ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดข้อมูลใหม่ พิษกัญชา หลัง สายเขียวสะท้อน "คุณ-มากกว่าโทษ"

อาชญากรรม
15 ก.ค. 67
14:48
1,615
Logo Thai PBS
เปิดข้อมูลใหม่ พิษกัญชา หลัง สายเขียวสะท้อน "คุณ-มากกว่าโทษ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ท่ามกลางข้อถกเถียง ผลกระทบจากการใช้กัญชา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย หรือทางการแพทย์ และการใช้เพื่อสันทนาการ แม้ กัญชา จะกลับคืนสู่บัญชียาเสพติดประเภท 5 แล้ว และจะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2568

แต่ ประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และ อัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ยังคงยืนกราน ข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันสองฝ่าย เพื่อศึกษาวิจัยประเด็นสำคัญ 4 มิติ เกี่ยวกับปัญหากัญชา ระหว่างรัฐและเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย คือ กัญชา มีผลร้ายต่อร่างกายอย่างไร, กัญชามีผลร้ายต่อสังคมอย่างไร, คุณสมบัติในการรักษาโรคและดูแลสุขภาพ, กัญชา ทำลายสมองเด็กและก่อเกิดจิตเวช, เมื่อเปรียบเทียบกับบุหรี่และเหล้า หรือไม่

ทั้งสองคน ประกาศอดอาหารประท้วง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา และในช่วงสายวันนี้ ( 15 ก.ค.67) ประสิทธิชัย โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว "เพื่อนผม กำลังจะหมดแรง " พร้อมภาพ อัครเดช นั่งอยู่บนรถเข็นอยู่ในโรงพยาบาลราชวิถี

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค.เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชน ต้านภัยยาเสพติด จำนวน 70 คน อาทิ นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, นายนิยม เติมศรีสุข อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส. และ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ,นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส. , ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ ,ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada ,รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และ ผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย ฯล ฯ

นอกจากนี้ยังมีการทำจดหมายเปิดผนึกแนบท้ายถึงประธานและบอร์ดยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยระบุว่า เป็นข้อมูลใหม่ สะท้อนปัญหาจากการปลดกัญชาเสรี เพื่อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับผลกระทบด้านลบ จากการปลดกัญชาเสรี และยินดีให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวระบุ ข้อมูลว่า จำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในรายเดือนที่มารับการรักษาด้วยอาการเป็นพิษจากกัญชา ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันทันที หลังปลดกัญชาเสรี และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6-7 เท่า จำนวนผู้ป่วยนอก ที่มารับการรักษาด้วยอาการเป็นพิษจากกัญชา (cannabis poison) เพิ่มจาก 52 ราย/เดือน ในเดือนพ.ค. 2565 เป็น 342 ราย/เดือน ในเดือน ก.พ. 2566 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 6.6 เท่าหลังปลดกัญชาเสรี จำนวนผู้ป่วยในรักษาด้วยอาการเดียวกันเพิ่มจาก 18 ราย/เดือน ในเดือน พ.ค. 2565 เป็น 132 ราย/เดือน ในเดือน ก.พ. 2566 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 7.3 เท่าหลังปลดกัญชาเสรี

ส่วนจำนวนผู้ป่วยเสพติดกัญชาที่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อปี เพิ่มขึ้น 2-5 เท่า และ จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ด้วยอาการโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น 3-5 เท่า จำนวนผู้ป่วยนอกที่รับการรักษาด้วยอาการติดกัญชาต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 16,643 รายในปี 2562 เป็น 32,634 รายในปี 2566 กล่าวคือ เพิ่มขึ้น 2 เท่า จำนวนผู้ป่วยในที่รับการรักษา ด้วยอาการติดกัญชาต่อปีเพิ่มจาก 1,137 ราย ในปี 2562 เป็น 5,924 ราย ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่า

ขณะที่ จำนวนผู้ป่วยนอกที่รับการรักษาด้วยอาการโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นจาก 6,585 ในปี 2562 เป็น 20,502 รายในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 3 เท่า) และจำนวนผู้ป่วยในที่รับการรักษาด้วยอาการโรคจิตจากการใช้กัญชาเพิ่มจาก 742 รายในปี 2562 เป็น 3,989 รายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 5 เท่า)

จำนวนผู้ป่วยต่อเดือน ที่เข้ารับการรักษา ด้วยอาการที่เกิดจากการใช้กัญชาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดท่องเที่ยวจังหวัดหนึ่ง เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่า หลังปลดกัญชาเสรีสองปี จำนวนผู้ป่วยเพิ่มจาก 4 รายในเดือน มิ.ย. 2565 (เดือนที่ปลดกัญชาเสรี) เป็น 87 รายในเดือน เม.ย. 2567 (หนึ่งเดือนก่อนครบสองปีปลดกัญชาเสรี) โดยเป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าปัญหานโยบายกัญชาเสรีอาจส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยในอนาคต

นอกจากนี้ยังพบว่า ต้นทุนการรักษาผู้ป่วยก่อนปลดกัญชา ปี 2562-2564 คิดเป็น ค่าใช้จ่ายปีละ 3,200-3,800 ล้านบาท แต่เมื่อปลดล็อกกัญชาปี 2565-2566 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 15,000-21,000 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 5 เท่า 

เอกสารของเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการฯ ชี้ว่า การเปรียบเทียบว่า ปัญหาจากการใช้กัญชาในวันนี้ น้อยกว่าปัญหาจากการใช้บุหรี่เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัญหาจากการปลดกัญชาเสรีจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

หากยังคงปล่อยให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด เช่นเดียวกับปัญหาจากการสูบบุหรี่ในประเทศสหรัฐ อเมริกาที่พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลา 20-30 ปี หลังจากที่บุหรี่ถูกสูบอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเวลาของการสะสมผลร้ายจากการสูบบุหรี่ในร่างกาย

จากข้อมูลผลกระทบด้านลบเชิงประจักษ์ใหม่ๆเหล่านี้ ที่บ่งชี้ว่าหลังจากปลดกัญชาเสรี มีผู้ป่วยจากการใช้กัญชามากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อการท่องเที่ยวของประเทศ

ดังนั้นประเทศไทยจะต้องนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งจะทำให้หยุดการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ทันที โดยยังสามารถใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ในระหว่างที่รอการออกแบบนโยบายและกฎหมายกัญชาที่ต้องใช้เวลาดำเนินการอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากสรุปข้อมูลใหม่ที่สะท้อนปัญหาของนโยบายปลดกัญชาเสรี พบว่า หลังปลดกัญชาเสรี มีผู้ป่วยเข้ารับรักษาอาการเป็นพิษจากกัญชาเพิ่มขึ้น 6-7 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยเสพติดกัญชา เพิ่มขึ้น 2-5 เท่า มีผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้กัญชา เพิ่มขึ้น 3-5 เท่า

และพบผู้ป่วยจากการใช้กัญชาในจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่า และมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ป่วยจากการใช้กัญชา เพิ่มขึ้น 5 เท่า

อ่านข่าว : Marijuana ในเงื้อมมือรัฐ คืน "กัญชา" กลับสู่บัญชียาเสพติด

เครือข่ายฯ ค้านนำกัญชาเป็นยาเสพติด ปักหลักหน้าทำเนียบฯ

เปิดเกมงัดข้อ เอา(ฐานเสียง)คืน ? ส่ง "กัญชา" กลับบัญชียาเสพติด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง