อากาศแปรปรวนจ่อเผชิญ "ลานีญา" ระวัง "ฝนตกหนักสุดขั้ว"

สิ่งแวดล้อม
5 มิ.ย. 67
12:45
16,627
Logo Thai PBS
อากาศแปรปรวนจ่อเผชิญ "ลานีญา" ระวัง "ฝนตกหนักสุดขั้ว"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยเสี่ยงเผชิญ "ฝนตกหนักสุดขั้ว" พ้นเอลนีโญรอยต่อเข้าสู่ลานีญา ทำให้อากาศแปรปรวน บางวันไม่มีฝน บางวันฝนตกหนัก

ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ มีคำเตือนจาก "กรมอุตุนิยมวิทยา" ว่า อาจเกิดปรากฏการณ์ "ฝนตกหนักสุดขั้ว" ซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์ "ลานีญา" ที่ทำให้ปริมาณฝนภาพรวมเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย ประกอบกับอาจมีพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยอีก 1-2 ลูก

นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์กับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะผ่านปรากฏการณ์เอลนีโญมาแล้ว และเข้าสู่ช่วงสภาวะเป็นกลาง ซึ่งไม่เป็นทั้งเอลนีโญและลานีญา ประมาณ 2 เดือนในช่วง มิ.ย.ไปจนถึงต้นเดือน ก.ค.

แต่ก็ทำให้อากาศแปรปรวน เพราะลมฝนยังไม่คงตัว บางวันแรง บางวันเบา บางวันมีพายุ บางวันอาจมีการก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย หรือบางวันก็อาจจะมีแนวร่องมรสุมเข้ามา ซึ่งทำให้อากาศยังเปลี่ยนแปลง

นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา

แต่หากเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา จากสภาวะเป็นกลางก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นลานีญาอ่อนๆ ทำให้ช่วงปลายเดือน ก.ค.ถึงเดือน ก.ย.-ต.ค.จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ลมด้านแปซิฟิกพัดแรง

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลหลักยังเป็นเรื่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากอันดามันพัดเข้ามา หากเป็นแบบนี้ก็จะมีฝนตก สลับกับบางช่วงที่ฝนหายไป

ช่วงต้นฤดูฝน ปรากฏการณ์ที่จะเกิดฝนตก 5 วัน หยุด 3 วัน ยังเป็นไปได้ แต่ขณะนี้ปรากฏการณ์ที่เป็นกลางยังคงมีความผันผวน

ขณะที่ความแรงของฝนมีความเปลี่ยนแปลง โดยตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เมื่อวันที่ 21 พ.ค.เป็นต้นมา พบว่า ฝนทางด้านเขื่อนภูมิพลมีปริมาณมากกว่า 140 มิลลิเมตร หรือบริเวณทางด้านภาคตะวันออก ตรวจวัดได้ประมาณ 160 มม. ซึ่งในช่วงฤดูมรสุมพัดปกคลุม ด้านรับมรสุมจะมีฝนตกหนัก เช่นเดียวกับฝั่งอันดามัน รวมถึงจันทบุรี ระยองและตราด

หากยังพัดแบบนี้ไปเรื่อยๆ แรงบ้าง เบาบ้าง แต่ฝนยังตกปกติ หรืออาจมีบางวันที่ฝนตกมากกว่าค่าปกติในลักษณะ Extreme ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะช่วงที่อากาศร้อนก็ร้อนจัดและร้อนต่อเนื่อง เมื่อเข้าสู่ช่วงฝน บางวันอาจไม่มีฝน แต่บางวันอาจมีฝนตกหนักมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดในปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาในประเทศไทย โดยในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาประมาณการณ์ไว้ว่า จะมีพายุเคลื่อนเข้าไทยไม่เกิน 2 ลูก บางลูกอาจสลายตัวในประเทศลาว กัมพูชา หรือเวียดนาม แต่ก็ส่งผลทางอ้อมกับประเทศไทย หากไม่เกิดพายุก็จะเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ หรือดีเปรสชัน ทำให้เกิดฝนในภาคเหนือและภาคอีสาน

ตามปกติ พายุจะเคลื่อนตัวเข้ามาประมาณปลายเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป และความถี่ของพายุจะเกิดมากในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. โดยจะเข้าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ หลังจากนั้นจะผ่านเข้ามาทางตอนกลางของภาคอีสาน แล้วมาทางภาคเหนือ และค่อยๆ ขยับจากข้างบนลงไปทางภาคใต้ในช่วงเดือน ต.ค.

ตอนนี้มีพายุ 2 ลูกถือเป็นสัญญาณดี แต่ช่วงนี้ต้องระวังเรื่องฝนสุดขั้ว เพราะอากาศยังผันผวน อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งที่อากาศจะปรับเข้าสู่สมดุล

ฝนตกแบบไหนเรียกว่า "สุดขั้ว"

หากใครสงสัยว่า "ฝนตกหนักสุดขั้ว" คืออะไร แล้วฝนตกแบบไหนถึงเรียกว่า "สุดขั้ว"

ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ อธิบายว่า เดิมค่าเฉลี่ยฝนตามปกติจะไม่ถึง 50-60 มม. แต่หากฝนตกมีปริมาณเกิน 100 มม.ขึ้นไปในช่วง 24 ชั่วโมง ก็เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ฝนตกหนักแบบสุดขั้ว

ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ค่าเฉลี่ยฝนที่ตกหนักจะไม่เกิน 90-100 มม. แต่ในปี 2567 มีโอกาสที่ฝนจะตกในพื้นที่เดียวปริมาณมากกว่า 100 มม. หรืออาจมีปริมาณมากถึง 120-150 มม.ในหลายจุด เน้นไปทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานและภาคตะวันออก

ส่วนกรุงเทพฯ อาจมีบางวันที่มีความเสี่ยง ฝนตกมาทีก็จะหนัก แต่ถ้าไม่มาก็คือไม่ตกเลย หรือตกเล็กน้อย

ส่วนที่มีข้อมูลระบุว่า ความถี่ของฝนตกในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ความเข้มของฝนที่ตกกลับเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า ความถี่ของจำนวนวันที่ฝนตกลดลง แต่จำนวนวันที่ฝนตกหนักถึงหนักมากมีมากขึ้น

จำนวนวันที่ฝนตกปกติในช่วงหน้าฝนจะอยู่ประมาณ 17-21 วัน ซึ่งฝนที่ตกในช่วงนี้จะมีปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง ขณะที่ปีนี้อาจมีจำนวนวันที่ฝนตกน้อยลงกว่าเดิม แต่ในวันที่ฝนตกก็อาจจะตกหนัก

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น ฝนตกทีเดียว 100 มม.ขึ้นไป หรือตกหนักวันเดียว แล้วหายไปอีก 3 วัน ..สรุปคือ จำนวนวันที่ฝนตกน้อยลง แต่วันที่ฝนตกหนักมีมากขึ้น

สำหรับการคาดการณ์ฝนตลอดทั้งปี 2567 ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ คาดว่าจะมากกว่าค่าปกติในช่วงฤดูฝนประมาณ 2-5 % หรือมีโอกาสมากกว่านี้ เพราะตั้งแต่เดือน ก.ค.-พ.ย. เป็นช่วงระหว่างเปลี่ยนถ่ายไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา อาจมีพายุถี่ขึ้น แม้สลายตัวอยู่ใกล้ประเทศไทย ไม่เข้าโดยตรง แต่ก็ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าจะใกล้เคียงกับค่าปกติ ขณะที่บางพื้นที่มีความเป็นไปได้ที่ฝนจะมากกว่าค่าปกติมากกว่า 10 % จึงต้องเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา เทียบสถิติปริมาณฝนรายเดือนและรายปีของประเทศไทยในปี 2566 เปรียบเทียบกับค่าปกติระหว่างปี 2534-2563 พบข้อมูลว่า ทั้งประเทศมีปริมาณฝนตลอดทั้งปี 1,520.6 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 6 %

หากแยกเป็นรายภาคพบว่า ภาคเหนือ มีปริมาณฝนตลอดทั้งปี 1,193.9 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5 %, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณฝน 1,436.4 มม. มากกว่าค่าเฉลี่ย 1 %, ภาคกลาง มีปริมาณฝน 1,022.7 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 21 %, ภาคตะวันออก มีปริมาณฝน 1,561.3 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 17 %, ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีปริมาณฝน 1,773.1 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 3 % และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีปริมาณฝน 2,762.6 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 3 %

เรียบเรียง : ดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : 

“ปะการังฟอกขาว” ภาพสะท้อน “โลกร้อน” ขั้นวิกฤต

กรมชลฯ เตรียมรับฤดูฝน-จับตาช่วง ส.ค.-ต.ค.เสี่ยงฝนตกหนักสุดขั้ว

Climate Tech "เทรนด์ใหม่" พาณิชย์ ดันไทยรองรับเทคโน-ดิจิทัล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง