ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขปริศนา! ทำไมต้องใช้ "ปลากะพงขาว" จัดการ "ปลาหมอคางดำ"

สิ่งแวดล้อม
10 ก.ค. 67
19:23
43,269
Logo Thai PBS
ไขปริศนา! ทำไมต้องใช้ "ปลากะพงขาว" จัดการ "ปลาหมอคางดำ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"กะพงขาว" ปลานักล่ากลุ่มกินเนื้อ กำลังหลักใช้กำจัด "ปลาหมอคางดำ" นักวิชาการประมง มช. ไขปริศนากับไทยพีบีเอสออนไลน์ ระบุพฤติกรรมนักล่า "กินหมดไม่สนลูกใคร" แนะชาวบ้านห้ามนำปลาหมอคางดำไปเลี้ยงต่อ เจอที่ไหนต้องกำจัดเหตุเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2567 กรมประมงระบุกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ตอนนี้พื้นที่ 13 จังหวัดในไทยเจอปัญหา "ปลาหมอคางดำ" ระบาดหนัก ซึ่งเป็นปลาต่างถิ่น อาศัยอยู่ปากน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงบริเวณชายฝั่งทะเล ความสามารถเยอะ ทนความเค็มได้สูง วางไข่ได้ทั้งปี "แม่ปลา" ตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ 50-300 ฟอง ต่อมาก็เป็นหน้าที่ "พ่อปลา" ที่ต้องดูแล "ลูกปลา" โดยการอมไข่ลูกปลาไว้ในปากตัวเองจนกว่าจะฟักตัวออกจากไข่ นาน 2-3 สัปดาห์

กายวิภาคของปลาหมอคางดำ มีลำไส้ยาว ยาวกว่าตัวมันเองถึง 4 เท่า จึงเป็นปลาที่มีนิสัยดุร้าย เพราะหิวบ่อย ต้องการอาหารตลอดเวลา อาหารของปลาหมอคางดำคือ "กินได้หมด" ทั้งพืช สัตว์น้ำ ลูกปลา ลูกกุ้ง ลูกหอย

ปลาหมอคางดำ

ปลาหมอคางดำ

ปลาหมอคางดำ

ที่ผ่านมา ชาวประมงพยายามหาทางกำจัดปลาหมอคางดำระยะตัวโตเต็มวัย แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล เมื่อเอาไปทำอาหาร เนื้อปลาก็ไม่อร่อย บางคนจับมาได้พอเจอสีสันตัวปลาที่แปลก ๆ ก็โยนกลับทิ้งลงน้ำ หรือบางคนก็ส่งโรงงานอาหารสัตว์ทำปลาป่น ก็ขายได้กิโลไม่ถึง 10 บาท

"กะพงขาว" นักล่า "กินหมดไม่สนลูกใคร"

อีกวิธีควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ คือ ขณะที่เป็น "ลูกปลา" ใช้ปลานักล่า "กะพงขาว" เข้าไปจัดการ เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มินตรา ศีลอุดม ไขคำตอบให้ว่า เหตุที่ต้องใช้ "ปลากะพงขาว" เพราะเป็นปลากลุ่มกินเนื้อ มีพฤติกรรมนักล่า สามารถเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนประชากรได้ และปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในไทยจำนวนมาก 

ข้อสงสัยต่อมาคือ เมื่อพ่อปลาคอยคุ้มกันความปลอดภัยให้ลูกปลา ด้วยการอมไว้ในปาก จะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ปลากะพงขาวจัดการลูกปลาหมอคางดำได้ยากหรือไม่นั้น อ.มินตรา ระบุว่า เมื่อลูกปลาฟักเป็นตัวจะมีช่วงเวลาที่ออกมาจากปากพ่อปลา ปลากะพงขาวก็จะจัดการได้ "กินหมดไม่สนลูกใคร"

อะไรที่เล็กกว่าปากปลากะพงขาว มันกินได้หมด!
ปลากะพงขาว

ปลากะพงขาว

ปลากะพงขาว

สำหรับแนวคิดที่ว่า ทำไมต้องเจาะจงใช้ปลากะพงขาว นักวิชาการ มช. ตั้งข้อสังเกตว่า ในมุมมองทางเศรษฐกิจ ปลากะพงขาวถือเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าปลาหมอคางดำ เป็นปลาบริโภคที่ขายได้ราคาสูงกว่า การใช้ปลากะพงขาวเป็นนักล่าเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรลดค่าอาหารได้เช่นกัน แต่วิธีการนี้ใช้ได้ผลดีกับฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ เท่านั้น ในสภาพธรรมชาติ ปลากะพงขาวไม่สามารถช่วยกำจัดปลาหมอคางดำได้แน่นอน

ปลาหมอคางดำ มีความอึด อดทนสูงมาก และแพร่พันธุ์ได้ไว ในสภาพธรรมชาติที่เป็นน้ำเปิดนั้น การใช้ปลากะพงขาวจัดการคงไม่เห็นผลอะไร และถ้าปลากะพงขาวเจอสัตว์น้ำอื่น ก็คงเลือกกินอย่างอื่นก่อนมากกว่า

นอกจากนี้ อ.มินตรา ยังระบุว่าการใช้ปลากินปลา "ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน" เพราะธรรมชาติของปลากะพงขาว จะทนต่อสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิน้ำ ค่าออกซิเจนในน้ำ ค่า pH ค่าความขุ่น ความเป็นด่าง ค่าแอมโมเนียอิสระในน้ำ และค่าคุณภาพน้ำอื่น ๆ ได้ไม่ดีเท่าปลาหมอคางดำ และ หากจำแนกกันจริง ๆ ในสภาพธรรมชาติทั้ง 2 สปีชีส์นี้ เป็นปลาคนละกลุ่มเพราะถิ่นกำเนิดต่างกัน

ปลากระพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อยที่เลี้ยงในน้ำจืดได้
แต่ปลาหมอคางดำเป็นปลาน้ำจืด ที่เลี้ยงในพื้นที่น้ำกร่อยได้
ปลากะพงขาว

ปลากะพงขาว

ปลากะพงขาว

นอกจากปลากะพงขาวที่เป็นปลานักล่าแล้ว อาจใช้ปลานักล่าชนิดอื่นที่ใช้แทนได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มีการเพาะเลี้ยงได้ เพราะสัดส่วนจำนวนก็ต้องเยอะเพียงพอกับจำนวนเหยื่อ (ปลาหมอคางดำ) และต้องมีความเหมาะสมกับสภาพน้ำในพื้นที่เลี้ยงนั้น ๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่พบว่ามีสัตว์น้ำชนิดไหนที่มีความทนทานในสภาพน้ำกร่อย น้ำจืด ได้ดีเท่าปลากะพงขาว แต่ถ้าเทียบความอดทน ปลาหมอคางดำอดทนได้มากกว่า

"คนกิน" ไวกว่า "ปลากิน"

อ.มินตรา ยังให้คำแนะนำที่พอจะช่วยลดประชากรปลาหมอคางดำที่รวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาในขณะนี้ได้คือ "กิน" แต่ต้องตั้งเป้าให้แน่ชัดว่า กินเพื่อลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำเท่านั้น ห้ามนำไปเลี้ยงต่อโดยเด็ดขาด เจอก็ต้องฆ่า เพราะปลาหมอคางดำถือเป็นสัตว์ต่างถิ่นสำหรับประเทศไทย คือไม่ควรอยู่ในไทย แม้เนื้อจะน้อย แต่สามารถนำไปแปรรูปปรุงรสให้อร่อยได้ 

ปลาหมอคางดำ

ปลาหมอคางดำ

ปลาหมอคางดำ

แนะนำให้มนุษย์ (ผู้บริโภคขั้นสูงสุด) เอามาทำกิน แปรรูปเป็นอาหารให้หมด กินอย่างต่อเนื่อง 3-5 ปี น่าจะหมด แต่ห้ามเอาไปเลี้ยงเด็ดขาด แต่สามารถเอาไปตากแห้งเป็นปลาป่นทำอาหารสัตว์ได้

อีกวิธีหนึ่งคือ ให้นำไปทำเป็นปลาป่นเลี้ยงสัตว์ เพราะเป็นปลาที่เนื้อน้อย ก้างเยอะ ปริมาณแคลเซียมสูง แต่ใช้ได้เพียงธุรกิจฟาร์มขนาดเล็กเท่านั้น เพราะเนื้อปลาหมอคางดำมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อสัตว์ในปริมาณน้อย การจะนำปลาหมอคางดำมาทำปลาป่นแล้วเติมกรดอะมิโนเพิ่มเข้าไป ในทางธุรกิจถือว่าไม่คุ้มต่อการลงทุน 

ปลาป่นจากปลาหมอคางดำ

ปลาป่นจากปลาหมอคางดำ

ปลาป่นจากปลาหมอคางดำ

รู้หรือไม่ : ปลาหมอคางดำ และ ปลาหมอสีคางดำ คือตัวเดียวกัน

อ่านข่าวเพิ่ม :

คลังถอยไม่ใช้เงิน ธ.ก.ส.แจกดิจิทัลวอลเล็ต หั่นงบเหลือ 4.5 แสนล้าน

เปิดเบื้องลึก "ปัญหาทับลาน" อุทยานฯ เสียป่า หรือใครได้เป็นเจ้าของที่ดิน?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง