เพราะในช่วงโค้งสุดท้าย นับแต่ได้ สว.ระดับจังหวัดด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพใด ล้วนได้รับการติดต่อ ไม่ว่าจะกลุ่มผู้เข้ารอบระดับประเทศ หรือคนอยู่วงนอกไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่เป็นขาใหญ่หรือคนอยากเพิ่มบารมี หรือมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง จากการเลือก สว.ทั้งสิ้น
ชัดเจนกระทั่ง กกต. ที่ปกติไม่ค่อยจะรู้เรื่องอะไร ยังออกโรงเปิดประเด็น มีความเคลื่อนไหวที่ส่อเค้ากลโกงเลือกสว.ถึง 4 รูปแบบ คือต่อรองเรียกรับผลประโยชน์หลักแสนตำแหน่ง แลกกับการลงคะแนนโหวตให้ กลุ่มการเมืองที่หนุนหลังผู้ผ่านระดับจังหวัด
ล็อบบี้และรวบรวมผู้ผ่าน สว.ระดับจังหวัดคนอื่น ๆ เพื่อให้กลุ่มของตนมีผู้มีสิทธิ์เลือกมากที่สุด 3.มีคนกลางจองห้องพักโรงแรมใกล้สถานที่เลือก และนัดรวมตัวกัน ก่อนวันเลือกเพื่อหวังนำจำนวนเสียงที่รวบรวมได้ ไปเรียกรับผลประโยชน์เป็นเงินหลักล้านบาท
“ขาใหญ่” ผู้มีบารมีทางการเมืองติดต่อไปยังผู้ผ่านเลือก สว.จังหวัดทุกกลุ่มอาชีพ ให้มาอยู่ในกลุ่มตนเอง อ้างว่าจะสนับสนุนให้เป็น สว.
เป็นการยืนยันชัดเจนว่า การเลือกสว.มีการใช้สาระพัดรูปแบบและวิธีการ เพื่อหวังชนะ และเพื่อการต่องรองและผลประโยชน์ รวมถึงผลทางการเมือง ตั้งแต่ตำแหน่งในวุฒิสภา ตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญและวิสามัญ
ยังไม่นับบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แม้จะการโหวตเลือกนายกฯ จะถูกตัดทิ้งแล้ว แต่การตรวจสอบรัฐบาล ตั้งกระทู้ เปิดอภิปรายรัฐบาล การเสนอแนะ แต่งตั้ง ให้ความเห็นชอบ และถอดถอนกรรมการในองค์กรอิสระ
ความเคลื่อนไหว มีทั้งแบบเปิดเผยและแบบใต้ดิน เช่น การนัดพบปะของกลุ่มผู้สมัคร กลุ่มผู้สมัครอิสระที่มีต้นทุนทางสังคมและความน่าเชื่อถือสูง โดยประเมินจากผลงานและจุดยืนที่ผ่านมา กลุ่มนี้เคยถูกจับตาและถูกปรามจาก กกต.ว่าล้ำเส้น ส่อผิดกฎหมาย
ส่วนกลุ่มบ้านใหญ่และเครือข่าย และผู้มีบารมีทางการเมือง ถือว่ามีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งทุนทรัพย์ อำนาจและความสัมพันธ์หรือคอนเน็คชั่น ซึ่งน่าจะตรงกับที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. ระบุถึงกลุ่ม “ไวท์ คอลล่าร์ ไคร์ม” ที่มีคุณสมบัติตรงกับกลุ่มที่ว่านี้
กลุ่มนี้มักทำอะไรไม่ประเจิดประเจ้อ เน้นทำภายในกลุ่มกันเอง ตั้งแต่การจัดตั้ง เกณฑ์ผู้สมัครสว.ตั้งแต่ระดับอำเภอ การดูแลค่าเสียเวลา ค่าตัดสูทร้านเดียวกันให้แบบเสร็จสรรพ เมื่อถึงระดับประเทศ ก็ใช้วิธีจับมือประสานกับ”บ้านใหญ่”และเครือข่ายในจังหวัดอื่น ๆ เพื่อล็อคโหวต
กลุ่มนี้ถูกจัดให้เป็นฝ่ายได้เปรียบ มีโอกาส “เข้าวิน” มากกว่า ซึ่งจะส่งผลถึงโครงสร้างและกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองปัจจุบัน แต่ไม่เพียง 2-3 กลุ่มที่กล่าวถึง ยังรวมถึงภาคประชาชนที่คาดหวังจากการเลือก สว.ครั้งนี้ โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญ คือให้ได้ สว.ตัวแทนภาคประชาชน 70 คนเป็นสารตั้งต้นสำหรับแก้รัฐธรรมนูญ 2560
แต่โจทย์ใหญ่ คือจะได้ตามเป้าหรือไม่ หากทำไม่ได้ย่อมหมายถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่หลายภาคส่วนคาดหวังจะออกจากกับดักที่เป็นอยู่จะยังเป็นเรื่องยากไม่เปลี่ยนแปลง
แต่มองในแง่ดี ยังเชื่อว่า อย่างน้อยจะมีผู้สมัครอิสระน้ำดี มีได้โอกาสหลุดรอดเข้าไปทำหน้าที่เป็นวุฒิสภา เพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับเหมือนกับ สว.ส่วนหนึ่งจากการเลือกตั้ง สว.จากประชาชนเมื่อ ปี 2543
เพราะเชื่อสุดท้ายแล้ว ว่ารายชื่อที่ผ่านระดับประเทศเป็นสว.ตัวจริง คงไม่ใช่คน “บ้านใหญ่” และเครือข่ายทั้งหมด 100 % แต่ต้องแบ่งเก้าอี้เว้นวรรคให้ สว.อิสระส่วนหนึ่ง เพื่อให้เนียนตา
ดังจะเห็นชื่อคนดังบางคนตกรอบ สามารถเป็นคำอธิบายกล่าวอ้างได้ว่า เลือก สว.ครั้งเพื่อนี้มีความโปร่งใส ไม่ผิดปกติอย่างที่ถูกวิพากษ์ตั้งแต่แรก
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส ไทยพีบีเอส
อ่านข่าว : กกต.เคาะแบ่งสายเลือกไขว้ สว. คัดเหลือ 200 คน แนะใครข้องใจฟ้องศาล