ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ขยะล้นเมือง" คนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 7.3 หมื่นตัน/วัน

สิ่งแวดล้อม
5 มิ.ย. 67
13:58
24,474
Logo Thai PBS
"ขยะล้นเมือง" คนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 7.3 หมื่นตัน/วัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปี 2566 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน เฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน กรุงเทพสูงสุด 12,748 ตัน/วัน ขณะที่ถูกกลับมาใช้ประโยชน์ 9.31 ล้านตัน

"ขยะมูลฝอย" อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งหากได้รับการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดมลพิษในด้านต่าง ๆ อาทิ กลิ่นเหม็นน้ำเสีย สัตว์พาหะนำโรค รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศของโลก

ขยะ คือ เศษวัสดุสิ่งของ จากการใช้งานหรือการบริโภคแล้ว ที่ใช้ประโยชน์อื่นอีกไม่ได้ และต้องการทิ้ง ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ที่เกิดจากกระบวนการผลิต การจำหน่าย การบริโภค และกิจกรรมอื่นของมนุษย์ ได้แก่ ขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตรายชุมชน กากของเสียอุตสาหกรรม มูลฝอยติดเชื้อ ขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะพลาสติก ขยะอาหาร

ขยะมูลฝอยเป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น บ้านพักอาศัย สถานประกอบการค้า แหล่งธุรกิจ ร้านค้า สถานบริการ ตลาดสด สำนักงาน แบ่งได้เป็น 4 ประเภท

1.ขยะอินทรีย์ จำพวกเศษอาหาร เศษใบไม้ เศษหญ้า
2.ขยะรีไซเคิลจำพวกแก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก อลูมิเนียม ยาง
3.ขยะอันตราย ไม่ว่าจะเป็นถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ สารเคมี
4.ขยะทั่วไปจำพวกเศษผ้า เศษไม้ เศษวัสดุต่าง ๆ

อ่านข่าว : ลดโลกร้อน เริ่มต้นจาก "จานอาหาร" ของเรา

จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน เฉลี่ยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ปี พ.ศ.2566 ทั้งนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 5 ที่มีปริมาณขยะมูลฝอย 25.70 ล้านตัน

สำหรับปริมาณขยะมูลฝอย ภาคกลางมีปริมาณขยะมูลฝอยสูงที่สุด 31,339 ตัน/วัน ซึ่งเป็นขยะมูลฝอยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มากที่สุด 12,748 ตัน/วัน

รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณขยะมูลฝอย 17,873 ตัน/วัน ภาคใต้ 9,705 ตัน/วัน ภาคตะวันออก 7,073 ตัน/วัน ภาคเหนือ 4,582 ตัน/วัน และภาคตะวันตก 3,268 ตัน/วัน ซึ่งยังไม่นับขยะที่ตกค้างในแต่ละปีที่มีจำนวนนับหมื่นตันต่อปี

จังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่

1.กรุงเทพมหานคร มีปริมาณขยะ 12,748 ล้านตัน/วัน
2. จ.สมุทรปราการ มีปริมาณขยะ 3,465 ล้านตัน/วัน
3. จ.ชลบุรี มีปริมาณขยะ 3,374 ล้านตัน/วัน
4. จ.นครราชสีมา มีปริมาณขยะ 2,588 ล้านตัน/วัน
5. จ.นนทบุรี มีปริมาณขยะ 2,065 ล้านตัน/วัน

อ่านข่าว : อากาศแปรปรวนจ่อเผชิญ "ลานีญา" ระวัง "ฝนตกหนักสุดขั้ว"

ทั้งนี้เนื่องจากในปี 2566 ประเทศไทยได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากวิกฤติของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้เปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แรงงาน และการลงทุน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้การบริโภคของประเทศสูงเพิ่มมากขึ้นไปพร้อมกัน

นอกจากนี้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบริโภค กระแสสั่งสินค้าและอาหารออนไลน์เพื่อความสะดวกสบาย ล้วนเป็นปัจจัยส่งผลให้มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนและขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น

สำหรับภาพรวมการจัดการขยะมูลฝอย ที่เกิดขึ้น 26.95 ล้านตัน ถูกกลับมาใช้ประโยชน์ 9.31 ล้านตัน ขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง ร้อยละ 10.17 ล้านตัน และ ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.47 ล้านตัน

โดยกระบวนการซาเล้งและบ้านเรือนจะนำไปจำหน่ายให้กับร้านรับซื้อของเก่า ถือเป็นกลไกทำให้เศษพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ จากบ้านเรือน อาคาร สำนักงาน และแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์

อ่านข่าว : “ปะการังฟอกขาว” ภาพสะท้อน “โลกร้อน” ขั้นวิกฤต

ทั้งนี้ชุมชนยังคงมีปัญหาในการจัดการขยะมูลฝอย ณ ต้นทาง โดยการคัดแยกขยะมูลฝอยยังคง ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากขยะบรรจุภัณฑ์บางประเภทมีราคารับซื้อต่ำหรือไม่มีการรับ ซื้อโดยร้านรับซื้อของเก่า ทำให้ประชาชนทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ เพื่อนำไปกำจัดซึ่งเกิดจากการที่ไม่มี เครื่องมือ กลไกที่จะให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนเอง อีกทั้งกฎหมายในปัจจุบันไม่มีผลบังคับให้ประชาชนคัดแยกขยะมูลฝอย

ส่วนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นและเอกชนทั่วประเทศ ปี พ.ศ. 2566 มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินงาน ทั้งสิ้น 2,079 แห่ง และสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย 36 แห่ง

ซึ่งในส่วนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินงาน 2,079 แห่ง แบ่งเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยซึ่งดำเนินการได้อย่างถูกต้อง จำนวน 114 แห่ง เช่น การฝังกลบอย่างถูกหลักวิชาการ หรือการฝังกลบแบบกึ่งใช้อากาศ

การกำจัดโดยการเผาเพื่อผลิตพลังงาน การกำจัดโดยการเผาที่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ ระบบหมักทำปุ๋ยหรือหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ จากการคัดแยกหรือการบำบัด แบบเชิงกล-ชีวภาพ และระบบผสมผสาน

สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยซึ่งดำเนินการไม่ถูกต้อง อีกจำนวน 1,965 แห่ง ประกอบด้วย การเทกองที่มีการควบคุม การเทกอง การเผากลางแจ้ง การกำจัดโดยการเผาไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ และการกำจัดที่มีการเทกองหรือเทกองที่มีการควบคุมภายใน สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย

สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินการ ทั้ง 2,115 แห่ง โดยจังหวัดที่มีจำนวนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและสถานีขนถ่าย ขยะมูลฝอยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จ.ขอนแก่น 122 แห่ง จ.เชียงราย 115 แห่ง จ.ชัยภูมิ 102 แห่ง จ.แม่ฮ่องสอน 97 แห่ง และ จ.ลำปาง 85 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ยังคงพบว่า ขยะอาหารและขยะพลาสติกถูกพบเป็นจำนวนมากและเป็นสัดส่วนหลัก ของปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย สะท้อนให้เห็นว่าระบบการคัดแยก ขยะมูลฝอยยังคงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพออาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบการกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งจะส่งผลให้สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยหลายแห่งเต็มเร็วกว่ากำหนดหรือเกินกว่าศักยภาพในการรองรับ

แนวทางในการช่วยกันลดขยะ ทุกภาคส่วน รวมถึงคนไทยทุกคน ต้องลงมือปฏิบัติไปพร้อมกัน ใช้น้อยหรือลดการใช้ โดยใช้เท่าที่จำเป็น และเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ใช้ถุงผ้าไปซื้อของแทนถุงพลาสติก การใช้แก้วน้ำส่วนตัว ลดปริมาณเศษอาหาร รวมถึงการลดการใช้กล่องโฟม

เรียบเรียง : นพรัตน์ ชูโสด ผู้บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : "เขื่อนพูงอย" ผลกระทบข้ามแดน : ตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน หรือหายนะ "คนลุ่มน้ำโขง"

สำรวจปะการัง อช.หมู่เกาะสุรินทร์ "เกาะตอรินลา" หนักสุดฟอกขาว 50 % 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง