จากวังสู่ละคร "หม่อมเป็ดสวรรค์" บันทึกรัก LGBT กรุงรัตนโกสินทร์

ศิลปะ-บันเทิง
19 มิ.ย. 67
12:20
477
Logo Thai PBS
จากวังสู่ละคร "หม่อมเป็ดสวรรค์" บันทึกรัก LGBT กรุงรัตนโกสินทร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หม่อมเป็ดสวรรค์" กลอนเพลงยาวเนื้อหาระบุวิถีชีวิตผู้หญิงในวังเล่าถึงคำโบราณ "เล่นเพื่อน" หรือคู่รักระหว่างเพศหญิงในราชสำนักระหว่าง "หม่อมสุด-หม่อมขำ" ถือเป็นหลักฐานที่เอ่ยถึง LGBTQIA+ ชิ้นแรกในประเทศไทย ล่าสุดถูกดัดแปลงเป็นละครเตรียมออนแอร์ทาง Thai PBS

หญิงรักหญิงเรียก "เล่นเพื่อน"

"หม่อมเป็ดสวรรค์" เป็นเรื่องราวที่เรียงร้อยมาจากเรื่องจริงและตัวละครในเพลงยาวก็มีตัวตนจริง "คุณสุวรรณ" ผู้แต่งหยิบยกเรื่องส่วนตัวของหม่อมสุดและหม่อมขำ นางใน 2 คนที่รับราชการในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ความรักภายใต้บรรทัดฐานของความไม่เท่าเทียม

ภายหลังเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทิวงคตใน พ.ศ.2375 "หม่อมสุด" ถูกโอนเข้าไปรับราชการในพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) ทำหน้าที่เป็นผู้อ่านบทกลอนก่อนบรรทมในพระตำหนักของ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ" ซึ่งเรียกกันว่า "พระตำหนักใหญ่" เจ้าของตำหนักเป็นพระราชธิดาพระองค์โปรดในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ต่อมา "หม่อมขำ" ย้ายเข้ารับราชการในวังหลวงในพระตำหนักใหญ่เช่นเดียวกับหม่อมสุด ทั้ง 2 คบหากันอย่างเปิดเผย หรือที่ศัพท์สมัยนั้นเรียกว่า "เล่นเพื่อน" เป็นที่รู้กันทั่วไปในราชสำนัก และทั้ง 2 มักจะมีเรื่องปะทะคารมกันเป็นประจำ "หม่อมขำ" ถูกเรียกว่า "หม่อมเป็ด" จากท่าเดินที่คล้ายเป็ด ส่วน "หม่อมสุด" ได้ฉายาว่า "คุณโม่ง" จากพฤติกรรมในเพลงยาวที่เล่าว่า เคยคลุมโปงพลอดรักกันปลายพระแท่นบรรทมของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เพราะเข้าใจไปว่าพระองค์บรรทมแล้ว จนกลายเป็นเนื้อหาในเพลงยาวที่ คุณสุวรรณ จินตกวีผู้มีชื่อแห่งพระตำหนักใหญ่ แต่งเพื่อล้อเลียนนางข้าหลวงทั้ง 2 คนนี้

ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง
ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย
เข้าชุลมุนวุ่นวายอยู่ปลายพระบาท ก็คิดคาดเอาว่าคนหาเห็นไม่
จึ่งกระทำเอาแต่อำเภอใจ ด้วยแสงไฟมืดมิดไม่มีโพลง

ครั้นหนึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงคุณสุวรรณเอาไว้ว่า คุณสุวรรณเป็นจินตกวีผู้รู้รสกวีดีคนหนึ่ง แต่งบทกลอนดี ทั้งในเวลาสำเริงสุขและเวลาที่ทุกข์ร้อน เป็นกวีหญิงที่มีชื่อเสียงสืบมากระทั่งทุกวันนี้

ความรักภายใต้บรรทัดฐานของความไม่เท่าเทียม

ในยุคสมัยนั้น ความรักในเพศเดียวกันของหม่อมสุดและหม่อมขำ ถือเป็นการผิดกฎมนเทียรบาล มาตรา 124 วรรคสอง ระบุว่า "อนึ่งสนม กำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกันทำดุจชายเปนชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง 50 ที ศักฅอประจานรอบพระราชวัง ทีหนึ่งให้เอาเปนชาวสดึง ทีหนึ่งให้แก่พระเจ้าลูกเธอหลานเธอ" 

แปลให้เข้าใจว่า หากผู้ใดมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ให้ทำการประจานด้วยการเฆี่ยนด้วยลวดหนัง 50 ที ใช้เครื่องพันธนาการที่คล้ายสะดึงใส่ที่คอ ลากประจานไปรอบพระราชวังให้เป็นที่อับอาย และให้เป็นที่รับรู้ทั้งชาวรั้วชาววังเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง 

แต่แม้จะผิดครรลองของราชสำนัก กรณีของทั้ง 2 หม่อมกลับได้รับการผ่อนปรน เพราะถือว่ามิใช่ความผิดร้ายแรง อีกทั้งกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเองก็มิทรงถือโทษกับพฤติกรรม "เล่นเพื่อน" ของทั้งสองทรงชุบเลี้ยงอย่างดีเป็นที่โปรดปราน และมีพระเมตตากับทั้งสองมาโดยตลอด

หม่อมเป็ดได้ฟังรับสั่งกริ้ว ทำหน้าจิ๋วร้อนจิตคิดพรั่น
ใจระเริ่มรัวกลัวราชทัณฑ์ อภิวันท์สารภาพกราบกราน

จุดประสงค์ในการแต่งเพลงยาว "หม่อมเป็ดสวรรค์" คือแต่งให้ชาววังด้วยกันอ่านเล่นเป็นความบันเทิง แต่ส่วนตัวของหม่อมสุดและหม่อมขำจะสนุกกับเพลงยาวนี้ด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่เป็นที่ทราบ 

อ่านข่าว : โซเชียลยินดี "สมรสเท่าเทียม" ทุกเพศเท่ากัน

ใครเป็นใครใน "หม่อมเป็ดสวรรค์"

หม่อมสุด หรือ คุณโม่ง เป็นผู้รู้หนังสือ รู้จักเขียนกาพย์เขียนกลอน กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงให้หม่อมสุดอ่านบทกลอนถวายเมื่อบรรทมเป็นประจำ หม่อมสุดมีบุคลิกเหมือนผู้ชาย สังเกตได้ว่าเป็นผู้มีฝีปากดี พูดเล่นเฮฮาไม่เกรงใจใคร มีคืนหนึ่งหม่อมสุดอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สำคัญว่าเจ้านายบรรทมแล้ว ก็ดับเทียนเอาผ้าคลุมกอดจูบกับหม่อมขำชุลมุนวุ่นวายอยู่ที่ปลายพระบาท ขณะนั้นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังไม่บรรทม และทอดพระเนตรเห็นพฤติการณ์ของทั้งคู่ พระองค์จึงประทานชื่อแก่หม่อมสุดว่า "คุณโม่ง" 

กระซุบกระซิบซุ่มกายอยู่ปลายพระบาท อุตลุดอุดจาดทำอาจโถง
เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง จึ่งเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา
ข้างหม่อมเป็ดเสด็จท่านโปรดปราน ได้ประทานเปลี่ยนนามตามยศถา
เพราะเดินเหินโยกย้ายส่ายกิริยา จึ่งชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน

หม่อมขำ หรือ หม่อมเป็ด หม่อมขำมีบุคลิกเป็นหญิงกระชดกระช้อยเหมือนสาวน้อย รักสวยรักงาม เวลาเดินจึงไว้กิริยาจะมีจังหวะเยื้องย่างไปมาเหมือนอย่างเป็ด กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงประทานชื่อให้ว่า "หม่อมเป็ด" ชาววังคนอื่นจึงพากันเรียก "หม่อมเป็ดสวรรค์" "หม่อมเป็ดขำ" หรือ "หม่อมขำเป็ด" 

เสด็จในกรม หรือ เสด็จ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวิลาส เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นเจ้าของพระตำหนักใหญ่ ศูนย์รวมของศิลปินและกวีทั้งหลาย เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงมีพระราชนิยมส่งเสริมศิลปินในราชสำนัก กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี ไม่ถือพระองค์ 

"ละคร" คือพื้นที่เปิดโอกาสเรื่องเพศ

เพลงยาว "หม่อมเป็ดสวรรค์" ถูกดัดแปลงมาเป็นละครเตรียมออกอากาศทาง Thai PBS เร็ว ๆ นี้ ดร.สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ อาจารย์และนักวิชาการ ที่ปรึกษาบทละครโทรทัศน์เรื่อง "หม่อมเป็ดสวรรค์" ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่าองค์ประกอบของเรื่องอย่างฉากพลอดรักในเพลงยาวอาจเป็นส่วนที่ผู้ชมสนใจ แต่การดัดแปลงเพลงยาวมาเป็นบทละครที่ฉายทางสื่อสาธารณะ ทีมผู้สร้างมุ่งนำเสนอเรื่องราวความรักระหว่างสองคนที่ต่อสู้กับบรรทัดฐานทางสังคม

สุดท้ายแล้ว การยอมรับในเรื่องเพศทางเลือก เราจะเปิดใจได้มากแค่ไหน ละครถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดโอกาสให้คนได้แชร์กัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อ่านข่าวอื่น :

ผู้นำรัสเซีย-เกาหลีเหนือพบหน้าชื่นมื่น ชาติตะวันตกกังวลสัมพันธ์

นานาชาติร่วมยินดี "ไทย" ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

"กม.สมรสเท่าเทียม" ผ่านแล้ว สร้างประวัติศาสตร์ชาติแรกอาเซียน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง