ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สงครามแยกแผ่นดินเมียนมา ทำยาเสพติดทะลักไทย

ภูมิภาค
23 มิ.ย. 67
18:00
2,331
Logo Thai PBS
สงครามแยกแผ่นดินเมียนมา ทำยาเสพติดทะลักไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“สงครามแยกแผ่นดิน เมียนมา สะเทือนไทย” หัวข้อ “กระทบกับไทยอย่างไร” ตอนที่ 2

ขอเริ่มที่ยาเสพติด เนื่องจากวันที่ 26 มิถุนายน 2567 นี้ ทั่วโลกถือว่าเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก และจากสถิติพบว่ามีจำนวนยาบ้าที่ไทยตรวจยึดเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผ่านๆมากว่าร้อยละ 146.24 หรือ 146.24 เปอร์เซ็นต์ และ ไอซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 หรือ 47 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณอย่างมีนัยยะ

“ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ไทยพีบีเอส” ตรวจสอบกับผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดระหว่างประเทศ พบว่า จุดพักยาเสพติดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย มียาบ้าไม่ต่ำกว่า 90 ล้านเม็ด และ ไอซ์กว่า 2 ตัน

รวมทั้งอยู่ระหว่างการขนย้ายจากโรงงานผลิตยาเสพติด ของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ใหญ่อันดับต้นๆของเมียนมา ในพื้นที่รัฐฉานเหนือ กระจายมาไว้ในฐานปฏิบัติการทางทหารของของตนเองในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เพื่อรอส่งต่อให้กับขบวนการค้ายาเสพติดในประเทศที่จะมารับตามแนวเขตชายแดน

ซึ่งกระบวนการส่งมอบจะมีกองกำลังติดอาวุธคุ้มกันทุกครั้ง ทำให้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ประเทศไทยหลายครั้งในระหว่างการขนเพื่อส่งมอบให้ขบวนการค้ายาเสพติดในประเทศ

นอกจากนี้ ยังพบมีการเคลื่อนไหวอย่างผิดสังเกตของ เจ้าหน้าที่ของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ใหญ่ทางตอนเหนือรัฐฉาน ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานกับขบวนการค้ายาเสพติด ในพื้นที่ท่าเรือสบหลวย ในเขตปกครองพิเศษที่ 4 (เมืองลา) รวมทั้งการเคลื่อนไหวของบุคคลที่มีประวัติในการขนย้ายยาเสพติดทางเรือ

ทั้งนี้ท่าเรือสบหลวย เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าแม่น้ำโขงตอนบนที่สำคัญ ต้นทางอยู่ที่ท่าเรือกวนเหล่ย เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนาน สป.จีน ปลายทางคือ ท่าเรือเชียงแสน ประเทศไทย

ที่ผ่านมาแม่น้ำโขงเป็นอีก 1 เส้นทาง ที่ใช้ลำเลียงยาเสพติดจากรัฐฉานตอนบน โดยขบวนการค้ายาเสพติดจะขนยาเสพติดมากับเรือขนส่ง ปลายทางท่าเรือมังกร เมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว หรือ ขนลงพักในพื้นที่บ้านป่าแลว เมืองเชียงราบ ฝั่งเมียนมา เพื่อรอการขนข้ามฝั่งน้ำโขงเข้าไปในเขต สปป.ลาว เพื่อขนต่อเข้าทาง อ.เวียงแกน จ.เชียงราย หรือ ไปเข้าในพื้นที่ภาคอีสาน ประเทศไทย

สอดคล้องกับข้อมูลของ หน่วยหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคเหนือ ที่ระบุว่า เดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม มีการตรวจยึดยาเสพติดครั้งใหญ่ในพื้นที่ แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ด้านตรงข้าม อ.เทิง จ. เชียงราย ทำให้ระบุได้ว่า เส้นทาง อ.เวียงแก่น อ.เทิง จังหวัดเชียงรายยังเป็นเส้นทางสำคัญในการขนย้ายเข้าประเทศ และยังมีปริมาณยาเสพติดพักคอยเพื่อรอการขนย้าย

สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนด้านจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย เริ่มทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้ปีพ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2561 รัฐบาลไทยกำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเริ่มค้ายาเสพติดเพื่อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับเพิ่มศักยภาพและพัฒนากองกำลังของตน

“ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ไทยพีบีเอส” จะขอสำรวจคร่าวๆ ว่า ใครผลิต ใครเกี่ยวข้อง และเส้นทางลำเลียงเข้าประเทศไทย ขบวนการค้าเสพติดนิยมใช้เส้นทางไหน

ในอดีตเงื่อนไขสำคัญในการมอบพื้นที่เขตปกครองพิเศษให้กับชาติพันธุ์พันธมิตรของเมียนมา คือการพัฒนาความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ในพื้นที่ให้ดีกว่าสภาพเดิม เป็นเหตุเจ้าของพื้นที่ต้องไปเกี่ยวข้องหรือผลิตยาเสพติด เพื่อนำเงินมาเพิ่มศักยภาพพื้นที่ และประชาชน รวมทั้งพัฒนากองกำลังของตน

และเมื่อมีครบทั้งพื้นที่ปกครองหรือพื้นที่อิทธิพล และกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ปัจจัยหลักที่ผู้ผลิตยาเสพติดต้องมี ทำให้ชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มเริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตยาเสพติดทันที

ในที่นี้จะขอแบ่งผู้ผลิตยาเสพติด เป็น 2 ส่วน คือ
1. ผู้ผลิตหลัก
2. ผู้ผลิตรอง

ผู้ผลิตหลัก - พื้นที่พัฒนา น้ำติ๊ด หรือ น้ำตั้ด เมืองโหปัง 1 แห่ง , พื้นที่พัฒนาหนองเขียว 1 แห่ง และพื้นที่พัฒนาน้ำป่างเขตปดครองพิเศษที่ 4 ความสามารถผลิต เฮโรอีน ยาบ้าแบบเม็ดสำเร็จรูป ยาบ้าแบบผง และไฮซ์,

โดยผู้ผลิตหลัก 2 รายแรก เมื่อผลิตแล้วส่งต่อให้หน่วยทหารในสังกัดพื้นที่ บ้านห้วยอ้อ, เมืองจ็อด ,เมืองทาใหม่ เขตรัฐฉานใต้ และกลุ่มเครือข่าย ชายแดนตรงข้ามจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่

ส่วนผู้ผลิตหลักรายที่ 3 จะส่งไปพักพื้นที่ชายแดนตรงข้ามจังหวัดเชียงราย เพื่อรอส่งเข้า สสป.ลาว รวมทั้งส่งยาบ้าแบบผง ไปแหล่งผลิตรองบ้านน้ำรวก ชายแดนตรงข้ามจังหวัดเชียงราย

ผู้ผลิตรอง เป็นโรงงานขนาดกลาง บางครั้งรับยาบ้าแบบผง จากผู้ผลิตหลักมาผลิตต่อ แหล่งผลิตในเมืองกุนฮิง รัฐฉานเหนือ ,ดอยสามสูง เมืองสาด ,เมืองทาใหม่ ,เมืองนาย จ.ดอยแหลม ,บ้านอีก้อปางหิน เมืองก๊ก จ.ท่าขี้เหล็ก ,บ้านปู่นาโก-บ้านแม่โจ๊ก จ.ท่าขี้เหล็ก บ้านน้ำปุ๋ง เมืองกาน,บ้านปงถุน จ.ท่าขี้เหล็ก ,ขุนน้ำลวก เมืองไฮ ,บ้านผาวอก-ผ้าขาว จ.ท่าขี้เหล็ก ,บ้านหัวป่าง บ้านหัวยอด ,บ้านน้ำฮูโป่งตอง และบ้านหนองปลาดำ

ด้วยแนวชายแดนประเทศไทยและประเทศเมียนมา ติดต่อกันประมาณ 2401 กิโลเมตร ตั้งแต่ตรงข้ามจังหวัดเชียงราย ถึงจังหวัดระนอง และในส่วนจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนมีความยาวประมาณ 718 กิโลเมตร ทำให้ขบวนการสามารถลับลอบนำเข้าประเทศได้ง่าย ตลอดเส้นทาง แต่ที่นิยมยังจะเป็นช่องทางธรรมชาติ

 ส่วนแหล่งพักคอยยาเสพติดเพื่อรอเข้าประเทศไทยที่สำคัญยังคงเป็นพื้นที่

-บ้านปูนาโก่ และบ้านแม่โจ๊ก ด้านตรงข้ามอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

-เมืองยองปัง ด้านตรงข้ามอำเภอแม่อาย/บ้านนากองมูด้านตรงข้ามอำเภอฝาง/บ้านโป่งป่าแขม ด้านตรงข้ามอำเภอชัยปราการ/และอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
-บ้านหัวเมือง ด้านตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พล.ต.นิรันดร์ชัย ทิพย์กาญจนกุล รอง ผบ.นบ.ยส.35 (หน่วยหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคเหนือ) ระบุว่า จากความเข้มข้นในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพของไทย ทำให้กลุ่มขบวนการปรับเปลี่ยนเส้นทางและรูปแบบลักลอบขนยาเสพติด รัฐบาลไทยจึงประกาศพื้นที่ชายแดนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพิ่มเติม ที่จากเดิมมีทั้งหมด 11 อำเภอ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา

พล.ต.นิรันดร์ชัย ทิพย์กาญจนกุล รอง ผบ.นบ.ยส.35
(หน่วยหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคเหนือ)

พล.ต.นิรันดร์ชัย ทิพย์กาญจนกุล รอง ผบ.นบ.ยส.35 (หน่วยหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคเหนือ)

 

คือ 1.อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2.อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย 3.อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา 4.อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน 5.อำเภอแม่สอด และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับชายเเดนเมียนมา ให้เป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเเก้ไขปัญหายาเสพติดเพิ่มเติม

พร้อมบูรณาการให้ตำรวจรับผิดชอบพื้นที่ชายแดน เเละพื้นที่ตอนในในการจับกุม ขยายผลยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด และ ป.ป.ส.เน้นสร้างความเข้มเเข็งในชุมชน 139 หมู่บ้านผ่านฝ่ายปกครอง

ล่าสุดจากการที่ไทยมีนโยบายเข้มในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พบว่าขบวนการยาเสพติดได้เริ่มใช้ 3 เส้นทางขนเพื่อขนถ่ายเข้าไทย มีกองกำลังติดอาวุธที่เป็นกลุ่มพันธมิตร และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) บางส่วนให้การช่วยเหลือ คือ

1.ผ่านลาว เข้าภาคอีสาน ปัจจุบันแป็นเส้นทางที่นิยม เนื่องจาก ด่านยาเสพติด ในพื้นที่ภาคอีสานน้อย จากนั้นกระจายส่งต่อแหล่งพัก เพื่อส่งต่อลูกค้า

2.ลำเลียงตามพื้นที่ถนนรองจากภาคเหนือรัฐฉาน เป้าหมาย เมืองทวาย เข้าจังหวัดกาญจนบุรี

3.ลำเลียงตามพื้นที่ถนนรองจากภาคเหนือรัฐฉาน เป้าหมายพื้นที่อิทธิพลกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ุในจังหวัดตาก

สำหรับการลำเลียงยาเสพติดไอซ์ และเคตามีน จะหลีกเลี่ยงเส้นทางภาคเหนือ เนื่องยาเสพติดมีจำนวนมาก หากตรวจยึดได้จะไม่คุ้มทุน เนื่องจาก ต้นทุนสูงกว่า ยาบ้า หรือเฮโรอีน หลายสิบเท่าตัวตัว เมื่อไอซ์ และเคตามีน จะเข้าไทย จะมีขบวนการในประเทศ ลำเลียงซุกซ่อนมากับสินค้า เช่น เหล็กเส้น ,ปูนซีเมนต์ ซึ่งจะเป็นสินค้าที่หนัก ขนาดใหญ่ ยากต่อการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญจะใช้รถที่ขนส่งเส้นทางนั้นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกตของเจ้าหน้าที่

 

เมื่อรวบรวมของได้ จะลำเลียงลงเรือพาณิชย์ โดยเป้าหมายที่แท้จริงของขบวนการไม่ใช่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่คือ ญีปุ่น ,นิวซีแลนด์ ,สหรัฐอเมริการ และประเทศตะวันตก

การสกัดกั้น ตรวจยึดยาเสพติดในช่วง 2566-2567(ปัจจุบัน)
พื้นที่ชั้นนอก บริเวณชายเเดน มีการปะทะกับกลุ่มขบวนการฯจำนวน 36 เหตุการณ์ โดยโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ชายแดนของอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

พื้นที่ชั้นในประเทศ มีทั้งหมด 54 เหตุการณ์ ผ่านการปิดล้อมตรวจค้น และขยายผลยึดทรัพย์กลุ่มกลุ่มขบวนการรายสำคัญจำนวน 5 เหตุการณ์

สถิติการจับกุมตรวจยึด ยาบ้า 179 ล้านเม็ด ไอซ์จำนวน 1890 กิโลกรัม กลุ่มขบวนการเสียชีวิต 25 ศพ อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในห้วงเวลาเดียวกัน พบว่าการตรวจยึดยาบ้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว อยู่ที่ร้อยละ 161 ส่วนไอซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 47

“ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ไทยพีบีเอส” จะคงเกาะติดและเจาะลึก 5 ผลกระทบที่ได้ประเทศไทย ได้รับจากสงครามภายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างละเอียด มานำเสนอทุกวันเสาร์-วันอาทิตย์ ต่อไป โดยสัปดาห์หน้าจะเจาะลึกประเด็นผลกระทบเศรษกิจกับประเทศไทย

รายงาน : ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง