ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยุติโมเดล CSR ช่วยประชาชน SCBX ตัดจบ Robinhood เซฟตัวเอง

สังคม
26 มิ.ย. 67
15:52
614
Logo Thai PBS
ยุติโมเดล CSR ช่วยประชาชน SCBX ตัดจบ Robinhood เซฟตัวเอง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อ SCBX ตัดสินใจยุติ Robinhood แม้มีคำตอบให้สังคมว่าบรรลุวัตถุประสงค์โครงการ CSR แล้ว แต่อีกมุม เรื่องของผลประกอบกิจการที่ขาดทุนมาตลอด ก็คงมองข้ามไม่ได้ เพราะนักลงทุนมักมองหาแต่ผลกำไรหาใช่ตัวเลขติดลบขาดทุนตลอดเวลา
เป้าหมายของ Robinhood คือทำให้ลูกค้าได้ใช้ประโยชน์ในธุรกิจส่งอาหาร ในอีก 3 ปีข้างหน้าอาจจะปล่อยกู้ได้ หรืออาจจะขยายธุรกิจต่อได้

คำพูดของ "ธนา เธียรอัจฉริยะ" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้บอกไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือในช่วงการผุดไอเดียส่ง "Robinhood" ตัวเล่นหน้าใหม่ลงสนามธุรกิจส่งอาหารในประเทศไทย 

Robinhood ตั้งจุดยืนให้ตัวเองว่าเป็น 1 ในโครงการ CSR ของ SCB เน้นคืนกำไรให้สังคม เป็นโมเดลธุรกิจส่งอาหารที่จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ไม่มีค่าสมัคร ไม่คิดค่า GP (Gross Profit) ร้านอาหารได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ทำให้สามารถขายอาหารที่ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม ลูกค้าได้จ่ายค่าอาหารและค่าส่งตามจริงไม่มีบวก 

กว่า 3 ปีต่อมา ในวันที่ 25 มิ.ย.2567 ออกแถลงการณ์ยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป เหตุผลคือบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิดได้ตามเป้าประสงค์ 

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ถ้าอ่านไล่ตาตามแถลงการณ์ก็มองได้แบบนั้น
แต่ต้องไม่ลืมว่านี่คือ "ธุรกิจ" ผลกำไรขาดทุนย่อมให้น้ำหนักมากกว่าความมีน้ำใจเสมอ

ลองเช็กงบกำไรขาดทุนข้อมูลปีงบการเงิน 2563-2566 ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า

  • ปี 2563 รายได้รวม 81,549 บาท รายจ่ายรวม 88,366,622 บาท ขาดทุนสุทธิ 87,829,231 บาท
  • ปี 2564 รายได้รวม 15,788,999 บาท รายจ่ายรวม 1,353,622,394 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,335,375,337 บาท
  • ปี 2565 รายได้รวม 538,245,295 บาท รายจ่ายรวม 2,522,070,078 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,986,837,776 บาท
  • ปี 2566 รายได้รวม 724,446,267 บาท รายจ่ายรวม 2,880,115,034 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,155,727,184 บาท

เอา 4 ปีมารวมกัน ขาดทุนสุทธิรวม 5,565,769,528 บาท แต่เมื่อเทียบกับบริษัทส่งอาหารรายอื่น พบว่ามีกำไรติดต่อกันอย่างน้อย ๆ ก็ 2 ปีล่าสุด แต่ข้อมูลเพียงเท่านี้ก็บอกไม่ได้ว่าบริษัทไหนมีผลประกอบการที่ดีหรือแย่กว่ากัน เพราะจุดเริ่มต้นการเข้าสู่เวทีแข่งขันนั้นต่างกัน และหากลองดูผู้เล่นในสนามธุรกิจส่งอาหาร "Robinhood" เองไม่ได้ติดอันดับแรก ๆ แอปพลิเคชันส่งอาหารที่คนไทยนิยมกดสั่งอีกด้วย 

แต่จากการประกาศยุติการประกอบธุรกิจ ก็สะท้อนได้ว่า
การให้เปล่าก็อาจจะได้เพียงความว่างเปล่ากลับมาเช่นกัน

เป้าประสงค์ที่ทาง เอสซีบี เอกซ์ ประกาศไว้อาจบรรลุในข้อช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด แต่อีกเป้ายังดูริบหรี่ เรื่องของการขยายธุรกิจ หรือการปล่อยกู้ ที่แม้จะเริ่มต้นปล่อยให้กับเหล่าไรเดอร์ Robinhood ได้กู้เงินไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ถือว่าทำกำไรตามเป้าเท่าที่ควรจะเป็น แต่ขึ้นชื่อว่าธุรกิจยังไงก็ไม่สามารถปล่อยให้ขาดทุนไปเรื่อย ๆ ได้ ยิ่งบริษัทแม่อย่าง SCBX เข้าตลาดหลักทรัพย์ การจำใจตัดเจ็บเพื่อให้จบ ยุติการดำเนินบางกิจการที่ไม่เคยสร้างกำไรให้เลย อาจช่วยให้นักลงทุนเปลี่ยนใจไม่เทขายหน่วยลงทุนก็เป็นได้  

แต่ก็ใช่ว่าจะขาดทุนจนไม่ได้กำไรกลับมาเลยเสียทีเดียว "ข้อมูลลูกค้า" ที่ลงทะเบียนไว้ผ่าน Robinhood ก็ย่อมนำไปต่อยอดให้เกิดดอกออกผลในเครือ SCBX ได้เช่นกัน เพราะธนาคารในปัจจุบันก็ไม่ได้ดำเนินการเพียงแค่รับฝาก-ถอน-โอนเงินเท่านั้นสักหน่อย 

ในสมรภูมิการแข่งขันในธุรกิจส่งอาหารออนไลน์นั้น มีความรุนแรงและน่าสนใจทั้งในระดับโลก เอเชีย และ ในประเทศไทยเอง ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมของการใช้รถจักรยานยนต์ในเอเชีย การกระจุกตัวของประชากร ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจส่งอาหารได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปแล้ว การแข่งขันในธุรกิจนี้ถูกผลักดันโดยหลายปัจจัย เช่น ความหลากหลายของร้านอาหาร, ค่าบริการและค่าธรรมเนียม, เวลาในการจัดส่ง, โปรโมชันส่วนลดต่าง ๆ และ ความน่าเชื่อถือของแอปพลิเคชัน

การแข่งขันที่รุนแรงนี้ย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพราะทำให้มีทางเลือกและไม่ถูกผูกขาดกับการใช้บริการ ในประเทศไทย มีผู้ให้บริการหลายรายที่แข่งขันกันในตลาด เช่น

  • GrabFood แอปพลิเคชันยอดนิยมที่มีร้านอาหารหลากหลายและบริการจัดส่งที่รวดเร็ว
  • LINE MAN ที่ร่วมมือกับ Wongnai เพื่อเสนอบริการที่ครอบคลุมและโปรโมชันต่าง ๆ
  • Foodpanda เป็นที่รู้จักกันดีในระดับสากล และมีโปรโมชันต่าง ๆ ที่ดึงดูดใจ
  • Robinhood เน้นการไม่เก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้าและช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย
  • ShopeeFood บริการจาก Shopee ที่เพิ่งเข้ามาในตลาด และมาพร้อมกับโปรโมชันและส่วนลดมากมาย

อ่านข่าวเพิ่ม : SCBX แจ้งยุติให้บริการแอปฯ "Robinhood" มีผล 31 ก.ค.นี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง