วันนี้ (21 มิ.ย.2567) ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักธรรมชาติวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา และระบบนิเวศน้ำจืด ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส เกี่ยวกับ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ว่า พื้นที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวง แต่อ่างฯ ไม่ได้สร้างกั้นลำน้ำสายที่ไหลตรงออบหลวง แต่กั้นแม่น้ำสายเล็ก ๆ ชื่อน้ำแม่ฮอด
ปัจจุบันน้ำแม่ฮอดเป็นน้ำสายเล็ก ๆ ที่ทุกปีมักจะแห้งจนหยุดไหลในฤดูแล้ง แม่น้ำสายนี้ไหลลงแม่น้ำปิง ก่อนที่น้ำปิงจะไหลลงทะเลสาบดอยเต่าและเขื่อนภูมิพลต่อไป
โครงการขนาดเล็กไม่ต้องทำ EIA (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) แต่ต้องทำ IEE (การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น) แต่ก็ครอบคลุมทุกมิติคล้าย EIA แม้พื้นที่รับน้ำทั้งหมดของแม่ฮอด จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่เป็นป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นป่าแห้งตามธรรมชาติอยู่แล้ว บวกกับพื้นที่ป่าไม่สมบูรณ์นัก
อ่านข่าว : รู้จัก "อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด" หลังเพิกถอนพื้นที่ป่า อุทยานฯ ออบหลวง
เนื่องจากมีการปล่อยปละละเลยให้ชาวบ้านนำวัวเข้าไปเลี้ยง คาดการได้ว่า มีการเผาป่าเพื่อให้พื้นที่ป่าโล่งในฤดูแล้ง และมีหญ้าขึ้นให้วัวกินในฤดูฝน วัวควายกำลังเป็นปัญหาในป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย
สัตว์ป่าที่น่าสนใจที่สำรวจพบคือ นกยูงไทย ซึ่งในปัจจุบัน แม้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่แต่ก็ยังเป็นนกหายาก นอกจากนี้ทำให้เสียพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ 253 ไร่ เสียไม้ใหญ่ยืนต้น 4,788 ต้น ลูกไม้/กล้าไม้ 402,120 ต้น และยังไม่นับความหลากหลายทางชีวภาพอีกมากมาย
ดร.นณณ์ กล่าวว่า อ่างฯไม่ได้ผลิตกระแสไฟฟ้า อ่างฯไม่ได้ช่วยเรื่องน้ำท่วม เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วม ในการศึกษาระบว่า ฝายที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินจากตะกอนทราย และทำให้ตลิ่งพัง แต่ในงบประมาณของเขื่อน ก็ยังมีงบสร้างฝายมูลค่าการลงทุน 532.665 ล้านบาท
พื้นที่ส่งน้ำเป้าหมายทั้งหมดอยู่ริมแม่น้ำปิง บางส่วนอยู่ติดกับทะเลสาบดอยเต่า มีสถานีสูบน้ำและคูส่งน้ำอยู่แล้ว สร้างอ่างฯ เพื่อเติมน้ำเข้าระบบสูบน้ำเฉยๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กกว่าน้ำปิงหลายเท่า
ตัวเลขคือ อ่างเก็บน้ำได้ 3.31 ล้านลูกบาศก์เมตร อัตราการไหลเข้าของปริมาณน้ำท่า รายปีเฉลี่ย 11.86 ล้าน ลบ.ม./ปี ในขณะที่น้ำปิงตรงนั้นในฤดูน้ำหลาก มีอัตราการไหลของน้ำได้ถึง 100 ล้าน ลบ.ม./วัน
น้ำปิงหน่วยเป็น “วัน” ของน้ำฮอด หน่วยเป็น “ปี” พัฒนาระบบสูบน้ำ และส่งน้ำที่มีอยู่เดิม ไม่เสียพื้นที่ป่าและถูกกว่าการสร้างเขื่อนมาก
พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ ร้อยละ 74 ในพื้นที่รับน้ำปลูกลำไย การศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ผลตอบแทนทางการเกษตรของพื้นที่ปลูกไม้ผลในปัจจุบัน มีผลตอบแทนสุทธิปีละ 8.31 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 38.469 ล้านบาทตั้งแต่ปีแรก คือเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินโครงการ โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าเพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร
ดร.นณณ์ ตั้งข้อสังเกตโครงการว่า ผลประโยชน์ที่เพิ่มอย่างมาก โดยไม่ได้มีการอธิบายเหตุผลใด ๆ จากสวนลำไยนี้ กลายมาเป็นผลประโยชน์ของอ่าง โดยคิดเป็นร้อยละ 54 ของผลประโยชน์ทั้งหมด
โครงการเขียนให้ปลูกป่าทดแทนป่าที่เสียไปจำนวน 506 ไร่ โดยไม่มีการระบุตำแหน่งป่าที่จะปลูกแต่อย่างใด เขียนแต่เพียงว่าจะ “ใช้พื้นที่รกร้างหรือที่สาธารณะบริเวณใกล้เคียง” ซึ่งตามหลักแล้วควรต้องมีการระบุตำแหน่งที่ชัดเจน
ตามหลักทั่ว ๆ ไปแล้ว ไม่ควรนำผลประโยชน์จากการปลูกป่า มารวมเป็นผลประโยชน์ของโครงการสร้างอ่าง เพราะเป็นคนละเรื่องกัน คือถ้าตัวโครงการอ่างฯ ไม่คุ้มทุน ก็คือไม่คุ้มทุนไหม? เพราะถ้าตัดผลประโยชน์ส่วนนี้ออก โครงการนี้ก็ไม่คุ้มทุน
อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากป่าไม้ มูลค่า 572 ล้านบาท ก็ถูกคิดรวมมาอยู่ในฝั่งผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมด้วย ผลประโยชน์ส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 16 ของผลประโยชน์โครงการทั้งหมด ด้วยตัวเลขการเพิ่มผลประโยชน์ของสวนลำไยอย่างมาก ที่ไม่มีคำอธิบาย และมูลค่าจากป่าปลูกทดแทนที่ยังไม่มีพื้นที่ชัดเจน
เศรษฐศาสตร์โดยรวมของโครงการผ่านค่าควบคุมต่าง ๆ มาไม่มากนัก และมีความเปราะบางมาก เช่นถ้าเขื่อนสร้างเสร็จช้าไปปีเดียว ก็ขาดทุนแล้ว
โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด หมู่ 2 บ้านแพะดินแดง ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กรมชลประทานได้ขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง 253 ไร่ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เริ่มมีการสำรวจ วันที่ 7 ต.ค.2540 และจัดทำรายงานวางแผนโครงการ จัดทำแล้วเสร็จปี 2541
ลักษณะโครงการ
อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด เป็นชนิดเขื่อนถมดินชนิดแบ่งส่วน สันเขื่อนมีความสูง +309 เมตร (รทก.) มีความกว้าง 10 เมตร ยาว 290 เมตร ส่วนที่สูงสุด 43 เมตร มีพื้นที่รองรับน้ำฝน 36 ตร.ม. จากฝนเฉลี่ย 1003 มม./ปี
จุน้ำได้สูงสุด 3,760,456 ลบ.ม. และมีถนนเข้าโครงการกว้าง 6 เมตร ยาว 2,200 เมตรค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง รวม 532.655 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 522 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 7.665 ล้านบาท
พื้นที่ได้รับประโยชน์
โครงการมีระบบชลประทานรวม 11.69 กม.พื้นที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์ 4 หมู่บ้าน หมู่ 1,2,4,5 อบต.ฮอด จ.เชียงใหม่ รวม 341 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 4,442 ไร่ ฤดูฝน 2530 ไร่ ฤดูแล้ง 653 ไร่
สำหรับการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติออบหลวง บางส่วน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37239 ระหว่างวันที่ 10-24 มิ.ย.2567
อ้างอิง: รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (รายงานฉบับสุดท้าย)
อ่านข่าว : เปิดรับความเห็นถึง 24 มิ.ย.โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด การลงทุนที่คุ้มค่า?