ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งขยายพื้นที่ปกครอง แนวเขตทับซ้อน รอยร้าวที่รอวันปะทุ ชาติพันธุ์เมียนมา

ภูมิภาค
24 มิ.ย. 67
11:26
5,979
Logo Thai PBS
เร่งขยายพื้นที่ปกครอง แนวเขตทับซ้อน รอยร้าวที่รอวันปะทุ ชาติพันธุ์เมียนมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สงครามภายในประเทศเมียนมา เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน ความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 เมื่อสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (ขณะนั้น) ได้รับเอกราชจากอังกฤษ จากนั้นสงครามภายในเมียนมาเพื่อแย่งชิงดินแดนเกิดขึ้นเรื่อยมา

ปลายปี 2566 ถึง 2567 กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติเมียนมา MNDAA หรือกองทัพโกกั้ง, กองทัพปลดปล่อยชนชาติตะอั้ง TNLA และ กองทัพอาระกัน AA จับมือเป็นพันธมิตร ในชื่อ “กลุ่มพันธมิตร 3 พี่น้อง” เปิดปฏิบัติการทางทหาร ในชื่อว่า ปฏิบัติการ 1027 (Operation 1027) เข้ายึดค่ายทหารเมียนมา และยึดพื้นที่ เมืองเล่าห์ก่าย, เมืองโก, ชินฉ่วยห่อ, น้ำคำ, พองแสง,กุ๋นหลง, ปองไส, โมนีโกเอ ,ขุนลอง ,กอลิง ,คำพัด และ รีกอดา ในเขตรัฐฉานเหนือ

ขณะนั้นกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ถูกสังคมตั้งความหวังว่า พวกเขาจะเป็นตัวฟันเฟืองที่นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร และเข้าสู่การปกครองแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย

ว่ากันว่า ปฏิบัติการ 1027 ถูกหนุนจากประเทศมหาอำนาจที่มีเขตติดต่อรัฐฉาน ที่ต้องการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ ที่ส่งผลกระทบกับประชากรของตนเองและประเทศอื่น

ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือมายังประเทศไทย, เมียนมา ,สปป.ลาว และกัมพูชา จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งได้รับความร่วมมือ แต่ประเทศเมียนมา รัฐบาลสามารถดำเนินการได้เฉพาะพื้นที่ท่าขี้เหล็ก แต่พื้นที่เขตปกครองตนเองโกกั้ง ที่ปกครองโดย 4 ตระกูล ไม่ให้ความร่วมมือ

ประเทศมหาอำนาจประเทศนี้ จึงได้ให้นาย หง เต๋อ เหยิน หรือ เผิง หย่ง เซิ่น ลูกชายนายเผิง จา เชิง (เสียชีวิตเมื่อปี 2565) อดีตผู้ปกครองโกกั้ง ที่ถูก 4 ตระกูล ซึ่งเป็นลูกน้องเก่าในขณะนั้นและกองทัพเมียนมา ร่วมยึดอำนาจ นำกำลังกองกำลังติดอาวุธโกกั้ง MNDAA พร้อมอีก 3 กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ปฏิบัติการทางทหารยึดพื้นที่รัฐฉานเหนือ

ส่วนพื้นที่รัฐกะยา กองกำลังกะเหรี่ยง KNPP และ กองกำลัง PDF ก็ขานรับปฏิบัติการ 1027 ออกปฏิบัติการโจมตีและยึดเมืองสำคัญในรัฐคะยา เช่น เมืองลอยก่อ ฯลฯ ควบคู่กัน

ถัดจากนั้น กองกำลังกะเหรี่ยง KNLA สหภาพกะเหรี่ยง KNU และ กองกำลัง PDF ก็เข้ายึดเมืองเมียวดี จากนั้นการสู้รบในหลายพื้นที่ของเมียนมา ก็เกิดเรื่อยมา

ล่าสุด (9 มิ.ย.2567) พื้นที่รัฐยะไข่ กองกำลังติดอาวุธ AA ทุ่มกำลังทหารกว่า 5 พันนาย เข้ายึดพื้นที่ อ.หม่องตอ จ.หม่องตอ ที่ติดกับประเทศบังคลาเทศ โดยพื้นที่ด้านเหนือตัวจังหวัดสามารถยึดได้เกือบหมด คงเหลือ 2 ฐาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของตำรวจตระเวนชายแดนเมียนมา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 4 กิโลเมตร

ซึ่งหาก 2 ฐานนี้แตก ก็เท่ากับกองกำลังติดอาวุธ AA สามารถนำกำลังประชิดตัวจังหวัดเลย ขณะที่พื้นที่ทางใต้ คือ อ.ตั่นต่วย เมืองปะลี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของเมียนมา การสู้รบคงมี แต่ไม่หนักเท่าพื้นที่ทางตอนเหนือ

ส่วนที่รัฐคะฉิ่น กองทัพคะฉิ่นอิสระ KIA ซึ่งมีฐานกองบัญชาการทางตอนเหนือติดชายแดนจีน ได้เสริมกำลังพล โดยให้กองบัญชาการกองพลน้อยที่ 4 เป็นหน่วยสั่งการทางยุทธวิธี เพื่อยึดพื้นที่เมืองมีต (Mong Meik) เมืองบ้านหม้อ อำเภอมันซี อำเภอไวมอ และโมม๊อกให้ได้ ทั้งตี จ.บ้านหม้อ และ อ.มันซี อ.ไวมอ อ.โมม๊อก ให้ได้เร็ววัน

โดย อ.ไวมอ เป็นหัวเมืองที่จะเข้าพื้นที่เมืองมิดจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ทำให้กองทัพเมียนมาต้องป้องกันเต็มที่ สำหรับเมืองมีต (Mong Meik) เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ ที่เชื่อมต่อรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน ภาคสไกง์ และภาคมัฑเลย์

ขณะที่รัฐชิน ยังมีการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ กับกองทัพเมียนมา หว่างทีพื้นที่ อ.ตีเต่ง เส้นทางที่จะไปประเทศอินเดีย แต่เป็นยุทธบริเวณไม่กว้างมาก ส่วนรัฐกะเหรี่ยง กองกำลังกะเหรี่ยง KNLA , กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KTLA

และกองกำลัง PDF ยังคงเดินหน้ายึดฐานทหารเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้าม จ.กาญจนบุรี หลังยึดเมืองเมียวดี แต่ภายหลังต่องยอมถอนกำลังออกจากเมือง ขณะที่รัฐมอญและรัฐอื่นๆ การสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ และกองกำลัง PDF กับกองทัพเมียนมา เกิดขึ้นประปราย

จะเห็นได้ว่าสงครามกลางเมืองเมียนมา สาเหตุเกิดจากหลายคู่ขัดแย้ง “ThaiPBS North” จะขอแบ่งคู่ขัดแย้งในสงครามกลางเมืองเมียนมา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากยุคก่อนการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ในวันที่ 1 ก.พ.2564 แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่

กลุ่มที่ 1.กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ กับรัฐบาลเมียนมา ที่ผ่านมารัฐบาลและกองทัพอ้างว่า พวกเขาพยายามลดความขัดแย้งแทบทุกวิธี ล่าสุดคือการสงบศึกเพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ

โดยเริ่มต้น พ.ศ.2553 รัฐบาลขณะนั้นมอบหมายให้ “อู อ่อง มิน” อดีตนายทหารยศ ”พลโท” ตั้งคณะทำงาน และตัวเขาได้เดินสายพูดคุยกับชาติพันธุ์ จนนำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement ) หรือ NCA ในวันที่ 15 ต.ค.2558 เริ่มแรก มี 13 ชาติพันธุ์ เข้าร่วมพูดคุย

แต่ภายหลังมี 8 ชาติพันธุ์เท่านั้น ที่ยอมลงนามในของตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ คือ แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย ABSDF ,พรรคปลดปล่อยอาระกัน ALP ,แนวร่วมแห่งชาติชิน CNF ,กองทัพกะเหรี่ยง DKBA, สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU/KNLA PC ,สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU

องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ PNLO และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA และ วันที่ 13 ก.พ.2561 คือ พรรครัฐมอญใหม่ NMSP และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ LDUโดยมีตัวแทนของประเทศ จีน อินเดีย ไทย ญี่ปุ่น สหประชาชาติ และสหภาพยุโรปเป็นสักขีพยาน

กลุ่มที่ 2 ระหว่างกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ต่างด้วยกันเอง เหตุการณ์สำคัญๆ เช่น กองกำลังติดอาวุธกองทัพสหรัฐว้า UWSA กับ กองทัพรัฐฉานใต้ SSA-S สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน

สาเหตุใหญ่ คือการขยายพื้นที่ของกองทัพสหรัฐว้า UWSA ในเขตรัฐฉานใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพรัฐฉานใต้ SSA-S ,กองกำลังปะหล่อง TNLA กับ กองทัพรัฐฉานใต้ SSA-S ในตอนกลางรัฐฉาน สาเหตุจากพื้นที่เคลื่อนไหวทับซ้อน ทั้ง 2 ฝ่ายอ้างเป็นพื้นที่ของตน

กองทัพรัฐฉานเหนือ SSA-N กับกองทัพรัฐฉานใต้ SSA-S ในพื้นที่ตอนกลางค่อนไปทางตอนเหนือของรัฐฉาน สาเหตุจาก SSA-N อ้างว่า เป็นพื้นที่ของตนเอง นอนนั้นเป็นการปะทะประปราย แต่เหตุการณ์ทั้งหมดภายหลังจบลงด้วยการเจรจายุติเหตุปะทะ

กลุ่มที่ 3 คู่ขัดแย้งล่าสุด กลุ่มพันธมิตรชาติพันธุ์ร่วมอุดมการณ์ ถือเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ในสงครามกลางเมืองเมียนมา สาเหตุมาจากการพื้นที่หลังยึดจากรัฐบาลเมียนมา ในปฏิบัติการ 1027 (Operation 1027) ช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567

โดยคู่ขัดแย้งในกลุ่มนี้ เป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ตอนบนรัฐฉาน ที่มีสัมพันธภาพกันอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น เนื่องจากส่วนใหญ่ มีรากฐานและแปรสภาพจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (ขณะนั้น) ด้วยกัน ต่อมารัฐบาลเมียนมาขณะนั้นเริ่มกระบวนการเจราสันติภาพ

กองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ตอนบนรัฐฉาน ประกอบด้วย กองทัพสหรัฐว้า UWSA ,กองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA ,กองกำลังสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ NDAA ,กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา MNDAA กองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA

กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง TNLA และกองทัพอาระกัน AA ได้ประกาศรวมกลุ่มในชื่อ คณะกรรมการเจรจาทางการเมือง ในชื่อ Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FPNCC

พร้อมออกแถลงการณ์ 12 ข้อ หนึ่งในนั้นระบุว่า ทางกลุ่มไม่ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) โดยทางกลุ่มจะหาแนวทางกระบวนการสร้างสันติภาพใหม่ และในกลุ่ม FPNCC ยังมีกลุ่มย่อย

ประกอบด้วย กองทัพคะฉิ่นKIA กองทัพโกก้าง MNDAA กองทัพตะอั้ง TNLA และกองทัพอาระกัน ใช้ชื่อว่า “พันธมิตรภาคเหนือ” ร่วมสู้รบกับกองทัพมาตั้งแต่เมื่อปลายปี 2559

หลังปฏิบัติการ 1027 ของ กองกำลังโกกั้ง MNDAA กองกำลังตะอั้ง TNLA และกองอาระกัน AA เริ่มเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งในกลุ่มด้วยกันเอง ระหว่างกำลังพลระดับปฏิบัติการ ของกองกำลังโกกั้ง MNDAA ,กองกำลังตะอั้ง TNLA ซึ่งเป็นสมาชิกร่วมรบในนามกลุ่มพันธมิตร 3 พี่น้อง ในปฏิบัติการ 1027 ด้วยกันเอง

และยังมีกองกำลังคะฉิ่น KIA ซึ่งไม่ได้รบในปฏิบัติการ 1027 แต่เป็นสมาชิกในกลุ่ม FPNCC ด้วยกัน โดยต่างฝ่ายต่างอ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมืองกูดขาย ,เมืองน้ำตู้ ตอนบนรัฐฉาน

การอ้างสิทธิ์ในพื้นที่เมืองกูดขาย ,เมืองน้ำตู้ ของกองกำลังติดอาวุธ 3 กลุ่มพันธมิตร FPNCC และมีท่าทีบานปลาย ทำให้ “เปาโหย่งฉ่าง” “กองทัพสหรัฐว้า UWSA ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม FPNCC และสมาชิกในกลุ่มต้องพูดคุยเจรจา 3 กลุ่ม

เพราะเหตุการณ์เริ่มเข้าจุดบานปลายต่างฝ่ายต่าง ตัดสินใจจะใช้กำลังทหารตัดสิน และที่สำคัญคือภาพลักษณ์ของกลุ่มจะเสียหาย ไม่มีความเป็นเอกภาพต่อสังคมภายนอก

แม้ว่า ต่างฝ่ายต่างยอมชะลอปฏิบัติการทางทหาร เพื่อรอการเจรจา แต่ทหารระดับปฏิบัติการที่กำลังฮึกเหิมในชัยชนะหลังปฏิบัติการ 1027 ที่เหนือต่อกองทัพเมียนมา ยังคงติดใจเรื่องนี้ และพร้อมเปิดศึกระหว่างกลุ่มพันธมิตร หากผู้บริหารพูดคุยไม่ลงตัว

ปลายเดือน พ.ค.2567 สื่อท้องถิ่นได้รายงานข่าว กำลังพลของกองพลน้อยที่ 1 กองกำลังตะอั้ง TNLA พร้อมอาวุธ พยายามเข้าไปปลดอาวุธของทหารกองกำลังรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ประมาณ 100 นาย จากฐานปฏิบัติการในพื้นที่เมืองน้ำคำ พร้อมบังคับให้ขึ้นรถที่เตรียมให้จำนวน 10 คัน โดยทั้งสองฝ่ายได้กระทบกระทั่งกัน

แต่ท้ายที่สุดกองกำลังรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ยอมออกจากพื้นที่ไปพื้นที่เมืองหมู่เจ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองกำลังรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA แม้เมืองน้ำคำ จะเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวก่อนที่จะมีปฏิบัติการ 1027

โดยกองกำลังตะอั้ง TNLA ให้เหตุผลเรื่องนี้ว่า เมืองน้ำคำ เป็นพื้นที่กองกำลังตะอั้ง TNLA ยึดได้จากเมียนมาในปฏิบัติการ 1027 และกองกำลังรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในปฏิบัติการ 1027 จึงไม่มีสิทธิ์ในพื้นที่เมืองน้ำคำ การส่งทหารกองกำลังรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA

หลังเหตุการณ์ กองกำลังรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ได้ออกแฉลงการณ์ และโฆษกกองทัพ ได้ออกมาโต้ว่า “ที่ผ่านมา SSPP ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมาหลายปี เพื่อสร้างระบบประชาธิปไตยของรัฐบาลกลางที่แท้จริง และรักษาหลักการ "อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างกลุ่มพันธมิตร หากกองกำลังตะอั้ง TNLA ไม่ต้องการ ที่จะอยู่ร่วม กันอย่างสันติอาจทำให้เกิดการแก้ปัญหาทางทหารที่ไม่พึงประสงค์ได้”

ขณะเดียวกันกองกำลังรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยัง “เปาโหย่งฉ่าง” “กองทัพสหรัฐว้า UWSA ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม FPNCC เพื่อให้สมาชิกกลุ่ม FPNCC พิจารณาเรื่องนี้เร่งด่วน

ข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ในกลุ่มพันธมิตร FPNCC ในพื้นที่ยึดได้ในเขตปฏิบัติการ 1027 ขณะนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ของตอนบนรัฐฉาน และเมื่อไม่นานนี้ “เปาโหย่งฉ่าง” ประธานกลุ่ม FPNCC ได้ทำหนังสือร้องขอให้กลุ่มขัดแย้งเข้ามาพูดคุยกันการประชุม FPNCC ยุติการให้ข่าว และใส่ร้ายซึ่งกันและกัน เนื่องจากเกรงว่า เหตุการณ์จะบานปลาย ก่อเกิดการขัดแย้งอย่างรุนแรงในกลุ่ม FPNCC ทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มเสียหาย

พื้นที่รัฐฉานตอนบน วันนี้กลายเป็นพื้นที่หมายปองของชาติพันธุ์ เพื่อที่ขยายเขตอิทธิพล-ปกครอง ให้กลุ่มเข็มแข็ง และพื้นที่รัฐฉานตอนบนแห่งนี้ ในอนาคตข้างหน้านี้จะกลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งแห่งใหม่ของกลุ่มพันธมิตรที่คบหากันมายาวนาน เพียงแต่รอการจุดชนวนเท่านั้น

รายงาน : ทีมข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง