วันนี้ (5 มิ.ย.2567) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระทรวง พม.เข้าข้างครอบครัวของเด็กเชื่อมจิต หลังเข้าพบ นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ว่า
จากการที่ครอบครัวของเด็กเชื่อมจิต มายื่นข้อร้องเรียนที่กระทรวง พม. และอธิบดี ดย. ได้ให้สัมภาษณ์ ตนขอยืนยันว่า ตนหรือปลัด พม. หรืออธิบดี ดย. เราไม่ใช่นักจิตวิทยา ไม่ใช่นักสหวิชาชีพ
ดังนั้นการที่เราจะไปตัดสินคนใดคนหนึ่ง หรือแม้แต่เด็กคนหนึ่ง ว่ามีความปกติหรือไม่ปกตินั้น ตนคิดว่า ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการ เราคงไม่สามารถที่จะไปกล่าวหาหรือบอกว่าคนนั้นปกติ คนนี้ไม่ปกติได้
แต่จากการที่อธิบดี ดย. ได้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่า ดูจากสายตาแล้ว ภายนอกตัวเด็กนั้นยังปกติดี หมายถึงว่า ยังไม่ได้มีความผิดปกติใด ๆ ทางการปฏิบัติ หรือทางพฤติกรรม แต่การที่เด็กได้รับการสั่งสอนมาอย่างไร ถูกปลูกฝังพฤติกรรมมาอย่างไรนั้น ถูกหรือผิดเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาและทีมสหวิชาชีพ ที่จะต้องมาวินิจฉัย
ในฐานะที่เป็นผู้ที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นอธิบดี ดย. หรือใครก็แล้วแต่ ผมคิดว่าไม่มีใครที่จะระบุหรือกล่าวหาว่า คนใดคนหนึ่งผิดปกติหรือไม่
ในทางกลับกัน หากเมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.2567) อธิบดี ดย. พูดไปว่า เด็กมีอาการผิดปกติ หนึ่งสองสามสี่ ก็ล่อแหลมอีก เพราะผู้ปกครองอาจจะใช้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาทมาฟ้องร้องเอากับข้าราชการได้ ซึ่งต้องเห็นใจทั้งสองฝ่าย
ผมมั่นใจ ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการในการทำงานมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติในการดูแลสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของเด็กคนหนึ่งนั้น เราทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ และจะไม่ยอมให้ผู้ใดผู้หนึ่งมาเอาเปรียบ หรือว่าใช้ประโยชน์จากเด็กเด็ดขาด
นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้าของกระทรวง พม. เข้าไปแก้ปัญหาในเรื่องนี้นั้น ตนคิดว่าการทำงาน การแก้ปัญหาอะไรก็ตาม หัวใจสำคัญเราไม่ได้เน้นที่ความเร็ว เราเน้นที่ความถูกต้อง เราเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของการแก้ไขปัญหา เพราะการแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว หรือการตัดสินใจอะไรด้วยความรวดเร็วนั้น ถ้าหากตามมาด้วยปัญหาที่ใหญ่กว่า หรือว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แปลว่า ความรวดเร็วที่เราใช้ไปนั้นเป็นการเสียเวลาโดยสิ้นเชิง
ดังนั้นการทำงานของภาครัฐ เรามีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ที่บังคับเจ้าหน้าที่ พม. ในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะไปมีปฏิสัมพันธ์กับตัวเยาวชน หรือเด็ก หรือแม้แต่ครอบครัวนั้น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด
“ต้องบอกว่า คำว่าเคร่งครัดนี้แปลว่า ไม่ได้น้อยไป และไม่ได้มากไป กฎหมายให้อำนาจเราทำหน้าที่เท่าไรเราจะทำเท่านั้น เพราะหากทำน้อยไป จะหาว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าทำมากไปจะแปลว่าเราใช้อำนาจโดยไม่ควร ดังนั้นกฎหมายให้อำนาจหน้าที่เท่าไหร่เราทำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับผู้ปฏิบัติหน้าที่ ให้ทำความเข้าใจกับระเบียบกฎหมายทุกมาตราอย่างละเอียดถี่ถ้วน” นายวราวุธกล่าว
อ่านข่าว : “ทักษิณ” อยู่ไหน? สู้ต่ออย่างไร ม.112