ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปิดฉาก "ฟู้ดเดลิเวอรี" ใต้ร่มเงา "ธนาคาร" ในวันที่ได้ไม่คุ้มเสีย

เศรษฐกิจ
26 มิ.ย. 67
19:25
470
Logo Thai PBS
ปิดฉาก "ฟู้ดเดลิเวอรี" ใต้ร่มเงา "ธนาคาร" ในวันที่ได้ไม่คุ้มเสีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ข่าวการตัดสินใจยุติการทำหน้าที่ แพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี หรือธุรกิจส่งอาหาร ของ "โรบินฮู้ด" สะท้อนภาพเศรษฐกิจการแข่งขัน ไปจนถึงโมเดลธุรกิจ จากยุคโควิดสู่ยุคฟื้นฟูได้เป็นอย่างดี

การระบาดของโควิด-19 นอกจากจะสร้างผลสะเทือนแก่เศรษฐกิจ แต่ก็สร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เกิดความรุ่งเรืองไปกับการพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย ธุรกิจแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี ถือว่าได้รับอานิสงส์โดยตรงจากโควิด เพียงแต่วันนี้บริบทต่าง ๆ มันเปลี่ยนแปลงไป

อาชีพไรเดอร์ถือเป็นอาชีพอิสระ ที่มีรายได้ดีตามความขยัน แต่ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

หากเปรียบเทียบรายได้และเงื่อนไขการทำงานของไรเดอร์ จะเห็นได้ว่าโรบินฮูดมาเป็นอันดับหนึ่ง จากรายได้ที่จูงใจ ได้เงินทันที ไม่หักค่าคอมมิชชัน รองลงมาเป็นไลน์แมน ที่มีค่ารอบเริ่มต้น 35 บาท เงื่อนไขการทำงานยุ่งยาก และแกร็บ ตามลำดับ จากฐานลูกค้าที่มีจำนวนมาก

ขณะที่หากเรามาดูผลประกอบการแพลตฟอร์ม ฟู้ดเดลิเวอรี ที่แข่งกันอย่างดุเดือดล้วนมีผลขาดทุนแทบทั้งสิ้น ผลการดำเนินงาน Robinhood 3 ปี ขาดทุน กว่า 5,000 ล้านบาท Line man (ประเทศไทย) จำกัด ก็ขาดทุนต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ มีเพียง Grab (ประเทศไทย) จำกัด ที่พลิกขึ้นมาทำกำไรได้แล้ว จากฐานธุรกิจที่กว้างขวางกว่า

เพราะธุรกิจนี้ไม่ได้รุ่งโรจน์เหมือนช่วงโควิด-19 ที่ทุกคนต้องอยู่ที่บ้านเหมือนในอดีต การได้ออกมาจับจ่ายข้างนอกกลายเป็นความสุขชนิดหนึ่ง ทำให้มูลค่าตลาดนี้ลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารกว่า 80,000 ล้านบาท มีแนวโน้มลดลง เพราะค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น (Price per Order) ประมาณร้อยละ 8.6 หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 183 บาท ต่อครั้งของการสั่ง

ขณะที่ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะหดตัวลงร้อยละ 11.3 จากปี 2565 โดยมาจากการหดตัวแรงในกลุ่มของเครื่องดื่ม เช่น ชานม-กาแฟ และเบเกอรี เป็นต้น

นี่จึงอาจเป็นที่มาที่ ให้ SCBX บริษัทแม่ ตัดสินใจ ปิดตัว Robinhood ลง แม้ว่าการขาดทุนเมื่อเทียบกับธุรกิจธนาคารจะมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น อย่างน้อยเพื่อเป็นการหยุดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน SCBX เองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้อะไรจากธุรกิจนี้

เพราะฐานข้อมูลที่สำคัญที่ได้จากไปนั้น เพียงพอที่จะใช้ในการนำไปต่อยอดธุรกิจในเครื่อง ทั้งยอด ลูกค้าลงทะเบียนใช้งานกว่า 2,800,000 ล้านคน ร้านค้าบนแพลตฟอร์ม 225,000 ร้าน ไรเดอร์ให้บริการส่งอาหารกว่า 30,000 คน

ข้อมูลการสั่งอาหารเฉลี่ย 180,000 ออเดอร์ต่อวัน ล้วนสามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งสิ้น

จริง ๆ แล้วถ้าดูแบบนี้ก็ดูเหมือนว่า SCBX เองก็ได้ประโยชน์อยู่พอสมควร ก็ไม่น่าที่จะปิดตัวลงง่าย ๆ หรือว่าจะมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมที่ทำให้ตัดสินใจเช่นนี้

แผนธุรกิจของโรบินฮูด จะขยายสู่โมเดลเพื่อสังคมกับการต่อยอดสู่ Non-Food ครอบคลุม กิน-เที่ยว-ช้อป-ส่ง ภายใต้เป้าหมายสู่การเป็น Super App สัญชาติไทยที่สามารถแข่งขันและเติบโตในระดับภูมิภาคโรบินฮู้ด (Robinhood) ผ่านบริการ Finance และรถ EV

โดยบริษัทมีบริการให้เช่ารถอีวี ให้กับไรเดอร์ โดยไรเดอร์ก็จะจ่ายค่าเช่ารายวัน ซึ่งไรเดอร์บางส่วนก็มีการตั้งคำถามเหมือนกันว่า การกระจายงานอาจจะเอื้อให้กับไรเดอร์ที่เช่ารถอีวีมากกว่า

อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เราพอเห็นภาพว่าจริง ๆ แล้ว โลกนี้ไม่มีอะไรฟรีในการธุรกิจ แม้จะไม่ได้มาในรูปคอมมิชชันหรือค่าจีพี แต่ธนาคารก็ได้ประโยชน์ไปแล้วเช่นกัน

ยังไม่รวมถึงข้อมูลอินไซต์ของร้านค้าและไรเดอร์ ที่มีการกู้เงินนอกระบบ และต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงมาก ซึ่งหากมีบริการทางการเงินแบบนาโนไฟแนนซ์ ที่มียอดไม่สูงมาก (ราว 5,000 – 8,000 บาท) ซึ่งบริษัทเองก็เคยบอกว่า จะนำไปสู่ธุรกิจไฟแนนซ์ ที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับไรเดอร์และร้านค้า โดยไม่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบนั่นเอง

วิเคราะห์ : ปรัชญ์อร ประหยัดทรัพย์ บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ ไทยพีบีเอส

ชีวิตผันเปลี่ยนของไรเดอร์

ชนสร ตั้งพาณิชย์ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ไทยพีบีเอส สำรวจชีวิต "ไรเดอร์" บริเวณใต้สะพานข้ามแยกเกษตร ซึ่งเป็นจุดหนึ่ง ที่ไรเดอร์จากทุกค่าย นั่งประจำการเพื่อรอรับงาน บางส่วน จับกลุ่มพูดคุยถึงข่าวยุติการให้บริการของแอปพลิเคชัน "โรบินฮู้ด" ซึ่งเป็นธุรกิจส่งอาหาร

ไรเดอร์คนหนึ่งบอกว่า รู้สึกเหมือนถูกลอยแพ เพราะบริษัทเพิ่งประกาศรับสมัครไรเดอร์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มอีกประมาณ 50 อัตรา โดยไม่มีสัญญาณว่าจะยุติการให้บริการมาก่อน

แม้ไรเดอร์สามารถสมัครเข้าร่วมงานกับเดลิเวอรี แอปพลิเคชันอื่นได้ แต่สภาพการแข่งขันในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ให้บริการน้อยลง แต่จำนวนไรเดอร์มากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดปัญหาการแย่งงานกันมากขึ้น รวมทั้งไรเดอร์อาจตกอยู่ในสภาพจำยอม ไม่สามารถต่อรอง กับระบบการทำงานของแอปพลิเคชัน

เนื่องจากปัจจุบันเดลิเวอรี แอปพลิเคชัน รวมทั้งโรบินฮู้ด ใช้ระบบการจัดสรรงาน แทนการให้ ไรเดอร์เลือกรับงาน ซึ่งระบบมักจัดสรรงานให้กับไรเดอร์ในโครงการสินเชื่อเช่ารถอีวี มากกว่าไรเดอร์ที่ไม่ได้เข้าโครงการ

เช่นเดียวกับ ตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารบนแอปพลิเคชัน โรบินฮู้ดบอกว่า เจ้าหน้าที่จากธนาคาร เคยโทรศัพท์มาชักชวนให้สมัครบัตรเครดิต หรือเสนอสินเชื่อฉุกเฉิน แต่ปฏิเสธไป เนื่องจาก ไม่ต้องการก่อหนี้เพิ่ม

พร้อมระบุว่า การขายอาหารผ่านแอปฯ โรบินฮู้ด ช่วยเพิ่มยอดขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของยอดขายในแต่ละวัน เนื่องจากบริษัท ไม่ได้เก็บค่าจีพี เหมือนกับแอปพลิเคชันอื่น ส่งผลให้ราคาอาหารบนแอปฯ ไม่ต่างจากกับราคาขายหน้าร้านมากนัก

แต่หากบริษัทยกเลิกบริการร้าน จำเป็นต้องสมัครขายอาหารผ่านแอปฯ อื่น พร้อมกับปรับขึ้นราคาอาหาร รองรับต้นทุนค่าจีพี ที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 38 เพื่อรักษาลูกค้าที่เคยสั่งอาหารผ่านแอปฯ แต่หากไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ก็อาจยกเลิกการให้บริการผ่านช่องทางนี้

เกื้อกูล สาหร่าย ผู้ประกอบการร้านอาหาร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน โรบินฮู้ด จะยุติให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2567 เนื่องจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า และไรเดอร์ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 แล้ว

ขณะที่ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดธุรกิจส่งอาหาร ในปี 2567 อาจหดตัวร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 86,000 ล้านบาท

แม้ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.8 หรือประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค มีแนวโน้ม ลดการใช้บริการ และปริมาณการสั่งซื้อลดลง

อ่านข่าว : 

"ลิซ่า" ปล่อยทีเซอร์ MV เพลงใหม่ แฟนคลับฮือฮาฉากเยาวราช

มติ ก.ตร. 12 ต่อ 0 เห็นชอบคำสั่งให้ "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการ

ชิง สว.200 คน “บ้านใหญ่” นำ ต้อง “เนียน” เปิดทาง สว.อิสระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง