วันนี้ (14 ก.ค.2567) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า หลังจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ปิดการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี นครราชสีมา ในการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม) เมื่อ 14 มี.ค.2566 ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ให้ใช้แผนที่ ONE MAP ปรับปรุงการสำรวจแนวเขตป่าทับลานปี 2543
โชคดี ปรโลกานนท์ ภาพจากเฟซบุ๊ก : Loongchoke Unclechoke Garden
อ่านข่าว : สคทช.ลงพื้นที่ฟังความเห็นชาวบ้าน หลังดรามา SAVE ทับลาน
"ไม่เห็นด้วย" เพิกถอน "ป่าทับลาน" กว่า 9 แสนคน
โดยใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์จบลงแล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.คที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ภาพรวมระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.- 12 ก.ค. พบมีประชาชนแสดงความคิดเห็น 947,107 คน แบ่งเป็น มีผู้เห็นด้วย 45,215 คน และ มีผู้ไม่เห็นด้วยถึง 901,892 คน
ซึ่งหลังจากนี้กรมอุทยานฯจะรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ เสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิจารณาไม่เกิน 30 วัน คาดว่าเร็วสุดประมาณต้นเดือน ส.ค.นี้
อ่านข่าว : สำรวจ "หัวใจป่าทับลาน" หลังทวงคืนที่ดิน 400 ไร่
ชงบอร์ดอุทยานฯ สรุปเข้า สคทช.อีกรอบ
เมื่อสรุปรวบรวมข้อมูลดังกล่าวแล้วเสร็จบอร์ดอุทยานแห่งชาติจะเสนอเรื่องทั้งหมดนี้ไปให้คณะกรรมการน์โยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานพิจารณาจะดำเนินการอย่างไรเช่น จะเดินหน้าต่อ หรือจะทบทวน เพราะ สคทช. เป็นผู้เสนอแนวทางดังกล่าว จากนั้นจะส่งผลสรุปทั้งหมดให้ ครม.รับทราบและพิจารณา
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า สคทช. ต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา เพราะในพื้นที่นี้มีประชาชนถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา 8 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย
ส่วนบอร์ดอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นชุดรักษาการณ์นั้นยังคงทำหน้าที่พิจารณาวาระนี้ได้ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งชุดใหม่มาแทน
อ่านข่าว : "ธรรมนัส" โต้ "ชัยวัฒน์" ปมออก ส.ป.ก.เอื้อนายทุน
"ลุงโชค" โพสต์ขอโทษชาว ต.ไทยสามัคคี ปลูกป่าแต่ถูกทวงคืน
นายโชคดี ปรโลกานนท์ หรือ "ลุงโชค" อดีตแกนนำชาวบ้านปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 10,000 ไร่ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Loongchoke Unclechoke Garden" หลังทราบผลโหวต ระบุว่า
เมื่อปี พ.ศ.2540 ผมคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการทำให้ชุมชนไทยสามัคคีเปลี่ยนไป จากสังคมเกษตรสู่สังคมเมือง มีการปกครองและเศรษฐกิจชุมชนที่ดีขึ้น คนรุ่นเก่าก็ล้มหายตายจาก คนหนุ่มสาวยุคนั้นก็มีครอบครัวมีลูกมีหลานมากมาย บางคนก็อพยพออกไปด้วยภาวะจำยอม ซึ่งอธิบายให้คนอื่นฟังคงไม่เข้าใจ ดีไม่ดีเขาก็ว่าเรารักษาสมบัติของพ่อแม่ไปไม่ได้อีก
นายโชคดี ปรโลกานนท์ ภาพจากเฟซบุ๊ก : Loongchoke Unclechoke Garden
ผมต้องขอโทษพ่อแม่พี่น้อง ต.ไทยสามัคคีทุกท่าน ที่ผมคิดเองว่า ถ้าเราช่วยกันฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์ ป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศกลับฟื้นคืนมา จะส่งผลให้ชุมชนดีขึ้น ผมและเจ้าหน้าที่โครงการได้เสริมกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ท่านใช้ทรัพยากรให้น้อยลง ให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
มาถึงวันนี้ผมรู้สึกผิดมากที่คิดอย่างนั้น และไม่เคยคาดคิดว่า สิ่งที่พวกเราทำในวันนั้น จะกลับมาทิ่มแทงตัวเราเอง
ลุงโชค ระบุอีกว่า มีคนหลั่งไหลมาเที่ยวที่นี่มากมาย บางคนมาเช้าเย็นกลับ บางคนก็อยากจะมาอยู่กับเรา บางคนก็ซื้อที่ดินจากพ่อแม่ของเรา พอชุมชนใหญ่ขึ้นรัฐก็ไม่ได้ควบคุมผู้มาใหม่เหล่านั้น ปล่อยปละละเลยและมีม่านบังตา ปล่อยให้มีการพัฒนาที่ดินให้เหมือนบ้านผู้มีอันจะกิน หรือบางคนก็เปิดบริการให้คนมาพัก ซึ่งตอนก่อสร้างเขาไม่ได้สร้างวันเดียวแน่นอน อิฐหินปูนทรายก็ไม่ได้ใส่กระเป๋ากางเกงมา แต่ก็แปลกเจ้าหน้าที่รัฐกลับมองไม่เห็น
เมื่อคนมาพักก็ส่งเสียงดังทุกเสาร์-อาทิตย์ สร้างความรบกวนพวกเราก็ไม่เคยบ่น แต่ก็มีบางคนว่ารบกวนสัตว์ป่า และที่สำคัญคนที่มาพักก็ไม่ใช่คนวังน้ำเขียว เราอยากจะถามเหมือนกันว่า
ภาพจากเฟซบุ๊ก : Loongchoke Unclechoke Garden
ถ้าไม่มีคนมาพัก ผู้ที่มาอยู่ใหม่เขาก็คงไม่สร้างรีสอร์ตที่พักหรอก พวกเราอยากจะรณรงค์เหมือนกัน ช่วยพักคือช่วยสร้าง แต่เราก็เป็นห่วงเพื่อนบ้านเรา ที่เขาพอจะมีรายได้จากการขายเห็ด ขายผักอินทรีย์ และขายผลไม้ ซึ่งปัญหาทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วเกิดมาจากผม และชุมชนช่วยกันฟื้นฟูป่า ผมต้องขอโทษพ่อแม่พี่น้องและสังคมอีกครั้ง ที่ผมได้กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
อ่านข่าว : ทดสอบรถไฟกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ เริ่มบริการ 19 ก.ค.นี้
“ค็อบบี้ ไมนู” แข้งดาวรุ่ง "แมนฯยู" สู่ ตัวทีเด็ด ทีมชาติอังกฤษ