หากยกที่ดินให้ ส.ป.ก.ไปใช้ประโยชน์และออกเป็นโฉนดทองคำ อาจเกิดการเปลี่ยนมือไปยังกลุ่มนายทุน นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล
ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย บอกถึงเหตุผลที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับนโยบายเฉือนป่าป่าทับลาน อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,266 ไร่
ภาพจำของ "ดำรงค์" ในช่วงปี 2554-2555 ถือเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง "ยุทธการทวงคืนผืนป่า" ด้วยการนำรถแบคโฮไล่ทุบรื้อถอนรีสอร์ตในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่คดีสิ้นสุดลงมากกว่า 20 แห่งในเขตวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ด้วยเหตุผลที่ว่ารีสอร์ตเหล่านี้สิ้นสุดคดีในชั้นศาลฎีกาแล้ว ถือเป็นความชอบธรรมในฐานะผู้บุกรุกป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน หนึ่งในป่าที่ถูกผนวกเป็นมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่
อดีตอธิบดีกรมอุทยาน บอกว่า หลังจากเห็นกระแสคัดค้านเฉือนป่าทับลาน ทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อกว่า 10 ปีก่อนที่มีความพยายามแก้ปัญหาการบุกรุกป่าทับลานจากกลุ่มทุนและนอมินี
หลังจากความพยายามในการแก้ปัญหาทำตามคำสั่งศาลให้รื้อถอน จึงต้องระดมกำลังจากทั่วประเทศ 123 ชุด ๆ ละ 6 คนๆ ละ 2 พื้นที่ กางแปลงตรวจสอบผู้บุกรุกทั้งหมด และตอนนี้คดีอยู่ในชั้นศาลบางส่วนก็ยังคัดค้านเรื่อยมา
ยกเว้นรีสอร์ตการ์มองเต้ ทางเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.มาให้การว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ในเขตส.ป.ก.ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่บริเวณนี้ไม่มีการปฏิรุปที่ดินและตอนนี้กรมอุทยานฯ ประท้วงถึงชั้นอัยการ
"รัฐบาลลุงตู่" ทิ้งทวนมติ ครม.เฉือนป่าทับลาน
ดำรงค์ บอกว่า จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ยึดคืนที่ดินป่า และพลิกการแก้ปัญหาด้วยการให้คนอยู่ในป่า จัดที่ดินทำกินแก้ให้ในป่า จึงนำมาสู่การแก้พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติปี 2562 โดยใช้มาตรา 64 และมาตรา 121 ของพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้ชาวบ้านในป่าก่อนประกาศเขตอุทยาน ป่าอนุรักษ์ ทำกินชั่วลูกชั่วหลานผ่อนผัน
กระทั่งมาถึงจุดพลิกอีกครั้ง ในช่วงการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในปี 2566 นัก การเมืองจาก 2 พรรคใหญ่แย่งชิงคะแนนเสียงด้วยการสัญญาว่าที่ดินทำกินแปลงทับลาน จนนำมาสู่ด้วยการออกมติคณะรัฐมตรี (ครม.) 14 มี.ค.2566
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งทวนก่อนการยุบสภา ไม่กี่วันทั้งที่มีวาระกว่า 80 ฉบับเข้า ครม.แต่กลับอนุมัติให้ใช้แผนที่ One Map ปรับ ปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 อุทยานทับลาน โดยต้องเพิกถอนที่ดินป่าทับลาน 265,266 ไร่
ดำรงค์ บอกอีกว่า นอกจากนี้ มีกลุ่มทุนบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน พยายามชงเสนอให้นำที่ดินป่าทับลานที่มีปัญหาโอนให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยชูเรื่องโฉนดทองคำ
2 เสียงต่อต้านในสภาที่ยอมถอยตัวเองจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีผลมาก เพราะจะนำไปทำโฉนดทองคำ
อ่านข่าว เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์
จี้ยกเลิกมติครม.14 มี.ค.66-ยุบบอร์ดที่ดิน
อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ บอกว่า ในฐานะที่ติดตาม และเคยปกป้องเรื่องนี้มา จึงเสนอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยกเลิกมติครม.วันที่ 14 มี.ค.2566 เกี่ยวกับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานจากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี 2543
หากยกที่ดินให้ ส.ป.ก.ไปใช้ประโยชน์ และออกเป็นโฉนดทองคำ อาจเกิดการเปลี่ยนมือไปยังกลุ่มนายทุน นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะทุกพรรคการเมืองมักออกนโยบาย ที่เอาใจชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ เพราะการออกโฉนด ส.ป.ก.เป็นการคุ้มครองกลุ่มนายทุนไม่ใช่การปกป้องประชาชนที่อาศัยอยู่เดิมในเขตป่า ด้วยการกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากป่าอนุรักษ์มาอยู่ในเขต ส.ป.ก. แทน
ดำรงค์ ทิ้งท้ายว่า หากยังไม่มีมีการยกเลิกมติ ครม.เตรียมจะยื่นฎีกาคัดค้านโดยจะนำประชาชนที่ไม่เห็นด้วย และกลุ่มนักอนุรักษ์เข้ามาร่วมดำเนินการครั้งนี้ เพราะมองว่าการเฉือนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานครั้งนี้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านทำกินในเขตป่า แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนอมินี นายทุนที่ครอบครองพื้นที่มากกว่า 150,000 ไร่ในเขตวังน้ำเขียว
นายกรัฐมนตรี ต้องยกเลิก มติครม.14 มี.ค.2566 อัปยศ ทำได้ทันที
อ่านข่าว รอสรุป 1 เดือน ส่งบอร์ดอุทยานฯ ชี้ขาดปมเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่
แนะออก อช.4-01 แต่ห้ามเปลี่ยนมือ
สำหรับแผนที่ One Map มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่พบมีข้อเสียมากกว่า จึงขอเสนอให้ยุบคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เพราะเลือกจัดการที่ดินแต่บริเวณพื้นที่มีราคาสูง
ควรเลิกการใช้ One Map ที่อ้างว่าจะมาจัดการปัญหาที่ดินทับซ้อนโดยใช้แผน ที่มาตราส่วน 1:4,000 ไม่ใช่ของวิเศษอะไร และจะลามยังป่าอื่น ๆ ที่มีราคาสูงทั้งเกาะเสม็ด เกาะช้าง และแปลงอื่น ๆ อยากย้อนถามว่าทำไมเลือกแก้ปัญหาที่ดินทำกินในทับลาน เพราะตอนนี้กรมอุทยานฯ คุ้มครองให้ประชาชนทำกิน จึงไม่เห็นด้วยที่เฉือนป่าไปออกโฉนดคุ้มครองนายทุน เพราะมีกฎหมาย ม.64 แล้ว
แต่หากประชาชนไม่อุ่นใจ ก็เสนอให้ออกแนวทาง อช.4-01 หนังสือรับรองทำกินคนที่ทำกินถูกต้อง แต่นำไปขายเปลี่ยนมือไม่ได้
สำหรับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ขอให้กำลังใจทำงานอย่างเต็มที่ไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องร้องจากนายทุน เพราะถือว่าได้ว่าปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยเฉพาะคดีรีสอร์ตที่บุกรุกป่าตามคำสั่งศาลเมื่อสิ้นสุดคดี
อ่านข่าว
เปิดเบื้องลึก "ปัญหาทับลาน" อุทยานฯ เสียป่า หรือใครได้เป็นเจ้าของที่ดิน?
เปิดเหตุผล "หนึ่งในบอร์ดอุทยานฯ" สงวนสิทธิไม่เห็นด้วยเพิกถอน "ทับลาน"