ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พัฒนา คิดไบร์ทไมโครเอไอ (kidbright microAI) เป็นสื่อการสอนโค้ดดิ้ง (Coding) แนวใหม่ ขึ้นเพื่อให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาใช้ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
ภาพจาก : NSTDA - สวทช.
โดยมีอุปกรณ์ที่เป็นบอร์ดนำมาใช้ร่วมกับตัวปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้โค้ดดิ้งที่ไม่ใช่เพียงการเขียนโค้ดซอฟต์แวร์ แต่สามารถเขียนโค้ดเพื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์ หรือ พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ได้จริง
นายพีรภาส ชินภัทรภักดีกุล
นายพีรภาส ชินภัทรภักดีกุล นักศึกษาสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ที่คลุกคลีกับการเขียนโค้ดดิ้งและการสร้างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็ก เปิดเผยว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง ทำให้มีความสนใจและจดจำความรู้ในวิชาเรียนดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้มีการนำหลักสูตรนี้ ไปใช้ในการสอนทุกโรงเรียน
ความท้าท้ายของเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ "โครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบัน การศึกษา" เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างผู้สอน นักเรียนทุกคน ทุกช่วงชั้น ให้มีความรู้ด้าน AI มีความเข้าใจและตระหนักเรื่องจริยธรรมของการนำไปใช้ประโยชน์ เตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล และรองรับตลาดแรงงานสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 21
ภาพจาก : NSTDA - สวทช.
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวมีกรอบการดําเนินงาน ดังนี้
- สร้างหลักสูตร AI ที่มีความเหมาะสมของผู้เรียนและผู้สอน ให้สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ อย่างเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละช่วงชั้น
- สร้างครูผู้สอนให้มีความรู้ทางด้าน AI และการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมของการสอนแต่ละช่วงชั้น
- สร้างมาตรฐานหลักสูตร AI เพื่อนำไปสู่การออกแบบใบรับรองความสามารถ (Micro-Credentials)
- พัฒนาโครงการนําร่อง ก่อนส่งเสริมให้เกิดการสอนเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
- แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ รวมทั้งจัดฝึกอบรม และสัมมนาระหว่างบุคลากรของทั้งสองฝ่าย และดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ภาพจาก : NSTDA - สวทช.
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมถึงระบบดิจิทัลเข้ามาใช้พัฒนาผู้เรียน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษาได้ โดยเฉพาะผู้เรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูผู้สอนไม่ครบชั้น ขาดแคลนสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน กระทรวงศึกษาฯ คาดหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการจัดการศึกษาในโลกอนาคตที่สอดคล้องกับเด็กไทย
ทุกวันนี้ AI กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันการทำงานและการศึกษา ดังนั้น นักเรียน นักศึกษาจะต้องได้รับทักษะใหม่ ๆ เช่น ทักษะในการคิด การ วิเคราะห์ การตัดสินใจ การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
อ่านข่าว : ไฟเขียวขายเหล้า 5 วันพระใหญ่ในสนามบินนานาชาติ
ราชกิจจาฯ ประกาศเพิ่มเงินประจำตำแหน่งข้าราชการรัฐสภา 7 สายงาน
“วราวุธ” วอนสื่อร่วมแก้วิกฤติประชากร เลี่ยงเสนอรุนแรง-ไม่ใช่เด็กเป็นเครื่องมือ