สแกนริมโขง สกัดเส้นทางนำเข้า "ยาเสพติด" ภัยเซาะกร่อนเยาวชน

อาชญากรรม
20 มิ.ย. 67
11:43
509
Logo Thai PBS
สแกนริมโขง สกัดเส้นทางนำเข้า "ยาเสพติด" ภัยเซาะกร่อนเยาวชน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้ไทยจะไม่มีฐานผลิตยาเสพติด แต่ก็เป็นประเทศที่ถูกกลุ่มขบวนการใช้เป็นทางผ่านลักลอบขนยาเสพติดไปยังประเทศที่ 3 ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ตามแนวชายแดนที่เอื้อต่อการขนส่งเป็นอย่างมาก

แต่ปัญหาที่เลวร้ายกว่านั้น คือไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดมาอย่างยาวนาน แม้จะเพิ่มศักยภาพในการสกัดกั้นตามแนวชายแดน พัฒนา ยกระดับการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ทว่าสถานการณ์ยาเสพติดก็ยังน่าวิตก

นครพนม เป็น 1 ใน 13 จังหวัด ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ มีการขยายพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ รวม 4 อำเภอตลอดแนวชายแดน ขณะที่งานบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พบข้อมูลผู้บำบัดในกลุ่มสีแดงเข้มสูงถึง 709 คน

หลายคนก้าวพลาด แต่น้อยคนที่กลับมาได้

บอย (นามสมมติ) หนุ่มน้อยผู้สดใสในวัย 22 ปี กลับมามีชีวิตปกติสุขอีกครั้งได้เพราะมีพ่อ แม่ เป็นกำลังสำคัญ ไม่เคยสักครั้งที่ พ่อ แม่ จะหันหลังให้ แม้ว่าเขาจะก้าวพลาดไปตั้งแต่วัย 17 ปี ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

"เริ่มจาก 1-2 เม็ด ก็มากกว่า 7 เม็ดต่อวัน จนเริ่มมีอาการผิดปกติจากคนทั่วไปและคนรอบข้างก็เริ่มหวาดกลัวเรา พ่อ แม่ ก็หาจังหวะเข้ามาเกลี้ยกล่อมให้เข้ารับการบำบัด แรก ๆ ก็กลัวเพราะไม่รู้ว่า การบำบัด คืออะไร ต้องทำยังไง แต่สุดท้ายก็ยอมไป เพื่อพ่อ แม่ ตั้งใจเลิก และก็ทำสำเร็จ ผ่านการบำบัดมาได้ 4 เดือนแล้ว"

บอย เล่าว่า หลังจบการศึกษาชั้น ม.6 ช่วงทำงานหาเงินเรียน ปวช. เป็นช่วงที่เริ่มเสพติดอย่างหนัก แต่กลับมาปกติสุขได้เพราะตัดสินใจเข้ารับการบำบัดที่บ้านตะวันทอแสง มินิธัญญารักษ์ รพ.โพนสวรรค์ ทำให้ได้ชีวิตปกติสุขกลับคืนมาและปัจจุบันก็มีงานทำโดยเป็นพนักงานบริการ แผนกฉุกเฉิน รพ.โพนสวรรค์

ขณะที่พ่อของ "บอย" ผู้ผ่านการบำบัด เล่าว่า ในวันที่รู้ว่าลูกชายเสพยาเสพติด ปวดหัวใจจนอธิบายไม่ถูก ส่วนคนเป็นแม่ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทุกครั้งที่ลูกก้าวขาออกจากบ้าน เวลากลับดึกดื่นก็หลับไม่ลง ทุกข์ใจมาก

ปลายปีที่ผ่านมา ตัดสินใจเข้าไปปรึกษาแพทย์ เมื่อมีโอกาสไปโรงพยาบาล จึงได้ปรึกษากับแพทย์ที่ รพ.โพนสวรรค์ จึงรู้ว่า จะมีโครงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

"ในวันที่เขาผ่านการบำบัด เลิกยาเสพติดได้ ดีใจจนบอกไม่ถูกที่ได้ลูกกลับมา ในช่วงที่เขาเสพยา เราไม่เคยผลักไสไล่ส่ง คิดแต่เพียงว่า จะช่วยลูกยังไงดี วันนี้เขาผ่านมามาได้และมีงานทำ มีเวลามาช่วยงานที่บ้าน ก็มีความสุขมาก ๆ"

ทั้งคู่ยังฝากให้กำลังถึง พ่อแม่และทุกครอบครัวที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันว่า ขอให้เข้มแข็งและอย่าผลักไสลูกหลาน แต่ให้สังเกตอาการหนักเบาและหาโอกาสเข้าพูดคุยหรือขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ถึงช่องทางการส่งบำบัดฟื้นฟู เพื่อให้ได้พวกเขากลับมาเป็นคนเดิมโดยเร็วที่สุด

มินิธัญญารักษ์ "พักใจ" ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

"บ้านตะวันทอแสง" คือ ชื่อเรียกของ มินิธัญญารักษ์ รพ.โพนสวรรค์ ที่นี่เป็น 1 ใน 4 มินิธัญญารักษ์ ใน จ.นครพนม ให้การบำบัดฯ ด้านร่างกาย จิต สังคม จึงเป็นกระบวนการที่ช่วยลด อันตรายจากการใช้ยาและสารเสพติด และปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมในการลด ละ เลิกยาเสพติดของผู้เสพได้ ที่นี่มีขึ้นเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2566 ให้บริการบำบัดฯ ยอดรวม 119 คน รวม 9 รุ่นแล้ว

ภายในบ้านตะวันทอแสง ยังมีการส่งเสริมการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ เลี้ยงปลา-เลี้ยงกบในกระชัง ทำขนมโดนัทจิ๋ว ตัดผมชาย รวมถึง กิจกรรมจิตอาสาล้างใจ ไปจนถึงทำกิจกรรมนอกสถานที่ อาทิ การเปิดหมวกร้องเพลง

"บาส" (นามสมมุติ) อายุ 33 ปี เข้ามาอยู่ที่บ้านตะวันทอแสง ได้ 2 เดือนแล้ว ขณะนี้กำลังเข้าสู่เดือนที่ 3 ยังอยู่ในกระบวนการบำบัดฯ

"ผมกำลังตั้งใจต่อสู้เพื่อ พ่อ แม่และภรรยาครับ ผมเสพมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ครั้งแรกกัญชาก่อน จากนั้นช่วงวัย 23 ปี ก็ยาบ้าและไอซ์"

บาสจบการศึกษาชั้น ปวช. เข้าทำงานช่างไฟฟ้า มีเงินก็ซื้อเสพประจำ จนอายุ 25 ปี ติดยาเสพติดหนักมาก สุดท้ายทำงานไม่ได้และกลายเป็นคนตกงาน เคยผ่านวันที่แทบเอาชีวิตไม่รอด เพราะน็อกยา นอนชักเกร็ง ตาค้าง ไม่ได้สติและคนที่ช่วยชีวิตไว้ก็คือ แม่เขาเอง แต่หลังเอาชีวิตรอดมาได้ ก็ยังไม่เข็ดกลับไปเสพติดซ้ำอีก

"ปี 62 แม่แจ้งตำรวจจับผมเลยครับ เพราะห้ามยังไง ผมก็ไม่ฟัง ไม่มีทางอื่นแล้ว จึงแจ้งตำรวจมาจับผมเลย ก็โดนข้อหาเสพ ติดคุกไป 15 วัน ออกมา ก็วนกลับไปหากัญชาและน้ำกระท่อมแทน"

ผลของการเสพยามานานหลายปี เริ่มส่งผลต่อระบบประสาท มือสั่น ไหล่กระตุก สภาพร่างกายทรุดโทรม ต่างจากจากชายหนุ่มอายุ 33 ปี โดยทั่วไป ทำให้แม่ต้องสู้เพื่อเขาอีกครั้ง ด้วยการส่งตัวเข้าโครงการบำบัดฯ

การบำบัดรักษาฯ มีระยะเวลา 4 เดือน หลังจากพ้นรั้วมินิธัญญารักษ์ออกไป มีคนจำนวนหนึ่งที่วนกลับไปเสพซ้ำ ปัจจัยสำคัญคือ สภาพแวดล้อม แนวทางป้องกัน คือ ทุกคนในชุมชนต้องช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยแก่บุตรหลาน เริ่มจากการเฝ้าระวัง สังเกตความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม เพื่อความเท่าทันต่อการป้องกันภัยร้ายจากยาเสพติด

"นครพนม" 1 เส้นทางหลัก "ขบวนการค้า-ขนยาเสพติด"

นครพนม ยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีติดกับกับชายแดน จึงมักมีปัญหาการลักลอบลำเลียงยาเสพติด รัฐบาลจึงได้กำหนดให้ 4 อำเภอ คือ อ.ท่าอุเทน อ.เมืองนครพนม อ.ธาตุพนม อ.บ้านแพง เป็นพื้นที่เร่งด่วนในการสกัดกั้นยาเสพติด และจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ นบ.ยส.24 มีแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้บัญชาการ

ตลอดแนวชายแดนทางน้ำของ จ.นครพนม มีระยะทาง 252 กม. ทั้งยังมีเกาะแก่งกลางแม่น้ำเป็นจุดพักยามากกว่า 20 แห่ง การเฝ้าระวังสถานการณ์โดยการใช้โดรนช่วยให้การสกัดกั้นยาเสพติดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสามารถเฝ้าระวังในระยะไกลได้

บ้านหลักศิลา อ.ธาตุพนม เป็นพื้นที่เพ่งเล็ง เพราะกลุ่มขบวนการมักลักลอบขนยาข้ามชายแดน เนื่องจากมีเกาะดอนปลาแดก กลางแม่น้ำโขง ห่างจากชายแดนราว 200 ม. สะดวกต่อการลักลอบ เจ้าหน้าที่พบเห็นและเข้าสกัดขับไล่บ่อยครั้ง

ขณะที่การลาดตระเวนทางเรือก็มีปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ คือการสกัดกั้นหรือขัดขวางแผนการลักลอบขนยาเสพติดข้ามชาติได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

นอกจากทางเรือ ยังมีชุดลาดตระเวนสกัดกั้นเฝ้าตรวจ เดินลาดตระเวนทางเท้าด้วย โดยใช้ชุดปฏิบัติการพิเศษ จากกรมทหารพราน ที่ 21 เข้ามาสนับสนุนภารกิจ หน่วยบัญชาการ สกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ นบ.ยส.24 ในขณะที่ กำลังของ นบ.ยส.24 ก็จัดกำลังลาดตระเวนด้วยยานพาหนะ ตลอดแนวชายแดนนครพนม ซึ่งมีระยะทาง 176 กิโลเมตร

แม้จะมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มข้น แต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นเอาไว้ได้ทั้งหมด

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ลงพื้นที่สำรวจปัญหา ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมกำหนดนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติด พร้อมระบุว่า พร้อมสนับสนุนภารกิจทุกหน่วยและมั่นใจว่า ผลปฏิบัติการนั้นคุ้มค่าต่องบประมาณที่จัดสรรให้

ขบวนการค้ายาเสพติดใช้โดรนในการสอดแนมรวมถึงใช้โดรนบินขนยาอีกทั้งลอบส่งผ่านพัสดุภัณฑ์ ทาง ป.ป.ส.จะสนับสนุนอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันได้ อาทิ กล้องเฝ้าระวังเวลากลางคืน เครื่องเอกซเรย์ และอุปกรณ์ต่อต้านอากาศยานไร้คนขับแบบพกพา หรือ แอนตี้ โดรน เพื่อให้ภารกิจสกัดกั้นยาเสพติดมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ขณะที่ พล.ร.ต.นรินทร์ ขาวเจริญ ผบ.นรข. ระบุว่า อุปกรณ์ที่ต้องการมากที่สุดในขณะนี้คือ แอนตี้ โดรน เพราะปัจจุบันกลุ่มขบวนการใช้โดรนบินสำรวจและใช้โดรนขนยาเสพติด เปลี่ยนวิธี เปลี่ยนรูปแบบทุกทาง เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับของทางเรา หากเรามีแอนตี้ โดรน ทันที่ที่เราจับสัญญาณได้ เราสามารถยิงตัดสัญญาณให้โดรนอีกฝ่ายล่วงได้เลย เห็นผลทันที ลดความสี่ยงอันตรายให้กำลังพลได้ด้วย

สำหรับปฏิบัติการตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ครอบคลุม 8 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 928 กม. ในปีงบประมาณ 2566 สามารถผลจับผู้ต้องหาได้ 31 คน ยึดยาบ้าได้มากกว่า 21 ล้านเม็ด, ไอซ์ 2,091 กก., โคเคน 2,199 กก., เคตามีน 44 กก. และยึดสารตั้งต้นได้ 700 กก.

ขณะที่ปีงบฯ 67 เริ่มจาก ต.ค.2566 ถึง มิ.ย.2567 จับผู้ต้องหาได้ 21 คน ตรวจยึดยาบ้า ได้มากกว่า 16 ล้านเม็ดแล้ว ยึดเฮโรอีนได้น้ำหนักรวมมากกว่า 10 กก. และยึดเคตามีนได้ 1 กก.

ในช่วงหน้าฝน หรือ หน้าน้ำ เป็นอีกฤดูกาลที่ต้องยกระดับการเฝ้าระวังและสกัดกั้นการลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดนทางฝั่งแม่น้ำโขงอย่างเข้มข้น การขยายพื้นลักลอบขนยาเสพติดเพื่อหลีกเลี่ยงการสกัดกั้นยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันทางการไทยต้องขยายพื้นที่สีแดง พื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการสกัดกั้นฯ ทั้งสิ้น 13 จังหวัด 25 อำเภอ

ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในไทยเองก็ยังน่าเป็นห่วง ข้อมูล 1 ธ.ค.2566- มิ.ย.2567 พบผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด อยู่ที่ 32,623 คน ปัจจุบันนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ ได้ร้อยละ 79 แล้ว แม้จะมีแนวโน้มลดลง

แต่ยากจะปฏิเสธคือ ปัญหานี้ไม่เคยหายไปจากชาวไทย

รายงานพิเศษ : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม

อ่านข่าว : 

ตร.นำตัว 8 ลูกเรือน้ำมันเถื่อน ฝากขังศาลอาญา - ค้านประกัน

พบหมุดส.ป.ก.ใหม่-เก่า กล้องรังวัดในบ้านอดีต ขรก.ส.ป.ก.โคราช

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง