สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯรอบใหม่ สนค.ชี้โอกาสส่งออกสินค้าไทย

เศรษฐกิจ
22 มิ.ย. 67
14:48
505
Logo Thai PBS
สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯรอบใหม่ สนค.ชี้โอกาสส่งออกสินค้าไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สนค. เผย สงครามการค้ารอบใหม่จะกระทบเศรษฐกิจการค้าโลกและไทย แต่ยังมีโอกาสสอนค้าอุตสาหกรรม “เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก อะลูมิเนียม ถุงมือยาง” ขยายตัวสูง แนะช่วงชิงโอกาสรุก 2 ตลาดเพิ่ม

วันนี้ (22 มิ.ย.2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สงครามการค้า ระหว่าง จีนกับสหรัฐฯ รอบใหม่ จะยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกในภาพรวม อีกทั้งจะต้องติดตามการดำเนินการของจีนที่อาจตอบโต้สหรัฐฯ

ผลกระทบรอบนี้ไม่น่าจะรุนแรง เมื่อเทียบกับสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในปี2561 ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและมูลค่าการค้าโลกหดตัวอย่างชัดเจนในปี2562

โดยสินค้าทไทยที่ได้อานิสงส์ในการส่งออกทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยาง และจะไม่มีผลต่อรถยนต์ไฟฟ้าของไทย เพราะกลุ่มลูกค้าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอยู่ในอาเซียนและโอเชียเนีย

ยังต้องติดตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือสินค้าที่สหรัฐฯ จับตา อย่าง โซลาร์เซลล์ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เฝ้าระวังการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นและกำลังการผลิตส่วนเกินจากประเทศในอาเซียน

ผอ.สนค. กล่าวอีกว่า เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าจีน มีจำนวน 14 รายการ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์ และกระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา และส่วนประกอบของแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ EV และรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์ EV กราไฟต์ธรรมชาติ แร่ธาตุสำคัญ แม่เหล็กถาวร เครนขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์หน้าท่า เหล็กและอะลูมิเนียม หน้ากาก และถุงมือยางชนิดที่ใช้ทางการแพทย์

สำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูง มี 4 รายการสินค้า ได้แก่ โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยาง คาดเซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และถุงมือยางที่น่าไทยได้ประโยชน์จากการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน

จากสถิติการค้าปี2566 พบว่า สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ถุงมือยาง และโซลาร์เซลล์รายใหญ่เบอร์ 1 ของโลก และนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์สูงที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และเมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าของสหรัฐฯ พบว่า สหรัฐฯ นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่มาจากประเทศในอาเซียนและเอเชียตะวันออก

โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 5 มูลค่าการนำเข้า 2,322 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 5.6% ของมูลค่าการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของสหรัฐฯ) หดตัว 29.6% ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 6 มูลค่าการนำเข้า 1,960 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 4.7%) หดตัว 10.0%

ผอ.สนค. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา การค้าสหรัฐฯ-จีนลดลงชัดเจน และนำเข้าสินค้าทดแทนจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น มูลค่าการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีนหดตัว 16.6% ในปี2562 แม้ต่อมามีการขยายตัวในบางปี แต่การนำเข้ากลับมาหดตัวสูงอีกครั้งที่ 20.3% ในปี2566 และส่วนแบ่งตลาดของจีนในสหรัฐฯ ลดลงถึง 7.7% ในช่วงปี2560-2566

โดยปี2566 จีนเสียตำแหน่งแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ที่ยาวนานต่อเนื่อง 14 ปี ให้แก่ เม็กซิโก ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของจีนจากสหรัฐฯ หดตัว 20.8% ในปี2562 แม้ต่อมาการนำเข้ามีการขยายตัวในปี2563-2564 แต่การนำเข้าจากสหรัฐฯ กลับมาหดตัว 0.4% และ 6.5% ในปี2565-2566 และส่วนแบ่งตลาดของสหรัฐฯ ในจีน ลดลง 1.9%

ทั้งนี้ หลังการเกิดสงครามการค้า ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 1.3% เป็น 1.8% โดยสินค้าไทยที่สามารถส่งออกทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ของใช้ในบ้านและสำนักงาน สิ่งพิมพ์ และอุปกรณ์อื่น ๆ และส่วนประกอบของยานยนต์

ขณะที่สินค้าไทยที่สามารถส่งออกทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน เช่น ของใช้ในบ้านและสำนักงาน สิ่งพิมพ์ และอุปกรณ์อื่น ๆ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ

ทั้งนี้สนค. แนะแนวทางรับมือและช่วงชิงโอกาสจากสงครามการค้า โดยช่วงชิงโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง โดยเร่งขยายการค้าและการส่งออก จากที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ทดแทนจีน เร่งดึงดูดการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และเร่งดึงดูดคนเก่งที่ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งรวมถึงการดึงดูดคนเก่งที่มีแนวโน้มออกจากจีน

การเตรียมรับมือกับผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น โดยติดตามสถานการณ์แนวโน้มทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่อาจส่งผลต่อการค้าไทย ดำเนินมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ในกรณีที่มีสินค้าราคาถูกไหลทะลักเข้ามาในประเทศอย่างเหมาะสม และลดความผันผวนทางการค้าและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยกระจายตลาดส่งออกและเพิ่มความหลากหลายของแหล่งนำเข้า

ผอ.สนค. กล่าวว่า การปรับตัวตามทิศทางแนวโน้มโลก ให้สอดรับกับการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการยึดโยงอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ และจีน เช่น ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานสำคัญกับสหรัฐฯ และจีน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์) ยานยนต์สมัยใหม่ และพลังงานสะอาด ปรับโครงสร้างสินค้าด้วยการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูง

การปรับกลยุทธ์การส่งออกของไทย ด้วยการเปิดตลาดใหม่ และขยายการส่งออกในตลาดจีน ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้า และปรับตัวสำหรับระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะประเด็นด้าน ESG

นอกจากนี้การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาทักษะด้านภาษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ทั้งการผลิต การค้า และการลงทุน เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนที่มีแนวโน้มย้ายสู่อาเซียนมากขึ้น

อ่านข่าว:

“ราคาทองคำ” วันนี้ ร่วงแรง 450 บาท ตลาดผันผวนหนัก แนะเก็งกำไรระยะสั้น

เบื้องลึกประมูล "ฟอกข้าวเก่า 10 ปี" ยากปิดจ็อบ "ยิ่งลักษณ์" รับจำนำข้าว

เศรษฐกิจโลกฟื้น ดันส่งออกไทย พ.ค.โต 7.2%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง