ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศึกชิงตลาด “ทุเรียน” (ไทย) เสี่ยงสูงถูก "เวียดนาม" ล้มแชมป์

เศรษฐกิจ
11 มิ.ย. 67
16:06
3,563
Logo Thai PBS
ศึกชิงตลาด “ทุเรียน” (ไทย) เสี่ยงสูงถูก "เวียดนาม" ล้มแชมป์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ศึกชิงความเป็นหนึ่งในตลาดทุเรียน กำลังต่อสู้กันอย่างเข้มข้น ในทุกปีตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. – ต.ค. ยิ่งเฉพาะฤดูกาลที่ความต้องการในตลาดผู้บริโภคสูงและเกษตรกรต้องเร่งส่งผลผลิตส่งออกไปยังตลาดจีนจำนวนมาก ในเดือนพ.ค.-มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่า “ทุเรียนไทย” คือ พืชเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่นำรายเข้าประเทศเป็นลำดับต้นๆ ของสินค้าเกษตรส่งออกทั้งหมด

ปี 2566 ไทยมีมูลค่าส่งออกทุเรียน 1.4 แสนล้านบาท ในตลาดจีนทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงและได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคซึ่งมีกำลังซื้อสูง ในปีนี้หลายประเทศต้องเผชิญกับสภาวะอากาศแห้งแล้ง รวมทั้งประเทศไทย จึงทำให้ปริมาณการผลิตลดลงสวนทางกับความต้องการตลาดผู้บริโภค จึงทำให้เกิดปัญหาการลักลอบนำเข้าทุเรียนเพื่อสวมสิทธิและสอดใส้เป็นทุเรียนไทยเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดจีน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัญหาของทุเรียนไทยเกิดขึ้นมานานและหน่วยงานโดยเฉพาะด่านชายแดนที่ยังไม่เข้มงวดในการตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำทุเรียนเพื่อนบ้านเข้ามา และเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการบางรายหัวใสใช้วิธีการขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ทั้งเพื่อการส่งออกและขายในประเทศ

สวมสิทธิ “ทุเรียนไทย”ฟันกำไรผู้บริโภค

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์”ว่า ตั้งแต่ปี 2554-2566 หรือในช่วง 12 ปี ที่ผ่านมา ไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เกษตรกรสามารถผลิตทุเรียนเพิ่มจาก 5 แสนตัน เป็น 1.4 ล้านตัน หรือได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 180% โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขยายผลผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 1,500 % ขณะที่พื้นที่ปลูกทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 80%

การสวมสิทธิทุเรียนจากเพื่อนบ้านเกิดขึ้นจริง แต่ตัวเลขยังไม่ชัดเจน สาเหตุจาก 2 ปัจจัย คือ นำเข้ามาเพื่อขายให้คนไทย คาดว่า สัดส่วนจะอยู่ที่ 70% และส่งออก 30% ส่วนหนึ่งเพราะราคาทุเรียนไทยแพง การนำทุเรียนเข้ามาขายในประเทศ จะได้ราคาดี ขณะที่ผู้บริโภคก็แยกแยะไม่ได้ว่า ทุเรียนลูกซื้อไปกิน ลูกไหน คือ ทุเรียนหมอนทองไทย ลูกไหน คือ ทุเรียนเพื่อนบ้าน
นายอัทธ์ พิศาลวานิช  นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันการนำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศยังมีปริมาณที่น้อย แต่อนาคตมีความเป็นไปได้สูง หากไทยผลิตทุเรียนได้น้อยลง โดยปีนี้ทุเรียนไทยมีผลผลิตหายไปถึง 40% และหากปี 2568 ประเทศไทยยังไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาดังกล่าวได้ ทุเรียนไทยอาจจะหายไปจากตลาดถึง 50% และเป็นไปได้สูงที่จะมีการนำเข้าทุเรียนเวียดนามเพื่อส่งออกและบริโภคในประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนจากไทยว่า มีการนำเข้าทุเรียนมาปริมาณเท่าใด แต่กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามระบุว่า เวียดนามส่งออกทุเรียนมาไทยช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.มูลค่า 800 ล้านบาท โดยทุเรียนเวียดนาม เรียกว่า RI6 ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์ หมอนทอง ปลูกมากในภาคใต้ของเวียดนาม

ส่วนทุเรียนของกัมพูชา ยังไม่มีทะลักเข้ามาไทยเพราะยังมีปริมาณที่น้อยน่าจะขายภายในประเทศเท่านั้น แต่ที่น่ากังวล คือ ทุเรียนจากเวียดนามที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะมีระบบน้ำที่ดีซึ่งในอนาคตโอกาสที่ทุเรียนเวียดนามจะนำเข้ามาเพิ่มขึ้นมีสูง

ทุเรียนเวียดนามมีราคาถูกกว่าไทยมาก โดยทุเรียนเวียดนามราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 100-110 บาท ส่วนทุเรียนไทยขายราคากิโลกรัมละ 250 บาท จึงดึงดูดให้ผู้ประกอบการสั่งนำเข้ามาจำนวนมาก

นายอัทธ์ กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าทุเรียน หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะด่านชายแดนต่างๆต้องเข้มงวดและดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการลักลอบ เพราะหากหลุดจากด่านชายแดนเข้ามา ก็จะส่งผลกระทบต่อทุเรียนภาคตะวันออกทันที โดยที่ผู้บริโภคไม่สามารถแยกประเภททุเรียนออกได้ว่าเป็นของไทยหรือเพื่อนบ้าน

สำหรับทุเรียนภาคตะวันออกปลูกมากใน 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง ตราด จำนวน 54 % ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด รองลงมาเป็นทุเรียนในภาคใต้ 40% ภาคเหนือ 4 % และภาคอีสาน 2% โดยมูลค่าการส่งออกทุเรียนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลการค่าส่งออกรวมของพืชส่งออกหลัก 4 ชนิด

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้น หากไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนไทยจะลดลง 53% ทั้งจากสวนทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วและผลผลิตใหม่

“ภัยแล้ง”ทุเรียนไทยลด-เวียดนาม ผลผลิตเพิ่ม

มีการคาดการณ์ว่า หากในปี 2568 หากไทยต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งอีกระลอกจะกระทบต่อผลผลิตของทุเรียนในตลาด ซึ่งจะหายไปจำนวน 6.4 แสนตัน หรือทำให้ผลผลิตทุเรียนลดลง 42% หรือจำนวน 540,000 ตัน ซึ่งปัญหาดังกล่าว ถือเป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำให้กับชาวสวนทุเรียนและพืชผลเกษตรอื่นๆ เพื่อให้มีน้ำพอใช้ ไม่เช่นนั้นผลกระทบใหญ่หลวงต่อการผลิต รายได้ของเกษตรกร และราคาสินค้าที่แพงขึ้น

นายอัทธ์ บอกว่า ในอนาคตทุเรียนเวียดนามจะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ทุเรียนเวียดนามจะมีผลผลิตใกล้เคียงกับทุเรียนไทย ซึ่งชาวสวนทุเรียนต้องหันมาเน้นคุณภาพและมาตรฐานเข้าสู้ โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทุเรียนเวียดนามมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศสามารถปลุกทุเรียนได้ทั้งปี และมีปริมาณน้ำเพียงพอ โดยในปี 2566 ทุเรียนเวียดนามเพิ่มขึ้น 200% และมีปริมาณการผลิตสูงถึง800,000 ตัน เพิ่มจาก 270,000 แสนตัน และในปี 2557 มีพื้นที่ปลูกเกือบ 7 แสนไร่ จาก 680,000 แสนไร่

พื้นที่ปลูกทุเรียนเวียดนาม 90 % ปลูกในจังหวัดสามเหลื่อมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta) จังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือ ดั๊กลัก (Dak Lak) คิดเป็น 21% ของผลผลิตทั้งหมด ตามด้วยเตียนซาง (Tien Giang) และเลิมด่ง (Lam Dong)และปลูกได้ทั้งปี

โดยพบว่าไตรมาส1ปีนี้ เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105 % หรือ 36,800 ตัน ส่วนไทยส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันเพียง 17,900 ตัน และคาดว่าทั้งปี เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนอยู่ที่ 800,000 ตัน ในขณะที่ไทยส่งออกอยู่ที่ 1,100,000-1,200,000ตัน ห่างกันกว่า 400,000 แสนตัน

 ต้นทุนการผลิตทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาท/กก เพิ่มขึ้นเป็น 19 บาท/กก.ในปี 2567 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น 10 บาท/กก. ถือว่าต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยสูงกว่าเวียดนาม 2 เท่า

อย่างไรก็ตามยังไม่รวมทุเรียน มูซางคิง ทุเรียนพันธุ์มาเลเซีย ที่ได้รับรางวัลจากการผสมผสานรสชาติขมและหวานที่ไม่ธรรมดา และยังได้รับความนิยมมากที่สุดทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อเหมาซานหวาง และมีราคาสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ

นอกจากนี้ยังได้รับความนิยมมากขึ้นในจีน ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งของทุเรียนไทยอีกสายพันธุ์หนึ่งแม้ว่าจะยังไม่หลากหลายแต่หากอนาคตไทยยังไม่เร่งพัฒนาคุณภาพทุเรียนให้โดดเด่นกว่าคู่แข่งอาจจะถูกทุเรียนสายพันธุ์เพื่อนบ้านยแย่งตลาดจีนไปแน่นอน ยังไม่รวมถึงจีนที่เริ่มมีการปลูกทุเรียนและพัฒนาสายพันธุ์ให้ใกล้เคียงกับทุเรียนไทยอีกด้วย

ชะตากรรม “ล้งทุเรียนไทย” ส่อเจ๊ง เพิ่ม

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ระหว่างปี 2565 – 2567 มีจำนวนล้งจีนเพิ่มขึ้น 665 ราย ในขณะที่ล้งไทยปิดตัวจาก 25 ราย เหลือ 10 ราย และในอนาคตคาดว่า ล้งไทยจะปิดตัวเพิ่มขึ้น เหลือไม่ เกิน 5 ราย

ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่จ.จันทบุรี พบว่า มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาก่อสร้างอาคารเพื่อใช้สำหรับรับซื้อทุเรียนผุดขึ้นหลายแห่งในพื้นที่จันทบุรี จากการการตรวจสอบพบว่าล้ง ที่ผ่านมาตรฐาน GMP จำนวน 827 ล้ง โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2567 ในการทำผลไม้คุณภาพและหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อระบายผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

จากการสอบถามเจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า ล้งที่เข้ามารับซื้อทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ระยอง ตราด และ จันทบุรีมีประมาณ 1,200 ล้ง เพิ่มขึ้นจาก ปี 2566 ที่เดิมมีเพียง 700 ล้ง ส่วนล้งที่เหลือเป็นล้งไทยร้อยละ 100 มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่เหลือเป็นล้งร่วมทุน ระหว่าง คนไทยกับคนจีน สัดส่วน 51-49

4 เดือน ไทยยังครองแชมป์ส่งออกทุเรียนสด

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วง 4 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีน มีปริมาณ 225,204 ตัน มีแนวโน้มว่าเดือน พ.ค. 2567 จะส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตทุเรียนของไทยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และมีผลผลิตส่งออกเพิ่มขึ้น เมื่อสิ้นสุดฤดูของทุเรียนภาคตะวันออก ก็จะเข้าสู่โหมด “ทุเรียนภาคใต้” จึงทำให้ไทยมีผลผลิตส่งออกอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลให้ปีนี้ไทยยังคงครองแชมป์การส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้เหมือนเดิม

นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกของไทย ออกสู่ตลาดล่าช้ากว่าปีที่แล้ว ทำให้ผลผลิตมีน้อยกว่าความต้องการ แต่ราคาทุเรียนสดต่อหน่วยของไทยในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าปรับตัวสูงขึ้น ราคาส่งออกเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 216 บาท/กก. เนื่องจากความต้องการบริโภคในตลาดจีนเพิ่มขึ้น

ข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า จากปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่จูงใจต่อการลงทุน รวมทั้งความต้องการของตลาดในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้นทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมา เริ่มให้ผลผลิตเป็นครั้งแรกในปี 2567 เพิ่มขึ้น จำนวน 38,849 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,843 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,991 กิโลกรัม ลดลง 148 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 7.43

แต่เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้การออกดอกติดผลไม่เต็มต้น น้ำหนักเฉลี่ยต่อลูกลดลง ประกอบกับมีต้นทุเรียนที่เริ่มให้ผลผลิต ปี 2567 เมื่อคำนวณโดยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจึงทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง ผลผลิตรวม 782,874 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 776,914 ตัน เพิ่มขึ้น 5,960 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.77

สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตทุเรียน เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ม.ค.ถึงก.ค.2567 โดยจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนพ.ค. 2567 คิดเป็นร้อยละ 53.20 ของผลผลิตทั้งหมด โดยขณะนี้ทุเรียนภาคตะวันออกผลผลิตออกไปเกือบ 100% และในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้ จะเป็นฤดูกาลแรกของทุเรียนภาคใต้ จะทำให้ตลาดทุเรียนไทยกลับคึกคักเหมือนเดิม

แม้ทุเรียนไทยจะมีคู่แข่งรอบด้าน จากเวียดนาม -จีน แต่ด้วยรสชาติโดดเด่น หอมหวาน นุ่มนวลและอัดแน่นด้วยคุณภาพ เชื่อว่า ทุเรียนไทยยังคงยืนหนึ่งสู้ศึกรอบด้านได้ แม้จะต้องปรับตัวรับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนไปอย่างรวดเร็ว

อ่านข่าว:

ทวงแชมป์ "ทุเรียนไทย" ส่งออกตลาดจีน 4 เดือน พุ่ง 2.25 แสนตัน

เปิดใจ "แสงชัย" ค่าแรง 400 บาท อย่ากระชากแรงจน SMEs ล้มตาย

กวก.เดินหน้าปั้นทุเรียนใต้คุณภาพ ตั้งเป้าส่งออก 1.3 แสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง