ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“พาณิชย์” เจ้าภาพประชุม FTA ไทย-เกาหลีใต้ 9-11 ก.ค.นี้

เศรษฐกิจ
7 ก.ค. 67
12:11
616
Logo Thai PBS
“พาณิชย์” เจ้าภาพประชุม FTA ไทย-เกาหลีใต้ 9-11 ก.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“พาณิชย์” เตรียมเป็นเจ้าภาพประชุมเจรจา FTA ไทย-เกาหลีใต้ รอบแรก 9-11 ก.ค.นี้ หารือแลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างความตกลง มั่นใจช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับไทย ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ startup ของเกาหลีใต้ ทั้งยานยนต์ และไอที

วันนี้ (7 ก.ค.2567) นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2567 ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) แบบทวิภาคี

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเอกสารขอบเขต (TOR) สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลง EPA ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 นับเป็นการประกาศเปิดเจรจาความตกลง FTA ไทย-เกาหลีใต้ อย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อย่อว่า KTEPA (เคเท็ปป้า)

ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค.นี้ ณ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการจัดทำ FTA ของไทยให้มากขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างบทของความตกลงฯ และวางแผนการดำเนินงานในการเจรจาแต่ละรอบ

นางสาวโชติมา กล่าวอีกว่า คณะทำงานด้านต่างๆ13 คณะ ที่จะมีการประชุม ประกอบด้วย การค้าสินค้า ,มาตรการเยียวยาทางการค้า , กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ,พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า , มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช , อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า , การค้าบริการข้ามพรมแดน , การลงทุน , การค้าดิจิทัล ,การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ , ทรัพย์สินทางปัญญา , ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และ ประเด็นทางกฎหมายและสถาบัน

สำหรับการเจรจา KTEPA ฉบับนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ และ startup ของเกาหลีใต้เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย โดยการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ มีมูลค่า 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ มูลค่า 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2567) การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ มีมูลค่า 6,303.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.48 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ มูลค่า 2,514.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 3,789.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

อ่านข่าว:

เงินเฟ้อไทยมิ.ย.67 สูงขึ้น 0.62 % ต่ำเป็นเบอร์ 2 ในอาเซียน

"พาณิชย์" แจง "กาแฟ" ขอปรับส่วนลดการค้า ยังไม่ขึ้นราคา

"จิราพร" ให้ สคบ.ถก BYD หาทางออกปมหั่นราคารถยนต์ไฟฟ้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง