ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทลายเครือข่ายหลอก "วัยเกษียณ" ลงทุนออนไลน์ สูญ 200 ล้าน

อาชญากรรม
28 มิ.ย. 67
13:11
1,496
Logo Thai PBS
ทลายเครือข่ายหลอก "วัยเกษียณ" ลงทุนออนไลน์ สูญ 200 ล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจไซเบอร์ ทลายเครือข่ายมิจฉาชีพหลอกวัยเกษียณลงทุน เสียหาย 200 ล้านบาท เบื้องต้นจับผู้ต้องหาได้ 30 คน รวมตัวการสำคัญเป็นแอดมิน-คนจัดหางาน-บัญชีม้า ซัดทอดนายทุนจีนสั่งการเบื้องหลัง

วันนี้ (28 มิ.ย.2567) ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เปิดปฏิบัติการเดย์ฮันเตอร์ (DAY HUNTER) บุกค้น 6 เป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ทลายเครือข่ายมิจฉาชีพ อ้างเป็นคนดังหลอกผู้สูงอายุวัยเกษียณลงทุน หลังมีผู้สูงอายุกว่า 40 คน ร้องทุกข์กล่าวโทษผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ ว่า ถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชันเพนฟอร์ด (PENFOLD) และแอปพลิเคชันไอบีทีเอ็ม (IBTM) รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุมักสร้างเฟซบุ๊กปลอม แอบอ้างผู้มีชื่อเสียงด้านการลงทุน ใช้วิธีแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มเฟซบุ๊กจริงที่เกี่ยวกับการลงทุน จากนั้นค้นหารายชื่อกลุ่มเป้าหมายโดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มข้าราชการเกษียณอายุ ก่อนติดต่อแนะนำหรือชักชวนให้กับกลุ่มเป้าหมายร่วมลงทุน โดยให้กลุ่มเป้าหมายติดตั้งแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพได้สร้างขึ้นมาหลอกให้โอนเงินเพื่อเข้าร่วมลงทุนเป็นระยะ และให้โอนเงินลงทุนจำนวนหลายครั้ง แต่เมื่อผู้เสียหายต้องการถอนเงิน กลุ่มผู้ก่อเหตุจะอ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายโอนเงินเพิ่ม สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินได้

จากการตรวจค้นสามารถจับผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 30 คน เป็นกลุ่มแอดมิน ผู้จัดหาบัญชีม้า รวมทั้งบัญชีม้า โดยผู้ต้องหาสำคัญคือ น.ส.ปานชีวัน อายุ 33 ปี และ น.ส.ชานิภาอายุ 39 ปี ทั้งสองคนทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาบัญชีม้า และจัดหาคนเข้ามาทำงานในองค์กร โดยวิธีประกาศรับสมัครผ่านเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 14 เครื่อง โทรศัพท์ 6 เครื่อง เอกสารรับสมัครงาน สมุดบัญชีธนาคาร เอกสารการเงิน เอกสารบทสนทนาที่เตรียมไว้สำหรับหลอกกลุ่มเป้าหมาย และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหลายรายการ

เบื้องต้นผู้ต้องหา ซัดทอดไปถึงนายทุนชาวจีนที่เป็นระดับผู้บริหารและผู้สั่งการจำนวน 2 คน ทราบว่าสั่งการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้ตำรวจเร่งสืบสวนติดตามตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย ส่วนพฤติกรรมการหลอกลวงประเภทนี้เรียกว่า ไฮบริดสแกรม หลอกลวงกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมลงทุน โดยการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านสื่อออนไลน์ และสร้างโปรแกรมปลอมมาเป็นเครื่องมือหลอกโอนเงิน

ปัจจุบันพบผู้เสียหายแจ้งความถูกหลอกในลักษณะนี้ถึง 60,000 คน มูลค่าความเสียหาย 22,000 ล้านบาท จึงต้องเร่งขยายผลกวาดล้างให้ถึงที่สุด พร้อมเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนลงทุน เพื่อไม่ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มมิจฉาชีพ

ด้าน พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะเร่งประสานกับทางการจีน เพื่อร่วมการติดตามตัวนายทุนชาวจีนที่สั่งการอยู่เบื้องหลัง โดยควบคุมตัวผู้ต้องหาที่จับกุมได้ ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, เป็นอั้งยี่, ร่วมกันทุจริตหรือหลอกลวงโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันสมคบการฟอกเงิน

อ่านข่าว : ตร.191 บุกจับเครือข่ายยาเสพติด ค้นบ้านพักพบยาเสพติดอื้อ 

ตำรวจไซเบอร์ จับ "พลทหารเรือ" เปิดบัญชีม้า 

ร้อง ผบ.ตร.เร่งโอนคดีหลอกเทรดทอง เสียหาย 20 ล้านบาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง