สำรวจ "หัวใจป่าทับลาน" หลังทวงคืนที่ดิน 400 ไร่

สิ่งแวดล้อม
12 ก.ค. 67
18:57
3,911
Logo Thai PBS
สำรวจ "หัวใจป่าทับลาน" หลังทวงคืนที่ดิน 400 ไร่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจแปลงที่ดิน 400 ไร่ ของกำนันชื่อดังคนหนึ่งใน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ที่สิ้นสุดคดีบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี 2554 บนเขาทับพริก ซึ่งอยู่ห่างเกือบ 4 กิโลเมตร จากถนนทางหลวงหมายเลข 304 เข้าสู่บ้านทุ่งแฝก ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

การเดินทางเข้าสู่พิกัดเขาทับพริก ค่อนข้างยากลำบาก รถยนต์เก๋งไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้ เพราะสภาพถนนลำลอง ผ่านเส้นทางดินผสมหินทรายขรุขระ บางจุดค่อนข้างลื่นชัน มีก้อนหินขนาดทั้งเล็กและใหญ่ตลอดเส้นทาง

ระหว่างทางมีพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และพื้นที่ภายใต้มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานฯ ซึ่งผ่อนปรนให้ทำเกษตรได้ ส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง ต้นยูคาลิปตัส และยางพารา โดยบางจุดสร้างกระท่อมขนาดเล็กเป็นที่พักให้กับคนที่เข้ามากรีดยาง นอกจากนี้ ยังพบมูลช้างป่าเป็นระยะ ๆ และมีต้นไม้หักบางจุด สะท้อนว่าพื้นที่ยังเป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่า

ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที จึงถึงพิกัดแปลงที่เคยต้องคดี พื้นที่โล่งสุดทางเป็นริมหน้าผาล้อมรอบด้วยแนวเขาสีเขียว มองเห็นป่ายูคาลิปตัสในพื้นที่มาตรา 64 และพื้นที่สวนป่า ถัดออกไปเป็น Corridor สะพานเชื่อมป่าทับลาน-เขาใหญ่ ผืนป่ามรดกโลก และถนนเส้น 304

สภาพโดยรอบมีหอส่องไฟสูง 25 เมตร ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่อายุมากกว่า 50 ปี ต้นกระบก ต้นงิ้ว และทุ่งหญ้าระบัดที่เพิ่งผ่านฝน เจ้าหน้าที่ใช้จีพีเอสวัดพิกัดในทีมข่าวดู เพื่อยืนยันว่า แปลงที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าทับลาน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นไร่มันสำปะหลัง ต่อมา 5-6 ปีที่แล้ว ถูกปล่อยให้ฟื้นสภาพกลายเป็นป่าหญ้าและต้นไม้ใหญ่

รู้สึกเสียดาย เพราะถัดจากจุดนี้จะเป็นป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ที่เราขึ้นมาระหว่างทางจะเห็นร่องรอยการหากินของกระทิง กวาง ช้าง

อ่านข่าว : ความในใจ 1 ใน 23 คนทับลาน กับ "ข้อหาบุกรุกป่า"

นายวีระชาติ แก้วบุตรดี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติทับลาน มองว่า พื้นที่จุดนี้ไม่เหมาะสมที่จะทำการเกษตร เพราะมีสัตว์เข้ามาหากินและอยู่อาศัย อาจได้รับผลกระทบพืชผลเสียหาย และเสี่ยงอันตรายจากสัตว์ป่าได้ ซึ่งจุดนี้จะค่อย ๆ ฟื้นคืนสภาพป่า และขยายพื้นที่ออกไปด้านข้าง

ส่วนพื้นที่วังน้ำเขียว ส่วนตัวมองว่าหากเป็นไปตามเงื่อนไข และเป็นชาวบ้านจริง ๆ ที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ หรือเป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ขยับออกมาจากป่านั้น ก็ควรให้เขาอยู่ต่อได้ แต่หากซื้อขายเปลี่ยนมือ หรือเปลี่ยนรูปแบบการทำประโยชน์นั้น ก็ไม่เห็นด้วย เพราะรูปแบบจะเปลี่ยนไปจากการทำเกษตร เป็นบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ต

ถามว่าสวยไหม มันก็สวย แต่ไม่ใช่ป่า ไม่ใช่พื้นที่ทำรีสอร์ต เพราะด้านบนก็เป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลมาฝั่งนาดี ปราจีนบุรี มาจากตรงนั้น

ขณะที่การแก้ปัญหาและรับฟังความเห็นเพื่อเพิกถอนพื้นที่บางส่วนนั้น วีระชาติ ขอตอบในฐานะคนที่ทำงานในพื้นที่ ว่า หากสุดท้ายผลประโยชน์ตกอยู่กับชาวบ้านจริง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ก็ทำได้ แต่หากไปอยู่ในมือนายทุน หรือคนที่เพิ่งมาซื้อก็ไม่สมควร ต้องแยกออกจากกันให้ชัด ไม่ใช่เหมาเข่งทั้งหมด

ส่วนการปักป้ายประกาศขายที่ดิน ก็ยังเห็นบ้างบางแปลงทางฝั่ง อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ขณะที่บริเวณ ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี ราคาการขายที่ดินต่อไร่ คาดว่าประมาณ 200,000-300,000 บาท ซึ่งไม่มีเอกสารใด เป็นที่ดินมือเปล่า เพราะในมาตรา 64 จะเป็นชื่อแปลงตามผู้แจ้งสิทธิ ถึงจะเปลี่ยนไปแล้วก็ใช้ชื่อเดิม เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไข แต่เชื่อว่ามีเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด

อ่านข่าว : ถอย 2 เสียงไม่ร่วมรัฐบาล "ดำรงค์" ค้านเอื้อโฉนดทองคำทับลาน

ยกเลิกมติ ครม.14 มี.ค.2566 จึงไม่ใช่ทางออก

"คนที่ถูกดำเนินคดี เมื่อสิ้นสุดคดีความต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และบริวารออกนอกพื้นที่ แต่ถ้ารัฐบาลมีแนวทางใหม่กำหนดให้คนอยู่ต่อ ต้องมีแนวทางที่จบเพราะปัญหายืดเยื้อมานาน การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 14 มี.ค.2566 จึงไม่ใช่ทางออก"

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน บอกถึงปัญหาการเฉือนป่าทับลาน 265,266 ไร่ ซึ่งจุดกระแสให้คนทั้งประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกมาแสดงความเห็นในวงกว้าง โดยเฉพาะการเรียกร้องจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว และฝั่ง อ.ครบุรี และ อ.เสิงสาง ที่ขอให้ตัดพื้นที่ชุมชนตัวเองออกจากแนวเขตอุทยาน

ประวัติศาสตร์ ยืนยันว่า ภาพรวมการแก้ปัญาที่ดิน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อนุญาตให้ประชาชนในพื้นที่อยู่อาศัยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 มิ.ย.2541 และให้สำรวจตัวเลขและทำแนวเขตไว้ในปี 2543 ภายใต้เงื่อนไขห้ามเปลี่ยนมือ ห้ามก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างหรืออุปกรณ์อื่นใดที่ไม่ได้รับอนุญาต

"ปี 2543 ก็ได้สำรวจแนวเขตเพื่อป้องกันบุกรุกเพิ่ม แต่คนกลับเข้าใจว่าเป็นแนวเขตใหม่ทับลาน ซึ่งแน่นอนว่าชาวบ้านไม่ได้มีเอกสารสิทธิ เหมือน ส.ป.ก แต่กลับอ้างว่าอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน"

รู้จัก ม.64 ที่ชาวบ้านกังวลเรื่องสิทธิในป่า

ขณะเดียวกันกรมอุทยานฯ มีมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาใช้แก้ปัญหาที่ดินให้กับชาวบ้านในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งผลสำรวจการครอบครองที่ดินป่าทับลาน พบตัวเลขทั้งหมด 97 หมู่บ้าน 20,294 คน 27,951 แปลงรวมพื้นที่ 224,539 ไร่

ในจำนวนนี้ เป็นพื้นที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี รวม 11 หมู่บ้าน 1,499 คน 2,025 แปลง พื้นที่ 20,528 ไร่ ส่วนจ.นครราชสีมา จำนวน 86 หมู่บ้าน 18,795 คน 25,926 แปลงพื้นที่ 204,010 ไร่

บ้านพัก-รีสอร์ตติดคดีฟ้องศาลปกครอง 99 แห่ง

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน บอกว่า อีกส่วนคือกลุ่มบ้านพัก และรีสอร์ตที่บุกรุกป่าทับลาน รวม 552 คดีพื้นที่ 12,000 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 2,363 รายการรื้อถอนแล้ว 133 แห่ง และอยู่ในระหว่างฟ้องศาลปกครอง 99 แห่ง ในจำนวนนี้บางแปลงคดีรายใหญ่สิ้นสุดแล้วเช่น แปลง 400 ไร่ เป็นของกำนันดัง ซึ่งได้อยู่ระหว่างเข้าฟื้นฟูพื้นที่แปลงนี้

นายประวัติศาสตร์ บอกอีกว่า ขณะที่อีกแปลงที่เป็นข่าวมีนักการเมืองไปจัดสัมมนา ทั้งที่อยู่ในคดี ตอนนี้กรมอุทยานฯ ส่งค้านอัยการหลังจากมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ไปให้ข้อมูลว่าเป็นที่ดิน ส.ป.ก. และทำหนังสือไปยังอัยการอีกครั้ง

"ตอนนี้สำรวจตาม ม.64 แยกคนที่ถูกต้องคัดกลุ่มคนที่ผิดกฎหมาย แบ่งแค่พื้นที่ทับซ้อน ส.ป.ก. 58,000 ไร่ ถ้าโดยหลักการของ วันแมปเดิมควรจะจบเพราะต้องการให้เป็น ส.ป.ก.แต่แรก ส่วนกลุ่ม 2 และ 3 ต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน"

นายประวัติศาสตร์ ยอมรับว่า เหตุผลที่การแก้ชุมชนในป่าทับลานยืดเยื้อมานาน และชาวบ้านกังวลต่อมาตรา 64 ซึ่งออกภายใต้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2562 แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ

"บางคนมีที่ดินเยอะถ้าตรงนี้กำหนดไม่เกิน 20 ไร่ ก็น้อยกว่า ส.ป.ก.อาจถึง 50 ไร่ และข้อกำหนดเยอะ หรือข้อห้ามทำผิดอื่นๆ ห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือหรือแม้แต่การนำไปค้ำประกัน ห้ามก่อสร้างเพิ่ม หรือต้องคุมว่าถ้าเป็นเกษตรกรห้ามเปลี่ยนอาชีพ ตรงนี้ยังไม่ชัด"

เบื้องต้น กรมอุทยานฯ รายงานบทสรุปของการแสดงความเห็นผ่านทางเวทีวันที่ 4-5 ก.ค.ที่ผ่านมาในฝั่งปราจีนบุรี และนครราชสีมา เรื่องเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ การประชุมแสดงความคิดเห็น วันที่ 4 ก.ค.นี้ เห็นด้วย 737 คน ไม่เห็นด้วย 66 คน ส่วนการรับฟังออนไลน์ เห็นด้วย 43,303 คน ไม่เห็นด้วย 879,595 คน ส่วนการเปิดรับฟังความเห็นทางออนไลน์จะสิ้นสุดเวลาเที่ยงคืนของวันนี้ (12 ก.ค.)

อ่านข่าว : 

ซัดนายกฯ ลงพื้นที่ถี่แต่ไร้ผลงาน ปัญหาไร้เอกภาพใน “เพื่อไทย” ลามถึง # SAVE ทับลาน

เปิดเบื้องลึก "ปัญหาทับลาน" อุทยานฯ เสียป่า หรือใครได้เป็นเจ้าของที่ดิน?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง