ยังคงเป็นปมร้อนของกระบวนการยุติธรรม หลังจากก่อนหน้านี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊คและสื่อโซเชียลได้นำไปเผยแพร่ต่อโดยระบุว่า มีความพยายามจากบุคคลกลุ่มหนึ่ง ในการติดสินบน 2,000 ล้านบาท หรือถุงขนม ผ่านบริษัทกาสิโนในฮ่องกง เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาบางรายให้ได้รับการประกันตัว ในระหว่างวันที่ 23 พ.ค.2567 เวลา 11.20 น. ได้มีผู้บริหารระดับอธิบดีของกระบวนการยุติธรรม เดินทางไปฮ่องกงด้วย
พลันมีการปูดข้อมูลดังล่าว เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ออกมาเปิดเผยว่า ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นในเรื่องดังกล่าว และในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) สำนักงานศาลยุติธรรมได้รายงานให้ ก.ต. ทราบแล้ว โดยที่ประชุม ก.ต. เสนอให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสดับตรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ตามขั้นตอนแล้ว
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารศาลยุติธรรม ได้ให้อธิบดีผู้พิพากษาคนหนึ่ง ที่ขออนุญาตลาพักผ่อนและเดินทางไปทัศนศึกษาที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 23 -26 พ.ค.2567 มาชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว โดยเจ้าตัวยอมรับว่า ได้พาครอบครัวไปเที่ยวจริง แต่ปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับสินบนถุงขนม
"ประธานศาลฎีกา มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเบื้องต้น ทำหน้าที่สดับตรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยให้ทราบผลสอบภายใน 1 สัปดาห์ โดยคำสั่งออกมา 2 แนวทาง คือ หากพบว่า มีมูล ก็จะมีการสั่งสอบวินัย แต่ถ้าไม่มีมูล ก็จะสั่งยุติเรื่อง" แหล่งข่าวจากศาลยุติธรรม ระบุ
ตามปกติคดีนี้ จะออกได้ 2 ทางคือ การให้ประกันตัว และไม่ให้ประกันตัว เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ข้อเท็จจริง คือ การพิจารณาในคดีดังกล่าว กว่าศาลจะมีคำพิพากษา ยังอีกยาวไกล แม้คดีนี้อธิบดีศาลอาญาในฐานะอธิบดีเวรที่รับผิดชอบโดยตรงจะเป็นผู้พิจารณาว่า ควรจะให้ประกันหรือไม่ให้ประกันตัว
และก็ไม่สามารถไปชี้หรือกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับสินบน เพราะการให้ประกันต้องผ่านการพิจารณาขององค์คณะอย่างน้อย 2 คน จึงอาจมีการเสนอให้รองอธิบดีศาลาอาญาฯเป็นผู้พิจารณา ซึ่งตามปกติจะต้องดูว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไม่ ถ้าไม่มีพฤติการณ์หลบหนีก็ให้ประกันตามกฏหมาย
แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า สำหรับผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ที่ผ่านมามีทั้งให้ประกันตัวและไม่ให้ประกันตัว และมีบางคนที่หนีหมายจับคดีนี้ไปต่างประเทศ และหลายคนก็ไม่ได้หลบหนี เมื่อศาลมีคำพิพากษาก็รับโทษตามกฎหมาย สำหรับผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันตัว ศาลมักจะมีคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
ขณะที่ นพ.วรงค์ บอกว่า การที่ศาลยุติธรรมตั้งคณะกรรมการสดับตรับฟังขึ้นมา ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และแสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้มองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยัง เชื่อมั่นข้อมูลที่แหล่งข่าวที่ให้มา และไม่ขอก้าวล่วงในอำนาจของศาล
"ยอมรับว่า การเก็บหลักฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกประเทศเป็นเรื่องยากในการพิสูจน์ แต่ก็พบว่า มีการเดินทางออกไปต่างประเทศในช่วงเวลานั้นๆจริง ขบวนการพวกนี้ ค่อนข้างซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องกาสิโน การพิสูจน์เพื่อจับผิดทำได้ยากมาก"
นพ.วรงค์ ยืนยันว่า หลังจากเปิดเผยเรื่องนี้ไปแล้ว มีนักการเมืองคนหนึ่ง ได้ติดต่อเพื่อขอเคลียร์เรื่องนี้ โดยขอให้ยุติการเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวทั้งหมด สำหรับตนนั้น เมื่อมีผู้ส่งเรื่องตรงถึงศาลแล้ว และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ถือว่า กระบวนการยุติธรรมได้มีการรับฟัง ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนแล้ว
อ่านข่าว :
"ทนาย" ยัน "ทักษิณ" พร้อมสู้คดี จ่อฟ้องโพสต์อ้าง "ถุงขนม 2 พันล้าน"