3. สัมมาวาจา :การเจรจาชอบ

4. สัมมากัมมันตะ : การงานชอบ

5. สัมมาอาชีวะ : การเลี้ยงชีพชอบ

6. สัมมาวายามะ : ความเพียรชอบ

7. สัมมาสติ : ความรำลึกชอบ

8. สัมมาสมาธิ : ความตั้งใจมั่นชอบ

อ่านข่าว : เปิดปฏิทินวันหยุดเดือนกรกฎาคม 2567 วางแผนหยุดยาวได้เลย 2 รอบ

อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ 

  • ทุกข์ : ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
  • สมุทัย : เหตุให้เกิดทุกข์ 
  • นิโรธ : ความดับทุกข์
  • มรรค : ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 

ความสำคัญ "วันเข้าพรรษา" 

มาต่อด้วย "วันเข้าพรรษา" เป็นวันที่ต่อเนื่องมาจาก "วันอาสาฬหบูชา" เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้สืบสานต่อกันมามาแต่ครั้งโบราณ ปีนี้ 2567 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค. แรม 1 ค่ำ เดือน 8  

วันเข้าพรรษา แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา อธิษฐานอยู่ประจำพรรษาวัดใดวัดหนึ่ง ไม่ไปค้างแรมที่อื่นตลอด 3 เดือนใน "ฤดูฝน" เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่มีอนุญาตไว้ในพระวินัย

"วันเข้าพรรษา" ปีนี้ 2567 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม แรม 1 ค่ำ เดือน 8 และสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ "วันออกพรรษา" ซึ่งตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 

ทำไมพระสงฆ์ต้องอยู่ "จำพรรษา"

คำว่า "วันเข้าพรรษา" คือ วันที่พระสงฆ์ทำพิธีอธิฐานพรรษา ซึ่งเป็นวันแรกของการจำพรรษา นั่นเอง ส่วนคำว่า "พรรษา" ทั่วไปแปลว่า "ปี" หมายถึง ระยะเวลาที่ครบรอบ 12 เดือน หรือเวลาที่โลกเดินรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง แต่ในที่นี้แปลว่า "ฤดูฝน"

กรมการศาสนา พาย้อนไปสมัยพุทธการ โดยอธิบายว่า เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเผยแพร่ศาสนาตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งในช่วงฤดูฝน การเดินทางลำบากทำให้ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวบ้านเสียหาย ชาวบ้านจึงตำหนิและไปกราบทูลพระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นเวลา 3 เดือนในฤดูฝน 

การจำพรรษาของพระสงฆ์

กำหนดวันเข้าพรรษาแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

  • "ปุริมพรรษา" คือ พรรษาต้น เป็นช่วงระยะเวลาที่พระสงฆ์เข้าอยู่พรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (วันออกพรรษา)
  • "ปัจฉิมพรรษา" คือ พรรษาหลัง เป็นช่วงระยะเวลาที่พระสงฆ์เข้าอยู่พรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันลอยกระทง) 

อย่างไรก็ตาม การอยู่จำพรรษาจะต้องไม่ไปค้างแรมในสถานที่อื่น หากมีธุระไม่สามารถหลับได้ในคืนเดียว พระพุทธเจ้าได้อนุญาตให้พักค้างแรมได้ไม่เกิด 7 วัน เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่า "พรรษาขาด"

ข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่

1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย

2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้

3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น บูรณะวิหารที่ชำรุดลงในเวลานั้น 

4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง 

พระสงฆ์ 

  • ทบทวนพระธรรมวินัย
  • ประพฤติปฎิบัติอยู่กับพระเถระ
  • เทศนาธรรมแก่ญาติโยม ที่เข้าวัดรักษาอุโบสถศีล (ศีล 8)

ฆราวาส

  • ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล
  • สวดมนต์ ฟังธรรม 
  • เจริญภาวนา ตลอดพรรษา 
  • ถวายผ้าอาบน้ำฝน หล่อเทียน 
  • ถวายเทียนพรรษา

การหล่อเทียนและถวายเทียนพรรษา

การหล่อเทียนเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาลสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกำหนดจัดพิธีหล่อเทียน ขึ้นในเดือน 8 ของทุกปีก่อนเข้าพรรษา

สำหรับมูลเหตุที่ต้องหล่อเทียน ในแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือ "วันเข้าพรรษา" ข้อมูลจาก กรมการศาสนา อธิบายว่า พระภิกษุสงฆ์ต้องอธิฐานอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอด 3 เดือน ในฤดูฝนจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ "วันออกพรรษา" 

พระภิกษุในสมัยนั้นต้องจุดเทียนเพื่อเป็นแสงสว่างในการศึกษาพระธรรมวินัย และทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้าค่ำ จึงมีความจำเป็นต้องใช้เทียนไว้ สำหรับจุดบูชาตลอดพรรษา พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ ได้จุดบูชา

จึงเรียกเทียนที่หล่อขึ้นนี้ว่า "เทียนพรรษา" หรือ "เทียนจำนำพรรษา"

การถวายเทียนพรรษา 

เมื่อหล่อเทียนแล้วในวันรุ่งขึ้น จะมีการจัดขบวนแห่ ที่เรียกว่า "แห่เทียนพรรษา" เพื่อนำไปถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่ง ปัจจุบันผู้มีจิตศรัทธาได้เปลี่ยนมาถวาย เช่น หลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีการถวายเทียนพรรษากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นประเพณีที่ดีงามสมควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้ช่วยกันรักษาประเพณีนี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป

คำถวายเทียนพรรษา

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 จบ)

ยัคเฆ ภันเต, สังโฆ ปะฏิชานาตุ, มะยัง ภันเต, เอตัง ปะทีปะยุคัง, สะปะริวารัง, เตมาสัง, พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ, อิมัสสะหมิงอะโปสะถาคาเร

นิยยาเทมะ, สาธุ โน ภันเต, อะยัง เตมาสัง, พุทธัสสะ, ปูชะนัตถายะ, ปะทีปะยุคัสสะ, ทานัสสะ

อานิสังโส, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุอาทีนัญจะ, ปิยะชะนานัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ อุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่ เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ

อานิสงส์ของการหล่อเทียน และถวายเทียน 

การถวายเทียนพรรษาเป็นประเพณีที่ทำสืบทอดมาช้านานเมื่อถึงฤดู "เข้าพรรษา" ผู้ถวายย่อมได้รับอานิสงส์ คือ

  • ทำให้เกิดปัญญาดี เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน
  • เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
  • เกิดธรรมจักษุ คือ ปัญญารู้แจ้งเห็นธรรม

นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ไทยอีมาก เช่น ประเพณีการถวาย "ผ้าอาบน้ำฝน" หรือ "ผ้าวัสสิกสาฏก" แก่พระสงฆ์ก่อนเข้าพรรษา เพื่อให้พระสงฆ์นำไปใช้สรงน้ำฝนในพรรษา

ซึ่งจัดเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมามีเพียงปีละครั้งก่อนเข้าพรรษา คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 7 เป็นต้อนไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 โดยจะเลือกช่วงเวลาไหน วันใด ก็ได้ในช่วงเวลานี้

พิธีการและขั้นตอนการถวายผ้าอาบน้ำฝน 

1.เมื่อถึงวันกำหนดแล้ว พึงประชุมพร้อมกันตามสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ จะเป็นพระอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ นำผ้าอาบน้ำฝน 1 ผู้นำและของถวายอย่างอื่นเป็นบริวาร เช่น ร่ม พุ่มเทียน ไม้ขีด สบู่ ยาสีฟัน กระดาษชำระ ฯลฯ

2. เมื่อพระสงฆ์ลงประชุมเรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นหัวหน้ากล่าวคำถวาย

3. เมื่อกล่าวคำถวายเสร็จแล้ว เจ้าของผ้าประเคนผ้าแก่พระภิกษุผู้จับได้ฉลากของตนเป็นคน ๆ ต่อไป

4.เสร็จการประเมินแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา ทายกกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว

เรื่องเล่าสมัยพุทธกาล "ถวายผ้าอาบน้ำฝน"

ครั้งหนึ่ง นางวิสาขามหาอุบาสิกาใช้ให้หญิงรับใช้ (นางทาสี) ไปพระวิหารเชตวันเพื่อนิมนต์พระภิกษุไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ในวันนั้นมีฝนตกหนัก เมื่อหญิงรับใช้ไปถึงวัด เห็นพระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำอยู่เกิดเข้าใจผิดว่าเป็นพวกชีเปลือย จึงกลับมาบอกนางวิสาขา ว่าในวัดไม่มีพระภิกษุเลย มีแต่พวกชีเปลือยกำลังอาน้ำฝนอยู่ นางรู้ได้ทันทีว่านั่นไม่ใช่ชีเปลือยตามที่หญิงรับใช้เข้าใจ แต่เป็นพระภิกษุที่เปลือยกายอาบน้ำฝนอยู่ 

ดังนั้น หลังจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉัน ภัตตาหารแล้ว นางวิสาขาจึงเข้าไปกราบทูลขอพระพุทธเจ้าเพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุและพระภิกษุณีเป็นประจำ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฎิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

อานิสงส์ในการถวายผ้าอาบน้ำฝน

สำหรับอานิสงส์ ผู้ที่ถวายผ้าอาบน้ำฝน จะได้รับอานิสงส์เหมือนการถวายผ้าอื่น ๆ ตามนัยที่พระอรรถกจารย์กล่าวไว้ คือ

  • ทำให้เป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใสสวยงาม
  • ไม่มีโรคภัย ไข้เจ็บ 
  • มีความสะอาดผ่องใสทั้งกายและใจ

อ้างอิงข้อมูล กรมการศาสนา, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

อ่านข่าว : 

วันอาสาฬหบูชา เตรียม "บทสวดเวียนเทียน" สวดบทไหน - ต้องใช้เครื่องบูชาอะไรบ้าง

อัปเดตครึ่งปีหลัง 2567 เช็กวันหยุดราชการ ธนาคาร - เอกชน และ วันหยุดยาว

ตักบาตรเที่ยงคืนในวัน "เป็งปุ๊ด" กับอรหันต์องค์สุดท้าย "พระอุปคุต"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง