ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทางตันกำจัดกากอันตราย "เอาเงินมาจากไหนดี" คำถามที่ไร้คำตอบ

สิ่งแวดล้อม
19 มิ.ย. 67
11:08
295
Logo Thai PBS
ทางตันกำจัดกากอันตราย "เอาเงินมาจากไหนดี" คำถามที่ไร้คำตอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

22 เมษายน 2567 เกิดไฟไหม้ที่ "ชุมชนหนองพะวา" ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ส่งผลให้กากของเสียอันตรายจำนวนมหาศาลระเบิดออกมา เกิดมลพิษกระจายไปทั่วพื้นที่ สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบมายาวนานกว่า 10 ปี ทั้งที่ชาวบ้านเป็นผู้ชนะคดีที่ศาลพิพากษาให้โรงงานต้องชดใช้ให้ผู้ได้รับผลกระทบ 15 ราย รวมเป็นเงิน 20.8 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 แต่ยังไม่มีใครได้รับเงิน ของเสียทั้งหมดยังอยู่ที่เดิมจนเกิดไฟไหม้ และเมื่อขุดหน้าดินออกมา พบร่องรอยกากของเสียถูกฝังอยู่ในดิน

มาถึงกลางปี 2567 ชาวบ้าน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2544 ยังไม่ได้รับเงินชดเชยความเสียหายต่อพืชผลและสุขภาพของพวกเขา แม้จะฟ้องร้องจนชนะคดีต่อบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 และของเสียอันตรายในโรงงานแต่เดิมยังไม่ถูกขนออกไปกำจัดจนเกิดไฟไหม้หลายครั้ง จนล่าสุดต้องนำเงินงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 59 ล้านบาท มาขนของเสียบางส่วนออกไปกำจัดก่อน แต่ยังเหลืออีกจำนวนมาก รวมทั้งมีของเสียที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน

ล่าสุด 17 มิถุนายน 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ประสานกับตำรวจ เข้าตรวจค้นและขุดพบการลักลอบฝังกากของเสียอันตรายอยู่ใต้ดินบริเวณระหว่างหลุมฝังกลบ 2 หลุม ของบริษัท เอกอุทัย จำกัด สาขา อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ มีสภาพเป็นน้ำสีดำ มีฟองคล้ายน้ำเดือด และยังพบซากวัสดุคล้ายภาชนะบรรจุสารเคมีหลายขนาดอยู่ใต้ดิน กลายเป็นอีกหนึ่งจุด ที่พบการลักลอบฝังกากของเสียอันตรายไว้ใต้ดิน

เมื่อพบกากของเสียอันตราย ถูกลักลอบทิ้งทั้งบนดิน ในแหล่งน้ำ และถูกฝังอยู่ใต้ดิน ... วิธีการเดียวที่จะแก้ไขได้ ก็คือ การส่งของเสียอันตรายทั้งหมดไปเข้าสู่กระบวนการกำจัดที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและหลักวิชาการ ... แต่นั่นเป็นวิธีที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

เหตุผลที่กากของเสียอันตรายเหล่านี้ ถูกนำมาลักลอบทิ้ง ก็เป็นเพราะ "มีค่ากำจัดราคาแพง" ทำให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) บางแห่ง เลือกวิธีการลดต้นทุนค่ากำจัดด้วยการส่งของเสียไปกำจัดกับกลุ่มโรงงานรับกำจัดหรือบำบัด (Waste Processor) ที่พร้อมรับของไปในราคาที่ถูกกว่าค่ากำจัดจริงมาก ซึ่งแน่นอน ทำให้ของเสียอันตรายเหล่านั้น ไม่ได้ถูกนำไปกำจัด

และเมื่อกากของเสียอันตรายที่ควรจะถูกบำบัดหรือกำจัดไปแล้วจำนวนมาก ถูกนำมารวมไว้ในพื้นที่เดียวกันอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ทั้งด้วยการวางทิ้งไว้เฉย ๆ ปล่อยสารเคมีลงในแหล่งน้ำ หรือฝังไว้ใต้ดิน ก็หมายความว่าพื้นที่ที่ถูกใช้เป็น "ถังขยะพิษ" เช่นที่ วิน โพรเสส, แวกซ์ กาเบจ และ เอกอุทัย อ.ศรีเทพ จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อทำความสะอาดมัน

กากของเสียอุตสาหกรรมที่อยู่ใน "ถังขยะพิษ" หลายพื้นที่ในประเทศไทย จึงเป็นปัญหาที่ "แก้ด้วยเงิน"เท่านั้น

ข้อติดขัด ปัญหานิดเดียว คือ "ไม่มีเงิน"

ผู้ก่อมลพิษ ... อ้างว่า ไม่มีเงินจ่าย ล้มละลาย ... หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ไม่มีงบประมาณสำหรับกรณีเช่นนี้ ... ประเทศไทยมีกองทุนสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สามารถนำมาใช้ในกรณีนี้ได้ ... แหล่งเงินเดียวที่จะถูกนำมาใช้ได้ คือ "งบกลาง" ซึ่งต้องไปขอจากคณะรัฐมนตรี

จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

"กองทุนสิ่งแวดล้อม" ใช้แก้ปัญหาขยะพิษไม่ได้ เหตุขั้นตอนออกกฎหมายถูกรวบรัด

มาตรา 42 ของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 37 ถ้ามีเหตุที่ทางราชการสมควรเข้าไปดำเนินการแทน ให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือมอบหมายให้บุคคลใด ๆ เข้าจัดการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าจัดการนั้นตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับเบี้ยปรับในอัตราร้อยละสามสิบต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าว

ถ้าทางราชการได้เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหามลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงงาน ให้ขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินการได้ และเมื่อได้รับเงินตามวรรคหนึ่งจากผู้ประกอบกิจการโรงงานแล้ว ใช้ชดใช้เงินช่วยเหลือที่ได้รับมาคืนแก่กองทุนสิ่งแวดล้อมต่อไป

จากข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.โรงงาน 2535 จะเห็นชัดเจนว่า กฎหมายได้ออกแบบให้มี "แหล่งที่มาของเงิน" ที่จะนำมาใช้แก้ไขผลกระทบที่เกิดจากโรงงานเอาไว้แล้ว นั่นก็คือ "กองทุนสิ่งแวดล้อม" แต่ในที่สุดแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรม กลับไม่สามารถนำเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อแก้ไขผลกระทบได้เลยแม้แต่กรณีเดียว นั่นเป็นเพราะ "ความไม่รอบคอบในกระบวนการพิจารณากฎหมาย"

ปี 2535 คือช่วงที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร ดังนั้นเราจึงมีแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนั่นทำให้ร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่ถูกเสนอเข้าสู่สภา สามารถผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว และมันต้องแลกมาด้วยความไม่รอบคอบ อย่าง พ.ร.บ.โรงงาน ที่ผ่านสภานิติบัญญัติในปีนั้น ก็ไม่ถูกแปรญัตติในชั้นกรรมธิการเลย

แม้ว่าในมาตรา 42 ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาจะเขียนไว้ดีมาก คือ ให้สามารถไปนำเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาใช้ไปได้ก่อน แต่สุดท้ายก็ใช้ไม่ได้ เพราะการนำเงินมากำจัดกากของเสียอันตราย ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะสามารถอนุมัติให้ใช้เงินของกองทุนสิ่งแวดล้อม

"ช่วงนั้นทั้ง พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ.สาธารณสุข และ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ถูกเสนอเข้าสภาพร้อมกัน และก็ไม่รอบคอบทั้ง 3 ฉบับที่จะต้องมีส่วนที่เชื่อมกัน ที่เห็นชัด คือ พ.ร.บ.โรงงาน เขียนเชื่อมกับโยงเรื่องการใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมเอาไว้ แต่ใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม กลับไม่เขียนเชื่อมกับ พ.ร.บ.โรงงาน ทำให้ในหลักเกณฑ์การใช้เงินของกองทุนสิ่งแวดล้อม จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ และยังไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ไปเพื่อการกำจัดของเสียหรือการทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อน"

นั่นเป็นคำอธิบายจากนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ไม่สามารถนำเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาใช้ตามมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.โรงงานได้ ทำให้เขาไปค้นหาต้นตอของปัญหานี้และพบว่า เกิดจากกระบวนการออกกฎหมายที่ไม่รอบคอบในช่วงปี 2535 ทำให้ข้อความที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.โรงงาน ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การใช้เงินของกองทุนสิ่งแวดล้อม และกลายเป็นปัญหาต่อมาอีกถึง 32 ปีแล้ว ที่หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรมควบคุมมลพิษ ก็ไม่สามารถนำเงินส่วนนี้มาจัดการกับของเสียจากภาคอุตสาหกรรมได้

กรมโรงงานฯ ไม่สน "กองทุนสิ่งแวดล้อม" ขอแก้กฎหมาย ตั้ง "กองทุนอุตสาหกรรม" แต่ถูกตั้งคำถาม "ได้เงินมากพอหรือไม่"

"จริง ๆ แล้วกรมโรงงานอุตสาหกรรมเองมีเงินที่ได้จากการเก็บค่าปรับจากโรงงานที่ทำผิดกฎหมายอยู่จำนวนหนึ่งครับ ซึ่งที่ผ่านมาเงินส่วนนี้เราก็ต้องส่งคืนไปให้กับสำนักงบประมาณทุก ๆ ปี ก็เลยมีความคิดว่า จะไปคุยกับทางสำนักงบประมาณ เพื่อขอนำเงินส่วนนี้มาตั้งเป็นกองทุนอุตสาหกรรมแทน มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้แก้ไขผลกระทบที่เกิดกับประชาชน"

ข้อความนี้ ถูกนำเสนอโดย จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระหว่างขึ้นเวทีเสวนา "ทางออกกรณีมลพิษหนองพะวา ภาพสะท้อนปัญหากากอุตสาหกรรมอันตรายของไทย" จัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นจุดยืนที่แสดงให้เห็นว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีแนวทางที่จะหาเงินมาเพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมายนี้ด้วยการตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมาที่ชื่อว่า "กองทุนอุตสาหกรรม" แทนที่จะไปแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งวิธีการนี้ ถูกดำเนินการไปแล้วด้วยการยื่นเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงานอีกครั้ง

"กรมโรงงานฯมองว่า การแก้กฎหมายมาตรา 42 เพื่อให้สามารถใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้จริงน่าจะยุ่งยากเกินไป ก็เลยเสนอแก้กฎหมายตั้งกองทุนของตัวเองขึ้นมาเลย และในรอบนี้ ยังเสนอแก้ไขให้กำหนดอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ไปด้วย เพราะจากเดิม ใบ รง.4 ไม่มีวันหมดอายุ ขอครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป รอบนี้กรมโรงงานฯ จึงไปขอแก้ไขให้ รง.4 มีอายุ 5 ปี เพื่อจะได้มีโอกาสทบทวนความเหมาะสมในการต่อใบอนุญาตออกไป"

นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมคนนี้ อธิบายเหตุผลที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยการตั้งกองทุนอุตสาหกรรมมากกว่าจะไปแก้ไขมาตรา 42 ให้สามารถใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ แต่การเลือกวิธีนี้ก็ยังทำให้เกิดคำถามตามมาอีกหนึ่งประเด็น คือ จำนวนเงินที่จะนำมาใส่ในกองทุนอุตสาหกรรมซึ่งจะได้มาจากค่าปรับ จะเพียงพอต่อการนำไปแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นได้จริงหรือ เพราะกฎหมายโรงงานในปัจจุบันมีการกำหนดอัตราโทษค่อนข้างต่ำ

"หากเปรียบเทียบจะพบว่ากฎหมายในอดีตมีโทษแรงกว่ามาก เช่น ในกฎหมายปี 2512 การถูกตรวจพบว่ามีค่าความเป็นกรดด่างเกินมาตรฐานในระบบบำบัดน้ำเสียก็มีโทษจำคุกแล้ว แต่ต่อมามีแนวคิดหลักของการแก้บทลงโทษ คือ การก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่อาชญากรรมโดยสันดานครับ จึงไม่ควรจะมีโทษจำคุก และด้วยแนวคิดเช่นนี้ ทำให้ที่ผ่านมากฎหมายโรงงานก็ถูกแก้ไขให้มีเพดานค่าปรับต่ำลงมากครับ แม้จะเป็นความผิดร้ายแรงก็มักจะมีค่าปรับไม่เกินครั้งละ 200,000 บาทเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ทำให้โรงงานไม่ค่อยกลัวอยู่แล้ว มันก็เลยยังเป็นคำถามว่า การจะนำเงินจากค่าปรับมาใช้แก้ไขผลกระทบซึ่งมีมูลค่าสูงมาก มันจะเพียงพอหรือ"

"โรงงานกำจัดของเสีย ทำประกันภัย" ข้อเสนอทนายความผู้รับผลกระทบ

อีกหนึ่งแนวทางที่เคยถูกหยิบยกมาเสนอจากทีมกฎหมายที่เป็นทนายความให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ก็คือ แนวทางการกำหนดให้โรงงานกลุ่มผู้รับบำบัดหรือกำจัดของเสียอันตราย จะต้องทำประกันความเสียหายไว้กับบริษัทประกันภัยเอกชน โดยมีผลผูกโยงกับสถานะของใบอนุญาตประกอบกิจการ เพื่อให้มีหลักประกันว่าหากเกิดความเสียหายขึ้นจะสามารถเรียกร้องเงินจากบริษัทประกันได้ และแนวทางนี้ ยังจะช่วยให้บริษัทประกัน จะกลายเป็นคนกลางที่เข้ามาช่วยตรวจสอบคุณภาพการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของโรงงานได้อย่างเข้มข้นในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย 

แนวทางนี้ มีนักกฎหมายจำนวนมากเห็นด้วย เพราะยังจะช่วยแก้ไขจุดอ่อนที่เป็นข้อวิจารณ์กันมาตลอดนั่นคือ หน่วยงานรัฐไม่ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพมากพอ นี่จึงควรเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ต้องนำมาหารือก่อนเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานครั้งต่อไป

อ่านข่าว

ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์ อนุบาล-มหาวิทยาลัย "การศึกษาที่ไร้หัวใจ"
ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์ รร.ประถมขนาดเล็ก ตัวแปรขจัด "เหลื่อมล้ำ"
ประมงพื้นบ้านทำเอง สำรวจ "ทะเลระยอง" หลังน้ำมันรั่วปี 65

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง