ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปิดคดี "ลุงเปี๊ยก" ประเดิม พ.ร.บ.อุ้มหาย สั่งฟ้อง 8 ตำรวจทำทรมาน

อาชญากรรม
12 ก.ค. 67
12:59
6,591
Logo Thai PBS
ปิดคดี "ลุงเปี๊ยก" ประเดิม พ.ร.บ.อุ้มหาย สั่งฟ้อง 8 ตำรวจทำทรมาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

คดี "ลุงเปี๊ยก" ถือเป็นคดีแรกของประเทศไทย หลัง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 "ลุงเปี๊ยก" หรือ นายปัญญา คงแสนคำ ถูกตำรวจ สภ.อรัญประเทศ บังคับทรมานให้รับสารภาพ ในคดีที่ "ป้าบัวผัน" หรือ นางบัวผัน ตันสุ ถูกกลุ่มเยาวชนรุมทำร้ายจนเสียชีวิต และดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบตามกฎหมาย

"ลุงเปี๊ยก" หรือ นายปัญญา เกือบกลายเป็นแพะในคดีฆาตกรรม "ป้าบัวผัน" เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567 หากทีมข่าวช่อง 8 ซึ่งลงไปทำข่าวในขณะนั้น ไม่พบข้อพิรุธในหลายประเด็น หลังการเข้ามอบตัวกับตำรวจ โดยรับสารภาพว่า เป็นผู้ทำร้ายร่างกายภรรยา ด้วยการนำเก้าอี้ฟาดศีรษะจนตาย แล้วเอาศพไปทิ้งบ่อน้ำ ซึ่งในวันทำแผนประกอบการรับสารภาพ แม้ "ลุงเปี๊ยก" จะให้การวกไปวนมา แต่ตำรวจได้ส่งดำเนินคดีไปยังศาลจังหวัดสระแก้ว และนำตัวไปฝากขัง

แต่สุดท้ายกลายเป็นคดีพลิก !!! เมื่อมีการพบหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ไล่เลียงตามจุดต่าง ๆ ในวันเกิดเหตุ ตั้งแต่วันที่ 11-12 ม.ค.ไม่พบภาพของลุงเปี๊ยกปรากฏ แต่สิ่งที่เป็นหลักฐานในกล้อง คือ ภาพกลุ่มวัยรุ่น 5 คน ช่วยกันรุมทำร้ายป้าบัวผัน จึงมีการนำหลักฐานไปมอบส่งมอบให้ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ เพื่อจับกุมผู้ต้องหาตัวจริง ขณะที่ลุงเปี๊ยกถูกปล่อยตัวออกมา แล้ว "ความแตก" ว่า ลุงเปี๊ยก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับให้รับสารภาพ เอาถุงดำคลุมศีรษะ และบังคับให้ถอดเสื้อ โดยมีการนำตัวไปเข้าห้องสอบสวนที่โรงพักอรัญประเทศ พร้อมเปิดแอร์ให้เย็น ๆ

และที่พีคไปกว่านั้น คือ เมื่อคดีได้รับความสนใจจากสังคม มีการขยายผลสืบสวนสอบสวน ทั้งจากภาพในกล้องวงจรปิด ความจริงก็จนมุม เมื่อพบว่ากลุ่มวัยรุ่น 2 ใน 5 คนที่ร่วมก่อเหตุ ทำร้ายป้าบัวผัน จนตาย มีพ่อเป็นตำรวจ ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และต่อมาผลการตรวจสอบพบว่ามีตำรวจ 8 นาย สภ.อรัญประเทศ ประกอบด้วย

พ.ต.อ.พิเชษฐ์ ศรีจันทร์ตรา ผกก.สภ.อรัญประเทศ
พ.ต.ท.พิชิต วัฒโน รอง ผกก.สส.สภ.อรัญประเทศ
พ.ต.ท.นิติธร พิมพ์คำ สว.สส.สภ.อรัญประเทศ
ร.ต.อ.พงศภัค พลแสน รอง สว.สส.สภ.อรัญประเทศ
ร.ต.อ.พชร บุญอินราทากูร รอง สว.สส.สภ.อรัญประเทศ
ด.ต.ภิเศก พวงมาลีประดับ หรือดาบเศก ผบ.หมู่ สส.สภ.อรัญประเทศ
จ.ส.ต.ทวีศักดิ์ พูนสะสมทรัพย์ ผบ.หมู่ สส.สภ.อรัญประเทศ
ส.ต.อ.ชัยศิริ สุรโฆษิต ผบ.หมู่ สส.สภ.อรัญประเทศ

โดยก่อนหน้านี้ มีการแจ้งข้อกล่าวหา ตำรวจทั้ง 8 ราย เข้าข่ายกระทำความผิดวินัยตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และมี 1 ใน 2 นาย น่าเชื่อว่า เข้าข่ายกระทำผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา โดยตำรวจภูธรภาค 2 ได้ส่งสำนวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว สืบสวนสอบสวนและรวบรวบพยานหลักฐานเพิ่มเติม

ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษที่ 9/2567 เนื่องจากเข้าข่ายตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ในมาตรา 31 และมีการตั้งคณะทำงานและสอบสวนร่วมกับอัยการ โดยใช้เวลาในการทำคดีนานกว่า 5 เดือน

จึงสรุปสำนวนส่งฟ้อง ตำรวจทั้ง 8 นาย ใน 4 ข้อกล่าวหา คือ ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติ หรือ ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน, ร่วมกันกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, ร่วมกันกระทำให้บุคคลสูญหาย ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจนั้น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือ กักขังผู้อื่น หรือ กระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า คดีนี้ได้ข้อยุติแล้ว โดยคณะทำงานฯ ได้สรุปความเห็นทางคดี ก่อนส่งสำนวนคดีให้องค์คณะอัยการที่อัยการสูงสุด แต่งตั้ง พิจารณากลั่นกรอง เพื่อจะส่งสำนวนให้อธิบดีอัยการ สำนักงานปราบปรามการทุจริตภาค 2 จ.ระยอง ให้พิจารณาสั่งฟ้องต่อไป โดยมีความเห็นว่าตำรวจทั้ง 8 นาย ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย พ.ศ.2565

"กลุ่มผู้ต้องหา มีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 คือ ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ เพราะตำรวจในชุดจับกุม ได้นำตัวลุงเปี๊ยกมาสอบสวน โดยไม่ได้แจ้งการจับกุมต่อกับพนักงานอัยการจังหวัดสระแก้ว และฝ่ายปกครองในพื้นที่ตั้งแต่แรก โดยอ้างว่าเป็นการเชิญตัวมาให้ข้อมูล แต่หลักฐานจากภาพวงจรปิดและการนำเสนอข่าวของสื่อนั้นขัดแย้งกับคำให้การของผู้ต้องหา เนื่องจากมีการใส่กุญแจมือลุงเปี๊ยก"

ตามหลักกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 22 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเชิญตัวผู้ต้องหามาสอบปากคำ ในหลักเกณฑ์ของคำว่า ควบคุมตัว จับกุม กักตัว จับตัว หรือทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จะต้องมีการแจ้งจับกุมตามขึ้นตอน ต่อพนักงานอัยการและฝ่ายปกครอง แต่สำหรับคดีที่เกิดขึ้น ตำรวจชุดจับกุมไม่ได้แจ้ง จึงถือว่า มีการกระทำความผิดกรรมแรกในมาตรา 157

ส่วนกรรมที่ 2 การกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง คือ "ลุงเปี๊ยก" คือ มีการใช้ถุงดำ มีการเปิดแอร์ให้หนาวเย็น โดยให้ลุงเปี๊ยกถอดเสื้อเพื่อจะได้มาซึ่งคำรับสารภาพ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 6 และมาตรา 7 ซึ่งระบุว่า โดยหลักการ การจับกุมตัว ไม่ว่าจะเป็นใครจับก็ตามจะต้องส่งพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย แต่กรณีนำตัวไปห้องสืบสวน โดยใช้เวลาทั้งคืน

นายวัชรินทร์ กล่าวว่า องค์คณะทำหน้าที่กำกับตรวจสอบคดีนี้ ได้ข้อยุติในคดีและมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 รายไปแล้ว ยืนยันตามหลักฐานเดิม และไม่มีผู้ต้องหาเพิ่มเติม แต่หากมีหน่วยงานใดที่ร่วมสอบสวน ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ ฝ่ายปกครองและดีเอสไอ ให้ความเห็นแย้ง ก็สามารถทำความเห็นส่งมาได้ หลังจากนี้ ก็คดีจะอยู่ในอำนาจของสำนักอัยการปราบปรามทุจริตภาค 2 ซึ่งอาจมีความเห็น ให้สอบพยานเพิ่มเติม หรือ เห็นว่า ไม่ผิด ก็สั่งไม่ฟ้องได้

สำหรับในคดี พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดนั้น พนักงานสอบสวนไม่ต้องส่งสำนวนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เป็นผู้ชี้มูลความผิด เพียงแค่แจ้งให้ ป.ป.ช.เพื่อทราบเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย มาตรา 31

นายวัชรินทร์ ย้ำว่า ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ เปิดโอกาส ฝ่ายผู้ต้องหายื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อชี้แจง มีการรวบรวมและตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งหมด ซึ่งมีพยานบุคคลกว่า 40 ปาก และพยานวัตถุอีกหลายอย่าง การสอบสวนทำด้วยความเป็นกลางและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ทุกคนปฏิเสธในการกระทำความผิด แต่ปฏิเสธต่างกันในบางจุด บางรายก็ปฏิเสธคล้ายกัน หรือออกไปอีกแนวหนึ่ง แต่ไม่ขอชี้ชัดว่า แต่ละคนให้การอย่างไร ไม่ขอลงในรายละเอียดเพราะอยู่ในสำนวนการสอบสวน ซึ่งเป็นแนวทางการต่อสู้ของผู้ต้องหา อย่างไรก็ตาม หลังจากที่องค์คณะเห็นชอบกับสำนวนการสอบสวนดังกล่าวแล้ว ก็จะส่งสำนวนให้กับสำนักงานอัยการปราบปราบการทุจริตภาค 2 ในปลายเดือน ก.ค.นี้

"ได้เข้าเยี่ยม ลุงเปี๊ยก ที่ รพ.ธัญลักษณ์ ล่าสุด พบว่า มีสติสัมปชัญญะปกติ ให้การได้ ยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ มีสภาพร่างกายที่ดี มีสภาพจิตใจที่ดี อ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้น แพทย์ผู้ดูแล ก็ยืนยันว่า ไม่ได้มีอาการแอลกอฮอล์ลิซึ่ม หรือติดสุราแต่อย่างใด"

แม้คดีนี้จะยังไม่ถึงที่สุด และศาลยังไม่มีคำพิพากษาลงมา ให้สันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดยังเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม แต่คดี "ลุงเปี๊ยก" ถือเป็นคดีแรกและครั้งแรกของการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ในประเทศไทย อย่างเต็มรูปแบบ ของคณะทำงานที่อัยการสูงสุด มีคำสั่งแต่งตั้งในรูปองค์คณะที่ประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง อัยการ ดีเอสไอ และตำรวจ

โดยให้ตรวจสอบคดีด้วยความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็น "ผู้ต้องหา" หรือ"จำเลย" หากพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่า การอุ้มหาย หรือซ้อมทรมาร เกิดจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องรับโทษทางคดีหนักกว่าปกติทั่วไป

อ่านข่าวอื่น :

ปิดล้อมพื้นที่ตามจับแก๊งค้ายาเสพติด ยิงตำรวจเสียชีวิต 1 เจ็บ 1

ปคบ.-อย. บุกจับแหล่งผลิตโบท็อกปลอม ยึดกลาง 26,000 ชิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง