เบื้องลึกประมูล "ฟอกข้าวเก่า 10 ปี" ยากปิดจ็อบ "ยิ่งลักษณ์" รับจำนำข้าว

เศรษฐกิจ
20 มิ.ย. 67
18:09
4,796
Logo Thai PBS
เบื้องลึกประมูล "ฟอกข้าวเก่า 10 ปี" ยากปิดจ็อบ "ยิ่งลักษณ์" รับจำนำข้าว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ทันทีที่การเปิดซองเสนอราคาข้าวใน 2 โกดังที่ จ.สุรินทร์ ปริมาณ 15,012 ตัน หรือ 145,590 กระสอบ สปอตไลท์ทุกดวงก็สาดส่องมาที่ "วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง" เป็นใคร มาจากไหน หลังเข้าวินในโค้งสุดท้ายกลายเป็น "ม้ามืด" คว้าข้าวสารหอมมะลิในโครงการรับจำนำแซงหน้า "คู่แข่ง" อีก 6 ราย และตัวเก็งอย่าง "ธนสรรไรซ์" ที่หลายคนมองว่าต้องเป็นผู้ที่สามารถประมูลข้าวล็อตสุดท้ายนี้ไปได้อย่างชนิดที่เรียกว่า "หักปากกาเซียน" ไปตามๆ กัน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เคยกล่าวว่า การที่มีผู้สนใจมาซื้อข้าว ถือเป็นตัวสะท้อนได้ดีว่าข้าวไม่ได้มีปัญหาอะไรแม้จะเก็บมานาน แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดเก็บและผู้ซื้อเองก็ต้องนำไปปรับปรุงต่อ

คาดว่าจะนำเงินกลับเข้ารัฐ ได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท นับเป็นการปิดตำนานโครงการจำนำข้าวได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำงานตามหน้าที่ โดยเฉพาะการสะสางงานที่คั่งค้างอยู่ในฐานะที่มานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ก่อนหน้านั้น ช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม ได้จัดคาราวานเชิญทั้งสื่อมวลชน ผู้ส่งออก โรงสี ผู้ที่สนใจ เปิดโกดังข้าวที่จ.สุรินทร์ จัดอีเวนต์ใหญ่ชิมข้าวอายุ 10 ปี เพื่อการันตีว่า ข้าวสารหอมมะลิในโกดัง 10 ปี ยังสามารถรับประทานได้ซึ่งมีทั้งเรียกตอบรับ และเสียงคัดค้านขรมว่า ข้าวดังกล่าวมีสารตกค้าง ที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพคนรับประทานแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการด้านข้าวและสินค้าเกษตร นำตัวอย่างข้าวที่ได้รับจากสื่อมวลชนไปทดสอบ พบว่ามีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งไม่ควรนำมาบริโภค

แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ยอมส่งข้าวดังกล่าว ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบผลออกมาว่า ข้าวมีสารอาหารครบถ้วนสามารถรับประทานได้ สร้างความสงสัยให้กับสังคมว่า แท้จริงแล้วผลสอบของใครกันแน่ที่เป็นจริง

เปิดโกดังประมูลประมูลข้าว 10 ปี "วีเอทฯม้ามืด" เข้าวิน

นายภูมิธรรม ในฐานะรมว.พาณิชย์ ได้ออกร่างประกาศทีโออาร์ประมูลข้าวอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการประมูลข้าวในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ ปี 2561 ที่มีการประมูลครั้งสุดท้าย และครั้งนี้ มีเอกชนที่สนใจมายื่นซองมากถึง 8 ราย ทั้งผู้ส่งออก โรงสี และกลุ่มเอทานอล

เมื่อพลิกดูรายชื่อผู้ที่คุณสมบัติผ่าน หนึ่งในตัวเก็ง คือ บริษัท ธนสรรไรซ์ ถือเป็น 1 ใน 5 เสือผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศ เข้าร่วมชิงข้าวล็อตนี้ด้วยและทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ธนสรรไรซ์ ว่า ต้องคว้าข้าว 2 กองนี้ไปอย่างแน่นอน

แต่เมื่อผลออกมาพบว่า ธนสรรไรซ์ ได้เป็นอันดับสาม เสนอราคาประมูลเพียง 18 บาท/กก.เท่านั้น โดยผู้ที่ชนะคือ "วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง" ที่เสนอราคาสูงทั้ง 2 กองถึง 19.07 บาท/กก.

อย่างไรก็ตามเมื่อผลประมูลออกมา สังคมได้ออกมาตั้งคำถาม และค้นหาว่า "วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง" คือใคร ใครอยู่เบื้องหลัง ทำธุรกิจอะไร ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 มีทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 2 ล้านบาท

จากการตรวจสอบข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี (2564-2566) พบว่า บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด จากจ.กำแพงเพชร เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของสวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร และโรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์ ประกอบธุรกิจประเภท จำหน่ายพืชผลทางการเกษตร หมวดธุรกิจ การขายส่งวัตถุดิบอื่นๆ ทางการเกษตร ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น

สถานที่ตั้งของบริษัทนั้น อยู่ที่ 999/9 หมู่ 8 ต.คลองขลุง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร กรรมการบริษัทมี 3 คนได้แก่ น.ส.วรรณิสา ทองจิตติ, น.ส.ทานตะวัน นาสมใจ และนายศิวะ มาประเสริฐ

"ไทยพีบีเอสออนไลน์" ตรวจสอบผลงบการเงิน ปี2566 ที่ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด มีรายได้ดังนี้

  • ปี 2564 มีสินทรัพย์รวม 7,872,678 บาท ไม่มีรายได้ รายจ่ายรวม 159,741 บาท ขาดทุน 159,741 บาท
  • ปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 928,689 บาท มีรายได้รวม 7,923,530 บาท รายจ่ายรวม 7,847,519 บาท กำไร 76,011 บาท
  • ปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 1,174,870 บาท มีรายได้รวม 2,293,623 บาท รายจ่ายรวม 2,047,342 บาท กำไร 246,180 บาท รวมผลประกอบการ 3 ปี มีผลกำไร รวม 162,450 บาท

โดยบริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด จ.กำแพงเพชร ยื่นเสนอซื้อข้าว 10 ปี ทั้ง 2 คลัง มูลค่ารวม 286,302,619.64 บาท คลังแรก คือ คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100 %) ปริมาณข้าวทั้งสิ้น 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ เสนอราคา 19.07 บาท ต่อกก. หรือ 19,070 บาท ต่อตัน ราคามูลค่า 64,010,216.32 บาท

คลังที่ 2 คือ คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100 %) ทั้งหมด 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ เสนอราคา 19.07 บาทต่อกก. หรือ 19,070 บาทต่อตัน ราคามูลค่า 222,292,403.32 บาท

หลังมีการเปิดเผยข้อมูลบริษัทอีเวทฯ และพบว่า บริษัทดังกล่าวเพิ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ด้วยทุน 2 ล้านบาท มีรายได้ 10 ล้านบาท และมีรายจ่าย 10 ล้านบาท ผลประกอบการ 3 ปี มีผลกำไร รวม 162,450 บาท แต่ชนะประมูลข้าว 10 ปี 286 ล้านบาท

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ขรม ส่งผลให้ นายภูมิธรรม ถึงกับนั่งไม่ติดและต้องออกมาประกาศว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.

หากบริษัทนี้มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท และมีงบดุลในการใช้จ่ายประจำปี 1-2 ล้านบาท ก็ไม่มั่นใจว่า บริษัทฯ มีสิทธิ์ที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จหรือไม่จึงคิดว่าจะเรียกทบทวน

"บริษัทดังกล่าวชนะตามคุณสมบัติ แต่ข่าวที่ออกมาไม่สบายใจ หากเป็นอย่างนั้นจริง ก็ต้องหาทางที่จะต้องคุยกันว่าบริษัทมีเสถียรภาพที่จะทำได้จริงหรือไม่ ตนมีหน้าที่ทำให้ประเทศชาติ ได้ผลประโยชน์สูงสุด จะเร่งพิจารณาเรื่องนี้ หากผลออกมาเป็นอย่างไรก็จะเสนอว่ายังไม่ประกาศว่าใครได้การประมูล ซึ่งในวันพรุ่งนี้ ( 21 มิ.ย.)จะทราบว่าอคส.จะประกาศหรือไม่" รมว.พาณิชย์ย้ำ

อ่านข่าว: "วี เอท" เสนอราคา 19.07 บ./กก. คว้าชัยประมูลข้าว 10 ปี

"วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง" บริษัทในเครือ "สวัสดิ์ไพบูลย์"

หากไม่ชนะการประมูลข้าวโครงการรับจำนำ 10 ปี คงไม่มีใครทราบว่าแท้จริงแล้ว "วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง" เป็นหนึ่งบริษัทในเครือ "สวัสดิ์ไพบูลย์" ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการเกษตร มาตั้งแต่ปี 2530 ในสายธุรกิจข้าว ไม่มีใครไม่รู้จัก "โรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์"

เนื่องจากมีโรงสีขนาดใหญ่ 2 แห่ง อยู่ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และพิษณุโลก โดยธุรกิจโรงสีข้าวนั้นเป็นธุรกิจของครอบครัว และ "สวัสดิ์ไพบูลย์" ไม่ได้ทำธุรกิจข้าวอย่างเดียว แต่ธุรกิจหลักดั้งเดิม คือ ทำลานมันสำปะหลัง อยู่ใน จ.กำแพงเพชร

มีข้อมูลระบุว่า ช่วงปลายปี2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะเข้าร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ

ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนภาคเอกชนของไทยประมาณ 50 ราย ร่วมเดินทางเยือนจีน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมหารือการขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน

โดย 1ใน 50 ภาคเอกชนไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้ไปลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในงาน Belt and Road Forum ในการจัดซื้อมันสำปะหลังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2567 คือ บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด และบริษัท COFCO Group รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของจีน จำนวน 500,000 ตัน

คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณกว่า 4,600 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่ชนะการประมูลเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของกลุ่มโรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์ (สำนักงานใหญ่) ซึ่งเป็นมือเก่าในวงการโรงสีข้าวเช่นกัน

ทั้งนี้โรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์ ประกอบธุรกิจโรงสีข้าว ตั้งอยู่ที่ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 1,000 ตันต่อวัน พื้นที่โรงงานตั้งอยู่ บริเวณที่มีการเพาะปลูกข้าวจำนวนมาก ครอบคลุมแหล่งวัตถุดิบทั้งในจ.กำแพงเพชร และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร

นอกจากนี้ยังมีบริษัท โรงสี ทีเอสพี จำกัด ประกอบธุรกิจโรงสีข้าว ตั้งอยู่ที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิต 1,200 ตันต่อวัน รองรับปริมาณข้าวเปลือกจากเกษตรกรจากจ.พิษณุโลก แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน และสุโขทัย

วงในชี้ "ธนสรรไรซ์" แค่ตัวหลอก ดันราคาประมูลพุ่ง

ในขณะที่แหล่งข่าวจากโรงสี เปิดเผยว่า ราคาที่ประมูล 19 บาทถือว่าสูงมาก แต่ก็อยู่ในราคาที่คาดเดา 18-19 บาท แต่ถือว่าดี เพราะข้าวจะได้ระบายออก เพียงแต่รัฐบาลอย่ามาดร่ามา ว่าข้าว 10 ปี ยังสามารถประมูลได้ราคาดี แล้วข้าวเมื่อ 3-4 ปีที่รัฐบาลยุค คสช.ประมูลทำไมขายได้ในราคา 3 บาท 5 บาท ไม่เช่นนั้นเรื่องก็จะไม่จบ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในแวดวงโรงสี ทราบว่า บริษัทวีเอทฯ ทำโรงสีข้าวนึ่ง และมีการส่งออกบ้างเล็กน้อย และเชื่อว่าข้าวหอมมะลิที่ประมูลได้ ไม่น่าจะส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ คาดว่าจะถูกนำไปขัดสีปรับปรุงใหม่ เพื่อขายเป็นข้าวถุงขายในแบรนด์ของตัวเอง และจำหน่ายในประเทศมากกว่าซึ่งแบรนด์อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เชื่อว่าหลังนำไปปรับปรุงแล้วก็ขายได้ เนื่องจากข้าวที่หอมมะลิที่ประมูลไปไม่ได้เสียทั้งกอง

"ส่วนที่เสียอาจจะนำไปขายเป็นข้าวราคาถูกเกรดต่ำ ราคาอาจอยู่ที่ 22-23 บาทต่อกก. ส่วนที่ยังดีเป็นข้าวหอมมะลิก็อาจจะขายได้ 26-27 บาทต่อกก. เพราะตอนนี้ราคาหอมมะลิใหม่ราคาร่วงมาที่ 30-31 บาทต่อกก. ก็ถือว่ายังมีช่องว่างให้เข้าไป แต่น่าจะเป็นการผสมข้าว คงไม่เอามาขายแบบเพียวๆเพื่อกดราคาให้ต่ำลง" แหล่งข่าวระบุ

ส่วนผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆเหมือนไฟไหม้ฟาง แม้ช่วงแรกๆผู้ซื้ออาจจะมีความหวาดระแวงบ้าง แต่ก็ไม่มีใครทราบว่า ข้าวที่ซื้อมาบริโภคเป็นข้าวอายุกี่ปี และอาจจะขายในแบรนด์ที่ไม่มีชื่อเสียง

แหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกข้าว กล่าวกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า สำหรับข้าวที่ประมูล 15,000 ตัน ไม่น่าจะขายเป็นข้าวหอมมะลิได้ เพราะเป็นข้าวที่มีอายุนาน 10 ปี เมล็ดข้าวมีความแข็งไม่นุ่ม แบบข้าวหอมมะลิ ไม่มีความหอมเหมือนข้าวปกติซึ่งหากนำไปจำหน่ายควรจะต้องขายเป็นข้าวเก่าหรือข้าวขาวธรรมดา ราคาเฉลี่ย 20 กว่าบาทต่อกก.

ราคาที่เสนอมาค่อนข้างสูงกว่าที่คาดไว้ ราคาน่าจะอยู่ 15 บาทต่อกก. แต่การเปิดราคามาที่19 บาท ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะข้าวที่ซื้อไป 15,000 ตันไม่ได้นำไปใช้ได้ทั้งหมดยังต้องผ่านกระบวนการปรับปรุง ขัดสีใหม่ ซึ่งไม่น่าจะรอบเดียว อาจจะ 2-3 รอบ
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกต

และอธิบายว่า ตามปกติขั้นตอนการนำข้าวไปขัดสี จะต้องผ่านการปรับปรุงข้าว น้ำหนักของข้าวจะต้องหายไปมากรวมทั้งต้นข้าวที่กลายเป็นปลายข้าวเพิ่มมากขึ้นซึ่งโรงสีหรือผู้ประกอบการจะต้องคำนวณใหม่ว่าจะเหลือต้นข้าวที่ขายได้เท่าไหร่รวมค่าขนส่งที่ต้องไปรับที่โกดัง จ.สุรินทร์ ซึ่งหักลบแล้วน่าจะมีต้นทุนอยู่ที่ 20 กว่าบาท ถือว่ามีราคาแพงว่าข้าวขาวปกติ เพราะราคาข้าวใหม่ราคาตอนนี้อยู่ที่ 21 บาทกว่าๆต่อกก.

"ไม่ทราบวัตถุประสงค์ของผู้ชนะประมูลว่าจะนำข้าวไปทำอะไร ถ้าจะเอามาขายเป็นข้าวขาว ถือว่าต้นทุนแพงมาก แต่ก็ถือว่าเป็นราคาที่น่าพอใจ สำหรับรัฐบาลที่จะได้เงินเกือบ 300 ล้านบาท ถือว่าผิดคาด เป็นการเสนอราคาที่สูงมาก ใครกล้าซื้อราคานี้ถือว่าบ้าและผิดปกติมากหากดูจากความเป็นจริงสำหรับราคา 19 บาทและต้องไปรับและขนส่งข้าวที่หน้าคลังอคส.นอกจากนี้ข้าวจำนวน 150,000 กระสอบไม่รู้ว่าจะมีคุณภาพดีทุกกระสอบหรือไม่ยังไม่รวมต้นทุนการปรับปรุงคุณภาพ " แหล่งข่าวระบุ

ส่วนที่หลายฝ่ายต่างมองว่า บริษัทธนสรรไรซ์ จำกัด 1 ใน 5 เสือจะเป็นผู้ชนะประมูลนั้น มีการคาดการณ์จากกลุ่มธุรกิจจากวงการค้าข้าวว่า บริษัทดังกล่าว อาจไม่ได้มีความต้องการจริงเพียงแต่เข้ามาประมูลเพื่อดันราคาข้าวให้สูงขึ้น เนื่องจากข้าวล็อตดังกล่าวถูกตลาดจับตามองอย่างต่อเนื่อง

เพราะเป็นข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว 10 ปี ที่ดังไปทั่วโลกจึงเชื่อว่าบริษัทธนสรรไรซ์คงไม่เอาชื่อเสียงมาเสี่ยงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะธนสรรไรซ์ มีทั้งตลาดภายในและต่างส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดส่งออก หากธนสรรไรซ์ประมูลได้อาจจะถูกเพ่งเล็งจากผู้ซื้อเป็นพิเศษว่า นำข้าว 10 ปี มาผสมหรือไม่มีมาตรฐานการควบคุมและมีความเป็นได้ที่จะถูกสั่งแบนจากประเทศคู่ค้า

ไม่มีใครรู้ว่า สุดท้ายแล้วข้าวถูกส่งไปขายให้ใครอีกทอด ไม่สามารถจับมือใครดมได้ว่า ข้าวมาจากไหน สิ่งที่ผิดคาดจากข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็น คือ ราคาประมูลข้าวสูงมาก คิดอยู่แล้ว ว่าต้องมีอะไรแปลกๆ แต่ไม่มีใครออกมาพูด เพราะเกรงจะกระทบกับตัวเอง แต่ก็มีคนในแวดวง ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทวีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัดจะชนะประมูล ซึ่งก็เป็นจริง

ส่วนผลกระทบของตลาดข้าวไทย ในแง่จิตวิทยา โดยเฉพาะตลาดข้าวถุงนั้น สิ่งที่ต้องตามต่อ คือ ข้าวล็อตนี้จะส่งไปที่ไหน ในประเทศหรือต่างประเทศเป็นเรื่องที่สืบค้นได้ยาก

แต่ถ้าเป็นผู้ส่งออกเป็นโรงสีจะค่อนข้างชัดเจนว่า ถ้าไม่ขายในประเทศน่าจะส่งออกในแถบแอฟริกาบางประเทศที่นิยมข้าวเก่า แต่ก็จะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากผู้ซื้อเช่นกัน แต่บริษัทดังกล่าวอาจจะให้เทรดดิ้งขายต่อซึ่งไม่มีใครทราบ

อย่างไรก็ตาม ข้าวเก่า 10 ปี ในโครงการรับจำนำ ยังไม่จบแค่นี้ ต้องติดตามว่าข้าวจำนวน 15,000 ตัน จะถูกนำไปทำอะไร ระบายไปที่ไหน จำหน่ายให้ผู้บริโภคในหรือต่างประเทศ

แต่กลุ่มนักธุรกิจในแวงวงค้าข้าว กำลังจับตามองว่า บริษัทวีเอทฯ จะมีเงินจ่ายค่าประมูล 286 ล้านบาทได้หรือไม่ เพราะหากพิจารณางบการเงินของบริษัทแม่ที่มีรายได้เป็นพันล้านบาทอาจไม่มีปัญหาและมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่นั้นก็ยากที่จะคาดการณ์

 อ่านข่าว:

แกะรอย มหกรรมโชว์กินข้าว 10 ปี กินได้จริงหรือ? ฤาหาทางลง

ย้อนรอย มหากาพย์ "โครงการจำนำข้าว" ปิดฉากฟอกข้าว 10 ปี

พลิกแผนที่ไทย "ทัวร์เมืองรอง" เปิดพื้นที่ใหม่รับ "นักท่องเที่ยว"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง