ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์

สิ่งแวดล้อม
3 ก.ค. 67
15:53
9,914
Logo Thai PBS
เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ภายหลังคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในคราวประชุมวันที่ 25 ม.ค.2567 มีมติรับทราบตามข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 14 มี.ค.2566 เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ใช้แผนที่ ONE MAP ปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี

โดยจะต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,266 ไร่ มีเพียงบอร์ด 2 คนคือ นายศศิน เฉลิมลาภ ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร และดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยที่ขอสงวนมติว่าไม่รับทราบ 

ตลอดระยะเวลาหลายเดือน ท่ามกลางคำตอบที่ยังคลุมเครือ แม้จะมีการตั้งคำถามจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ออกแถลงการณ์ทักท้วงทันทีในวันถัดมา ด้วยข้อกังวลถึงการสูญเสียป่าทับลาน 265,266 ไร่ ป่าอนุรักษ์ 1 ใน 5 แห่งที่ถูกประกาศเป็นป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ป่าดงพญาไฟที่มีสัตว์ป่าสำคัญของไทยอาศัยอยู่มากมาย

อุทยานแห่งชาติทับลาน

อุทยานแห่งชาติทับลาน

อุทยานแห่งชาติทับลาน

หากป่าทับลานถูกเฉือนออกไป 265,286 ไร่ เท่ากับปิดโอกาสให้สัตว์ป่าจากฝั่งทับลาน เดินข้ามมายังฝั่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แม้จะมีการทำอุโมงค์เชื่อมผืนป่า เพื่อแก้ปัญหาถนนตัดป่าไว้ แต่ไม่มีประโยชน์

ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยอมรับว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเพิกถอนป่าผืนใหญ่ของทับลานถึง 265,286 ไร่ ออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ถูกผนวกเป็นมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่

ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

โจทย์หินแก้ที่ดินเหมาเข่ง ใครได้ประโยชน์

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า หากดูจากแผนที่ พื้นที่แปลงนี้ครอบคลุมในเขต อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี อ.เสิงสาง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ทั้งที่กระบวนการแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนทั้ง 3 กลุ่มกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้วางแนวทางไว้หมดแล้ว

โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าทับลาน และซ้อนทับกับที่ดิน ส.ป.ก.ทำกินมาแล้วมีพื้นที่ กว่า 58,000 ไร่ ส่วนกลุ่มที่ 2 อยู่ก่อนมติ ครม.30 มิ.ย.2541-2557 สำรวจโดยใช้ ม.64 พ.ร.บ.อุทยานฯ สำรวจไว้หมดแล้วเช่นกัน 55,000 ไร่

ขณะที่กลุ่มที่ 3 กลุ่มของรีสอร์ตกว่า 400 คดีที่มีคดีที่สิ้นสุด และยังอยู่ระหว่างทางมีพื้นที่มากกว่า 150,000 ไร่ จะได้ประโยชน์จากการเพิกถอนป่าไปเต็มๆ จากแนวทางที่ สคทช.เสนอครั้งนี้ จึงไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาได้ถูกต้อง

ทั้งนี้มูลนิธิสืบฯ ชี้ว่า หากไม่มองเรื่องความสูญเสียระบบนิเวศน์ จากการเฉือนพื้นที่ป่าออกไปเท่านั้น แต่ "ทับลานโมเดล" จะกลายเป็นแนวทางในการเฉือนป่าที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนแห่งอื่นๆ ตามมาเป็นโดมิโน ทั้งเกาะเสม็ด เขาค้อซึ่งมีตัวเลขคนอยู่ในป่ากว่า 4 ล้านไร่  

แผนที่ป่าทับลานที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อน

แผนที่ป่าทับลานที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อน

แผนที่ป่าทับลานที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อน

ถอดรหัส สคทช.-การเมือง

ไม่ถูกต้องที่จะทำแบบเหมาเข่ง โดยเฉพาะกลุ่มทุน รีสอร์ตที่มีพาวเวอร์สูงไม่ว่าจะเป็นเงิน การเจรจาต่อรอง และคนกลุ่มนี้พยายามจะสื่อสารกับนักการเมือง เรียกร้องทางการมืองขอให้แก้ปัญหา

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับกลุ่มที่ 3 ซึ่งมีผู้ประกอบการรีสอร์ตในป่าทับลาน จะเห็นความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองจากข่าวต่าง ๆ เช่น การจัดประชุมพรรค การจัดกิจกรรมของพรรคการเมืองหลายครั้งทั้งที่ติดคดีรุกป่าทับลานมาตั้งแต่ปี 2554

ซึ่งหากวิเคราะห์ตัวบุคคลถึงผู้ที่อยู่ใน สคทช.ซึ่งมีบุคลากรจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นคนจาก ส.ป.ก.ที่เข้ามาบริหาร ซึ่งหลายคนก็ผูกพันทางการเมือง และมีความพยายามเหมือนรับการบ้าน เป็นแนวทางในการจัดการที่ดินทับลาน ทำอย่างไรจะเพิกถอนป่าทับลาน มองเห็นความเชื่อมโยงตรงจุดนี้

ส่วนอีกคำถามที่ฝากถึงกรมอุทยานฯ ว่า กำลังถูกการเมืองส่งไม้ต่อให้ สคทช. มาเพิกถอนป่าทับลานหรือไม่ เพราะช่วงที่ผ่านมาบอร์ดกรมอุทยาน มีมติไม่น้อยกว่า 2 ครั้งให้ใช้กระบวนการทางกฎหมายมาใช้แก้ปัญหาได้ทำมาแล้ว 2 กลุ่ม 

นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

นอกจากนี้ ภานุเดช มองว่า กรณีเพิกถอนป่าทับลาน เกิดขึ้นเร็วมาก หลังจากมีการส่งเรื่องให้ ครม.และถูกส่งมาที่บอร์ดอุทยานฯ เมื่อเดือนม.ค.แต่ทำได้เพียงแค่รับทราบ ไม่ได้พิจารณาอะไร จนวันนี้ กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความเห็น 2 ทาง คือการจัดรับฟังความเห็นทางออนไลน์ตั้งแต่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค.นี้ และเวทีคู่ขนานในพื้นที่ฝั่งจ.ปราจีนบุรี และนครราชสีมาวันที่ 4-5 ก.ค.นี้ 

คำถามคือ ประเด็นต่าง ๆ ที่คนแสดงความเห็นไม่ว่าจะเสียงค้านหรือสนับสนุน จะถูกส่งเข้าบอร์ดอุทยานหรือไม่ หรือจะส่งผ่านให้ ครม.เพื่อพิจารณาเพิกถอนพื้นที่ป่าทับลานทันที ซึ่งมูลนิธิสืบฯ อยากให้กรมอุทยานทบทวนมติ และพิจารณาแนวทางการจัดการที่เหมาะสมแทนที่จะเลือกการเพิกถอนพื้นที่อย่างเดียว 

หากไม่สามารถเบรกได้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะหาวิธีการฟ้อง หรือดำเนินการในขั้นต่อไป และกรมอุทยานฯ ต้องตอบคณะกรรมการมรดกโลกให้ได้ว่าเหมาะสมหรือไม่

"ชัยวัฒน์" แฉกลุ่มทุน-การเมืองฮุบทับลาน

ไม่เพียงแต่มูลนิธิสืบนาคะเถียร และกลุ่มอนุรักษ์ที่ขยับเพื่อปกป้องผืนป่า แต่ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกตัวเต็มสูบเพื่อปกป้องป่าทับลาน เขาประกาศกร้าวว่าขอใช้เวลาอีก 3 เดือนก่อนเกษียณอายุราชการทำหน้าที่แทนเพื่อนพี่น้องที่ไม่เห็นด้วยกับการเฉือนป่าทับลาน 

ถามว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ชัยวัฒน์ บอกว่า ทับลานเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มทุนเข้าไปมากที่สุด มีการซื้อขายที่ดิน หรือเปลี่ยนมือ รวมถึงการเข้าไปสร้างโรงแรมรีสอร์ต ซึ่งหลังจากปี 2554 มีการดำเนินคดีมาโดยตลอด จับกุมกลุ่มทุนและผู้ซื้อขายเปลี่ยนมือ ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน หรือกรณี ส.ป.ก.ออกล้ำนอกเขตอีก 900 ไร่ และขยายเข้ามาในอุทยาน รวมหลายพันไร่ ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีส.ป.ก.

ช่วงต้นปี 2550 มีข่าวออกมาว่าวังน้ำเขียวมีโอโซนดีที่สุดในประเทศไทย ทุกคนก็แห่ไปลงทุน ไปซื้อขายเปลี่ยนมา
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ

ขณะนี้กลุ่มทุน นักการเมือง อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนตั้งแต่แรก โดยทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการทวงคืนผืนป่า และกรมอุทยานฯ ไม่ถูกต้อง ลิดรอนสิทธิทำให้ชาวบ้านเดือนร้อน ยืนยันว่ากลุ่มที่อ้างเป็นชาวบ้านนั้น คือ กลุ่มทุน ซึ่งการรื้อถอนตามคำสั่งศาล คาราคาซังมาถึงทุกวันนี้ จนผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่อง

เมื่อส่งเรื่องเข้าไปสืบสวนสอบสวน พูดตรง ๆ ก็คุยเฉพาะกลุ่มการเมือง กรรมาธิการต่างๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความเห็นประชาชนทั่วประเทศ แต่เป็นการเมือง 100%

ชัยวัฒน์ บอกว่า ส่วนตัวเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเคยนั่งประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) อาจไม่ทราบรายละเอียดว่ามีแนวคิดแบบนี้ แต่คนการเมืองด้านล่างลงมาคอยวิ่งเต้นโครงการ โดยที่ พล.อ.ประวิตร ไม่ทราบเรื่อง ส่วนคนในกลุ่มนี้ก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นใคร หากไม่หยุดก็ต้องสู้กันไป

ห่วงทับลานโมเดล ปลดล็อกที่ดินเสม็ด-เกาะช้าง-สิรินาถ

เมื่อถามว่าเคยพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประเด็นพื้นที่ทับลานหรือไม่ ชัยวัฒน์ บอกว่า ไม่เคยคุยกันอยู่แล้ว เรื่องการอนุรักษ์เป็นหัวใจของคนทั้งประเทศ ไม่จำเป็นต้องคุยหาก ร.อ.ธรรมนัส เห็นว่าแนวทางของตนเองในการปกป้องผืนป่านั้นถูกต้อง ก็ต้องส่งคนมาพูดคุย ซึ่งการเมืองต้องกลับมาคิดใหม่ว่าป่าไม่ควรถูกเฉือนไปเป็นประโยชน์ของกลุ่มทุน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ถ้าต่อจิ๊กซอว์จริง ๆ รู้จากการข่าวอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มใครบ้าง เข้าไปมีส่วนรู้เห็น รวมถึงข้าราชการ ข้าราชการการเมืองกลุ่มไหนเข้าไปอยู่แล้วซื้อขายเปลี่ยนมือ ขณะเดียวกันระหว่างคดีก็มีกลุ่มทุนใช้เงินเทามาซื้อ
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยาน

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยาน

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยาน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในระหว่างการดำเนินคดีโรงแรม รีสอร์ตต่าง ๆ ก็พบว่ามีกลุ่มการเมือง กลุ่มทุน กลุ่มที่วางโครงไว้เพื่อจะกั้น 260,000 ไร่ออกจากพื้นที่อุทยานฯ โดยเจรจากับผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี 400 กว่ารายการ เพื่อซื้อขายโรงแรม รีสอร์ต ในราคาถูกลง

ยกตัวอย่างราคา 100 ล้านบาท อาจเหลือแค่ 30 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าหากกั้นพื้นที่นี้สำเร็จ ก็จะทำธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และให้หน่วยการหนึ่งมารับหน้าที่ดูแลจัดสรรกันใหม่

เขามองการณ์ไกลไว้แล้ว มาแตะๆ มือซื้อขาย โครงการนี้ถ้าสำเร็จได้กันพื้นที่ออก คดีความที่เป็นอยู่ กลับตาลปัตรเลยนะ จากมีความผิดต้องติดคุก กลายเป็นผู้บริสุทธิ์

ชัยวัฒน์ ย้ำว่า ขอให้เชื่อมั่นว่าตนเองเป็นคนตรงไปตรงมา ถ้าไม่มั่นใจก็ไม่กล้าพูด  เงินเทาส่วนหนึ่งทะลักมายังกลุ่มทุนที่พยายามกว้านซื้อที่ดินที่เชื่อว่าสุดท้ายจะถูกกันออกจากเขตอุทยานฯ หากสำเร็จก็จะมีพื้นที่อื่น ๆ ถูกใช้แนวทางเดียวกันแน่นอน ทั้งอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

ถ้าทับลานผ่าน ค่อยดูละว่าเกาะเสม็ด สิรินาถ และเกาะช้าง จะตามมาทันที

กางแผนแก้ทับลาน-ก่อนเตรียมเฉือนป่า 2.6 แสนไร่ 

ข้อมูล การแก้ปัญหาที่กรมอุทยานแห่งชาติ เคยมีข้อสรุปไว้ แบ่งเป็น 3 แนวทาง 

  • กลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 58,582 ไร่ ให้อุทยานฯ เสนอเพิกถอนพื้นที่ให้ ส.ป.ก.มีอำนาจหน้าที่ตามเขตปฏิรูปที่ดิน, ดำเนินการตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 และ อุทยานฯ และ ส.ป.ก.ร่วมกันตรวจสอบและจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไข
  • กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 59,183 ไร่ สภาพเป็นพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยของชาวบ้าน เห็นควรให้ดำเนินการตามมติ ครม.30 มิ.ย.2541 พร้อมสนับสนุนสาธารณูปโภค เพื่อดำรงชีพตามสมควร ส่วนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอให้ดำเนินการตาม ม.64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562
  • กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 152,072 ไร่ กลุ่มนายทุนที่เข้ามาครอบครองเพื่อก่อสร้างรีสอร์ต หรือบ้านพักตากอากาศ ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ครอบครองก่อน, พื้นที่ที่ราษฎรถือครองที่ดินโดยทั่วไป เห็นควรดำเนินการกับราษฎรที่ครอบครองที่ดินตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 และให้พิจารณาสนับสนุนสาธารณูปโภคเพื่อการดำรงชีพได้ตามสมควร ส่วนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอให้ดำเนินการตาม ม.64 พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง