กรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดรับฟังความคิดเห็นเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,266 ไร่ ตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) 14 มี.ค.2566 ที่เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ใช้แผนที่ One Map ปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 พื้นที่ป่าทับลาน
ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย หนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ที่ได้ขอสงวนสิทธิไม่เห็นด้วยกับมติ ครม.ดังกล่าว พร้อมกับนายศศิน เฉลิมลาภ ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในคราวการประชุมวันที่ 25 ม.ค.2567
เรื่องสำคัญแบบนี้กลับให้เป็นวาระเพื่อทราบ แทบไม่ได้มีโอกาสมานั่งถก หรือใช้เหตุผลพูดคุยว่าค้านเพราะเหตุใด มีกลไกพยายามผลักดันให้ถูกเพิกถอน
ดร.อนรรฆ ตั้งข้อสังเกตถึงการประชุมในวันนั้นว่า เป็นเพียงวาระให้คณะกรรมการฯ รับทราบการเพิกถอน แทนที่จะเป็นวาระการพิจารณาในเรื่องสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามผลักดันเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการฯ แล้ว 2 รอบ อ้างว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เป็นเรื่องคาราคาซังมานาน ซึ่งตนเองและนายศศินแสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยและขอยืนตามมติเดิม
ผมเป็นกรรมการฯ ตั้งแต่เรื่องเข้ามา 2 รอบแรก ก็ไม่มีใครเห็นว่าควรเพิกถอน รวมถึง รมว.วราวุธเอง เพราะพื้นที่เปลี่ยนมือแบบผิดกฎหมายไปมหาศาล
ดร.อนรรฆ ยืนยันว่า เข้าใจชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจริง แต่มีหลายพื้นที่เปลี่ยนมือจากชาวบ้านไปเป็นของนายทุน สร้างรีสอร์ต โฮมสเตย์ ไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อถือครองดั้งเดิม อีกทั้ง พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับล่าสุด ผ่อนปรนให้ประชาชนมีสิทธิใช้ที่ดินทำกินได้ในกรณีอยู่ก่อนประกาศอุทยานฯ ภายใต้เงื่อนไขมาตรา 64 จึงน่าจะนำกฎหมายนี้มาใช้แก้ปัญหามากกว่าพยายามเพิกถอนพื้นที่ 265,266 ไร่ โดยไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างแท้จริง
ขณะนี้กรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน รวม 493 คดี อยู่ในพื้นที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี 99 คดี และ จ.นครราชสีมา 394 คดี อยู่ใน อ.วังน้ำเขียว 354 คดี อ.ครบุรี 20 คดี อ.เสิงสาง 19 คดี อ.ปักธงชัย 1 คดี ซึ่งศาลตัดสินให้รื้อถอนรีสอร์ตหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา สุดท้ายทางผู้ถูกดำเนินคดี ร้องขอให้กรมอุทยานฯ จัดสรรงบฯ รื้อถอนเอง
ถ้าตรงนี้เพิกถอนผ่าน เชื่อว่าคดีจะถูกสั่งยกฟ้องทั้งหมด ส่วนรีสอร์ตที่ตัดสินไปแล้วก็รอวันกลับมา พื้นที่มูลค่ามากขนาดนี้หลักการ ส.ป.ก.เอาไม่ค่อยอยู่
ดร.อนรรฆ อธิบายว่า มติ ครม. โดย คทช.ต้องการใช้ One Map เพื่อลดความขัดแย้งแนวเขตไม่ตรงกัน ส่วนตัวมองว่าต้องลงไปดูรายละเอียด ไม่ใช่กำปั้นทุบดินให้ย้อนไปใช้แนวเขตที่ทำไว้เมื่อตอนมีความพยายามจะเพิกถอนครั้งแรก ซึ่งในครั้งนั้นยังไม่มีมาตรา 64 ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานร่วมกับคนที่ใช้พื้นที่
กำปั้นทุบดินแบบนี้ ผมว่าเป็นตัวอย่างไม่ดี จะลามไปยังพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ แม้มติ ครม.จะบอกว่าแปลงที่เป็นคดีอยู่ก็ต้องดำเนินคดีต่อไป แต่ทุกคนคิดเหมือนกันว่าถ้าเพิกถอน ก็ยกฟ้องทั้งหมด
ทั้งนี้ การใช้มาตรา 64 กรมอุทยานฯ ยังมีอำนาจต่อรองว่าต้องปลูกต้นไม้กี่เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ และทำโครงการอนุรักษ์กับชาวบ้านที่ใช้พื้นที่ ไม่ใช่การนำที่ดินไปขายต่อแบบไม่ถูกต้อง
หากแก้ปัญหาได้ดีในพื้นที่ทับลานและวังน้ำเขียว จะกลายเป็นโมเดลของประเทศ โดยต้องสำรวจและตรวจสอบให้ชัดเจนว่าพื้นที่แปลงใดบ้างที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จริง หรือได้รับความเดือดร้อน ก็ต้องยกให้ชาวบ้าน ส่วนแปลงใดถูกซื้อขายเปลี่ยนมือก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ใช่ยกให้ ส.ป.ก.ดูแลยกแผง
สำหรับคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ, ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการ, กรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการท่องเที่ยว อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมที่ดิน เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกิน 7 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์
อ่านข่าว : เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์
รอสรุป 1 เดือน ส่งบอร์ดอุทยานฯ ชี้ขาดปมเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่
7 ข้อค้านเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่ห่วงเปลี่ยนมือ
มูลนิธิสืบฯ ออกจดหมายปิดผนึก "ความในใจของคนทำงาน" ปมเพิกถอนป่าทับลาน