"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ศึกษาเสมอภาค "สมการแก้จนข้ามรุ่น"

สังคม
7 มิ.ย. 67
13:46
253
Logo Thai PBS
"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ศึกษาเสมอภาค "สมการแก้จนข้ามรุ่น"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การศึกษาเสมอภาค เท่าเทียม มักจะถูกยกมาเป็นบทสนทนาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ แม้ที่ผ่านรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการจะมีการจัดตั้งกองทุนเสมอภาคด้านการศึกษา(กสศ.) เพื่อวางแนวทางบริการจัดการ เพื่อทำให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียม แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรดังกล่าวได้ ทั้งๆที่ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันและขับเคลื่อนนโย บายมาตลอด

รายการ "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" สนทนากับ "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถึงอนาคต ทิศทาง บทบาทหน้าที่ และเป้าหมายในฐานะเข็มทิศนำทางด้านการศึกษา

หากการศึกษาล้มเหลว เศรษฐกิจก็แย่ สังคมก็ปั่นป่วน รวมไปถึงเรื่องของการบ้านการเมือง คอรัปชั่นก็จะเต็มบ้านเต็มเมือง

เกือบ 6 ปีแล้วที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ "ประธานกรรมการบริหาร กสศ." ยอมรับว่า เป็นงานใหญ่มีความยากอยู่ในตัวเอง แต่มีความคืบหน้าตามทิศทางที่ได้วางนโยบายไว้ เช่น การช่วยเหลือนักเรียนจากครอบครัวยากจนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาได้จำนวน 1.2 ล้านคน

จากทั้งหมด 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ ยังมีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาอีกประมาณ 1 ล้านคน เพื่อรอการผลักดันเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ระดับอนุบาล – มัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมไปถึงช่วยดูเรื่องการเรียนรู้หากเข้าไปสู่ตลาดแรงงาน กระทั่งอายุ 24 ปี ขณะเด็กที่มีความประสงค์ศึกษาสูงกว่าภาคบังคับในการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 หรืออาชีวศึกษา ก็จะมีการผลักดันในรูปแบบที่ต่าง ๆ ที่ให้เหมาะสม ขณะที่ในระดับอุดมศึกษา จะมีการส่งข้อมูลไปให้กับมหาวิทยาลัยที่มีทรัพยา กรเพียงพอในการรับช่วงดูแลต่อ

หากถามว่า กสศ. รู้ได้อย่างไรว่า เด็กคนไหนเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา… "ประธานกรรมการบริหาร กสศ." อธิบายว่า ตัวเลขของเด็กเยาวชนที่เรียนอยู่ในภาคบังคับมีประมาณ 9 ล้านคน จากครอบครัวฐานะแตกต่างกันไป กสศ. ได้สำรวจเก็บข้อมูลรายได้ครัวเรือน ประกอบปัจจัยอื่น ๆ เช่น สถานะครอบครัว จำนวนสมาชิกครอบครัวที่ต้องพึ่งพิง มีจำนวนผู้หารายได้กี่คน สภาพที่อยู่อาศัย และนำมาวิเคราะห์โดยทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,กระทรวงศึกษาธิการ ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนวณทางวิชาการเพื่อคัดกรองความยากจน

"แน่นอนภาครัฐมีการช่วยเหลือที่เป็นพื้นฐาน แต่เป็นแบบทั่วถึงทุกคนเท่า ๆ กัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ส่วน กศส. เข้าไปเติมเต็ม เหมือนไปเติมรอยที่ขาด แรกเริ่มก็ถูกตัดงบ ได้มาน้อย และก็ช่วยเท่าที่จะทำได้ ก็ค่อย ๆ เริ่มเพิ่มมาเรื่อย ๆ เรียกว่า ทุนเสมอภาค เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ให้เด็กหลุดออกมานอกระบบ โดยมีเงื่อนไขการติดตามอัตราการมาเรียน ผลการเรียน 5 ปีผ่านมา เด็กนักเรียนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาทั้ง 1.2 ล้านคน ดีขึ้นทั้งในอัตราการเรียน - ผลการเรียน"

ตีฝ่าวงล้อม โจทย์ยาก"วงจรยากจนข้ามรุ่น"

ดร.ประสาน บอกว่า เกือบ 6 ปี การทำงานในฐานะประธานกรรมการบริหาร กสศ. ได้เห็นหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะปัจจัยด้านสถานะครอบครัว การอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายเมื่อพ่อแม่ต้องเข้ามาเป็นแรงงานในเมือง หรือครอบครัวที่ผู้ปกครองระดับการศึกษาไม่ได้สูง ก็จะมีทัศนคติที่ว่าเรียนไปทำไม โดย 60% จากผลวิจัยพบว่าเด็กยากจนเหล่านี้ ผู้ปกครองจะมีการศึกษาสูงสุดประถมศึกษา ทำให้เกิดวงจรที่เรียกว่า "ความยากจนข้ามรุ่น" เพราะระดับการศึกษาสูงสุดของผู้ปกครองสัมพันธ์กับระดับการศึกษาของเด็ก และระดับการศึกษาสัมพันธ์กับการประกอบอาชีพ และรายได้

วิธีหนึ่งที่จะตีฝ่าวงล้อมวงจรนี้ได้ ก็ต้องให้ลูกๆ เขาได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น กสศ. หวังว่าเขาจะได้ทักษะ เพื่อไปประกอบอาชีพได้รายได้ที่ดีขึ้น รวมถึงการศึกษาในโรงเรียนก็ต้องตอบโจทย์

นอกจากนี้ กสศ. ยังมีโครงการสำรวจครอบครัวยากจนที่อยู่ห่างไกล ที่มีลูกจบมัธยมปีที่ 3 หรือ จบ ปวส. เพื่อนำส่งข้อมูลให้กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่สนับสนุนการฝึกอาชีพ เช่น คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเด็กเหล่านี้มาฝึกอบรมผู้ช่วยทันตแพทย์ 1 ปี ได้ทำงานมีเงินเดือนเลี้ยงดูครอบครัวได้ รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีหลายแห่ง ก็มีการเข้าร่วมพัฒนา ฝึกเด็กที่สนในด้านของอุตสาหกรรมใหม่ๆ นวัตกรรมขั้นสูง ให้เป็นแรงงานที่สำคัญ เรียกได้ว่า "Learn to Earn" การศึกษากินได้ ที่ไม่ใช่แค่เพียงเข้ามาช่วยในเรื่องของเงินทุน แต่เป็นการตอบโจทย์ที่เรียกว่า "all for education"

All For Education "การศึกษาทั่วถึง"

ดร.ประสาร ให้นิยามของคำว่า "All for education" ว่า ทุกคนมีความรับผิดชอบร่วมกันให้การศึกษาไปถึงทุกคน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งจะพูดถึงปลายน้ำอย่างเดียวไม่ได้ เฉกเช่นคำเปรียบเทียบที่ว่า "ทั้งหมู่บ้านต้องช่วยกันเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้โตมีคุณภาพสูงสุด" ดังนั้นการส่งเสริมการศึกษาไม่ใช่เพียงแค่การแจกทุน แต่จะต้องดูแลลตั้งแต่หลักสูตรเข้าถึงผู้เรียนเพียงใด ผลลัพธ์การเรียนรู้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานหรือไม่ กสศ. จึงได้มีการสร้างภาคีเครือข่ายทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ

การทำงานในแบบ "All for education" ของ กสศ. เป็นไปในทิศทางที่ไม่เพียงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ยังต้องแก้ความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพ ต้องทำให้เห็นว่าผลลัพธ์การศึกษาทำให้คนเรียนรู้ได้จริง ๆ เพื่อสร้างทักษะพื้นฐานทุนมนุษย์ที่จะทำให้เขาเติบโต เป็นพลเมืองที่ดี เป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพตอบโจทย์ของประเทศ

ที่ผ่านมาสำนักสถิติแห่งชาติ และนักวิชาการมหาวิทยาลัย ได้สำรวจทักษะพื้นฐาน หรือทักษะทุนมนุษย์วัยแรงงาน 3 ด้าน คือ "ทักษะรู้หนังสือ" ไม่ใช่แค่การเขียนออกเขียนได้ แต่หมายถึงการใช้ประโยชน์จากการรู้หนังสือ เช่น อ่านข้อความแล้วเข้าใจ "ทักษะดิจิทัล" คือ การหาประโยชน์จากเทคโนโลยี เว็ปไซต์ และทักษะสังคมอารมณ์

สิ่งที่น่าตกใจพบว่า "ทักษะรู้หนังสือ" และ "ทักษะดิจิทัล" วัยแรงงานของไทยต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยกว่า ร้อยละ 70 ขณะที่ "ทักษะสังคมอารมณ์" ต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 30

ซึ่งการคำนวณทางสถิติ หากไทยแก้โจทย์นี้ได้จะช่วยความเสียหายทางเศรษฐกิจ 3.3 ล้านล้าน อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนไปก็จะสามารถตอบได้ว่า "ทำไมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ" นั่นเพราะทักษะทุนมนุษย์จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญด้านธุรกิจ รวมทั้งยูเนสโก (UNESCO) ยังประเมินว่า หากผลักดันเด็ก 1 ล้านของไทยที่อยู่นอกระบบการศึกษา เข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้ ก็จะแก้โจทย์ด้านเศรษฐกิจที่จะทำให้โตขึ้นปีละ 1.7%

..ถามว่าการดำเนินงานมาเกือบ 6 ปี ของ กสศ. เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่? "ประธานกรรมการบริหาร กสศ." เชื่อว่าเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็มีความท้าทายที่เป็นโจทย์ใหญ่หลายด้าน สำคัญคือการสร้างภาคีทุกภาคส่วนให้ร่วมคิด ร่วมสร้าง ยุทธศาสตร์แรกจะต้องพัฒนาครูไปทางไหน อย่างไร ทั้งในระบบเรียนรู้ เทคโนโลยีดิจิทัล หรือการเข้าฝึกอบรมเพื่อร่วมออกแบบเรียนรู้ทักษะขั้นพื้นฐานให้กับเด็ก ๆ พร้อมที่จะออกไปเผชิญสังคมทั้งในเรื่องของอารม และการรู้หนังสือ

ดร.ประสาน ทิ้งท้ายว่า ความจริงประเทศไทยมีทรัพยากรที่ใช้ในด้านการศึกษาไม่น้อย กระทรวงศึกษาใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี ถ้ารวมหน่วยสังกัดอื่นๆ ด้วย ภาคเอกชน ประมาณ 8 แสนล้านบาทต่อปี หากหารด้วย GDP จะตก 5-6% นับเป็นงบประมาณเกือบสูงที่สุดในโลก ถึงระดับพวก OCD (กลุ่มประเทศมั่งมี) แต่ทำไมผลลัพธ์จากการศึกษาเราไม่ได้อย่างเขา

พบกับรายการ "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" เวลา21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันพฤหัสบดี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง