วันนี้ (30 มิ.ย.2567) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยย้ำว่า ในประเด็นของกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ไม่ผูกพันกับการพิจารณาคดีนี้ และโทษยุบพรรคเป็นมาตรการสุดท้ายที่ใช้เมื่อจำเป็นฉุกเฉินและไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
นายพิธา อ้างอิงว่า กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้กระบวนการยุบพรรค 2 มาตรฐาน เพราะ กกต.อ้างว่ากรณีของพรรคก้าวไกลใช้แค่มาตรา 92 ก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคได้ เพราะ "มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า" ทั้งที่มาตรา 93 เขียนไว้ชัดเจนว่าต้องต่อเนื่องจากมาตรา 92 ถ้าตีความอย่างเคร่งครัดไม่สามารถแยกกรณีได้
นายพิธา ระบุว่า กระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรคต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบ และมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้น กกต. ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลทำบันทึกถ้อยคำภายใน 7 วัน เพื่อตอบ 2 คำถามสำคัญ สำหรับใช้ในการนัดพิจารณาในวันที่ 3 ก.ค. และการนัดคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 ก.ค.นี้
สำหรับ 2 คำถามที่พรรคได้รับมาคือ พรรคได้โต้แย้งต่อ กกต.ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต.หรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ เมื่อพรรคไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งในชั้น กกต. จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคจะเรียกร้อง กกต.ให้ทำตามกระบวนการ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้พรรคต้องโต้แย้ง กกต. ไม่ทำตามกระบวนการ
ส่วนอีกคำถามคือ การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ ซึ่งเมื่อพรรคไม่สามารถตอบต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะข้อกล่าวหาคำว่า “การกระทำเป็นการล้มล้างและอาจเป็นปฏิปักษ์” เป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/2567 ที่กล่าวหาว่า “ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ” เพียงอย่างเดียว
พรรคก้าวไกล ยืนยันการกระทำของพรรคไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ แต่ในเมื่อเป็นคนละข้อหาและเป็นประเด็นใหม่ ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต.ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในเมื่อ กกต.ปิดประตูใส่ พรรคก็ไม่มีโอกาสได้ไปชี้แจง ไม่มีช่องทางในการท้วงติง และในเมื่อเป็นประเด็นใหม่และขอบเขตใหม่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยกระบวนการใหม่เท่านั้น
อ่านข่าว
ผลโพลนิด้า "พิธา-ก้าวไกล" ยังรั้งอันดับ 1 คะแนนนิยมการเมือง