"พ่อแม่พิมพ์เขียว" พฤติกรรมส่งต่อ "ลูก" นักเลียนแบบระดับโลก

ไลฟ์สไตล์
5 มิ.ย. 67
14:23
660
Logo Thai PBS
"พ่อแม่พิมพ์เขียว" พฤติกรรมส่งต่อ "ลูก" นักเลียนแบบระดับโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เด็กเจนอัลฟาที่เกิดมายุคนี้จะถูกปลูกฝังเรื่อง "การเห็นคุณค่าในตัวเอง" หรือ Self-Esteem เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากการเป็น "ต้นแบบ" ที่ดีและมีตัวตนอยู่จริงของพ่อแม่ในสายตาลูก เพื่อให้ "นักเลียนแบบระดับโลก" ได้เรียนรู้และทำตาม

อย่าเล่นนะเดี๋ยวบ้านเลอะ
อย่าออกไปนะ เดี๋ยวตุ๊กแกกินตับ
อย่าดื้อนะ เดี๋ยวตำรวจมาจับ

คำสอนแบบดั้งเดิมที่คนยุคเจน X เจน Y หรือแม้แต่เด็กยุคนี้ มักได้ยินมาตั้งแต่เด็กเสมอ จะด้วยกุศโลบายใด ๆ ก็แล้วแต่ แต่นี่คือสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศไทยในยุคที่สังคมเข้าใจกันว่า การทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองมาก ๆ จะทำให้เด็กมีนิสัยหยิ่งยะโส ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ พัฒนาไปสู่ความก้าวร้าว หรือเรียกแทนด้วยคำว่า "เดี๋ยวเหลิง"

ความเข้าใจเหล่านี้ ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กลับกลายเป็นสิ่งที่ใช้แทบไม่ได้แล้ว

การเห็นคุณค่าในตัวเอง คือการสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตัวเองผ่าน "ความสำเร็จ" ที่มาจาก "ความพยายาม" ของตัวเด็กเอง ในขณะที่เด็กที่ขาด Self-Esteem มักจะไม่รู้สึกดีกับตัวเอง ไม่รักตนเอง เมื่อไม่เห็นคุณค่าในตัวเองเป็นทุนเดิม ก็จะแสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ไม่สามารถกำกับตนเองให้ไปสู่เป้าหมายได้ ไม่มีความตั้งใจ พยายาม ทำอะไรก็เห็นแต่ความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ และมีแต่ความกังวลสงสัยในความสามารถของตัวเองตลอดเวลา

อ่านข่าวอื่น : เร่งคลี่ปมเด็ก 2 เดือนเจ็บหนักกะโหลกร้าว-ขาผิดรูป

แล้วเด็กจะพัฒนาคุณค่าในตัวเองจากไหน ?

"พ่อแม่-ผู้ปกครอง" คือ สิ่งมีชีวิตแรกที่ลูกเจอ และ "บ้าน" คือสิ่งแวดล้อมแรกที่ลูกต้องอยู่ หากขาดการฟูมฟักจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่ดี ย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาคุณค่าที่ดีในตัวเองขึ้นมาได้ยาก Self-Esteem จะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วัยทารก หลายคนอาจมองไม่ออกว่า เด็กทารกที่ยังพูดไม่ได้ เดินไม่ได้ จะพัฒนาคุณค่าตัวเองได้อย่างไร 

เมื่อใดก็ตามที่ทารกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย รู้สึกว่าตัวเขาได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม เป็นที่รัก ถูกเอาใจใส่ หิวก็ได้ดูดนม อึฉี่ก็มีคนเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ ไม่สบายตัวก็มีคนอุ้มให้ความอบอุ่น เจอสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ เจอลมพัดเย็นสบาย ได้ยินเสียงนกเสียงไม้ สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้าง "พ่อแม่และโลกที่มีอยู่จริง" ให้กับเด็กที่จะทำให้พวกเขาเริ่มรับรู้ถึง "การมีอยู่จริงของตัวเอง"

พฤติกรรมการเลียนแบบ คือทักษะแรกที่เด็กมี เด็ก ๆ จะเลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ของพ่อแม่ และสมาชิกในครอบครัว เช่น การออกเสียง การแสดงออกทางอารมณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้กับเด็ก 

การเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกจึงเป็นสิ่งจำเป็นในกระบวนการการสร้างคุณค่าในตัวเองสำหรับเด็กมาก 

อ่านข่าวอื่น : ตร.แจ้ง 2 ข้อหาพ่อแม่ฝังลูก 2 เดือนท้ายหมู่บ้าน

3 สิ่งสำคัญพ่อแม่ควรตระหนักพัฒนา Self-Esteem ลูก

1. ลูกเป็นอย่างที่เราเป็น มากกว่าที่เราสอน เด็ก ๆ ทุกคนเรียนรู้โลกจากพ่อแม่เป็นอันดับแรก หรือกล่าวว่าพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ไม่ว่าพ่อแม่จะพูด จะคิด จะทำอะไร อย่างไร เด็กจะเรียนรู้และเอาเป็นแบบอย่างเสมอ ถ้าพ่อแม่เป็นคนมี Self-Esteem ดีหรือมีความนับถือตัวเองดี ก็มีแนวโน้มที่ลูกจะเรียนรู้และสั่งสมคุณลักษณะของ Self-Esteem ไว้ในตัว แต่ถ้าพ่อแม่มี Self-Esteem ต่ำ ก็มีแนวโน้มที่เด็กจะมี Self-Esteem แบบนั้นเช่นกัน

2. ยอมรับในสิ่งที่ลูกอยากเป็น เด็กจะมีความอ่อนไหวกับความสัมพันธ์ บทบาท และการแสดงออกของพ่อแม่ที่มีต่อเด็ก มากแบบที่พ่อแม่คิดไม่ถึง ถ้าพ่อแม่ยอมรับเด็ก ทั้งความคิด ความรู้สึก และความเป็นตัวตนเฉพาะของพวกเขา และตอบสนองตามความต้องการอย่างเหมาะสม

พวกเขาจะเรียนรู้ว่า ตนเองมีค่า มีความหมาย และอยู่ในความใส่ใจของพ่อแม่ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ยอมรับหรือสงสัยในตัวลูก เด็ก ๆ จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย เป็นจุดเริ่มต้นปัญหา นำไปสู่การขาดความภาคภูมิใจในตนเองต่ำฝังรากลงไปในจิตใจของเด็กได้

3. พ่อแม่หนักแน่น ชัดเจน หลักการเลี้ยงลูกที่ชัดเจน หนักแน่นของพ่อแม่ จะสร้างให้เด็กน้อยที่กำลังเรียนรู้โลกเข้าใจถึงสิ่งที่พ่อแม่สอนหรือเลี้ยงดูได้เป็นอย่างดี หากพ่อแม่ไม่ชัดเจน โลเล บางครั้งทำได้ บางครั้งทำไม่ได้ เด็กก็จะสับสน รู้สึกไม่มีความมั่นใจ กลัวที่จะแสดงออกออกไป เพราะไม่ต้องการการตำหนิจากพ่อแม่ พวกเขาจะมองไม่เห็นว่าตนเองควรจะทำอย่างไร จึงจะเป็นที่ถูกใจของพ่อแม่ และกลายเป็นความไม่เชื่อมั่นในตนเองในที่สุด

อ่านข่าวอื่น : ยินยอมหรือไม่ก็ห้ามทำ! 10 ข้อต้องระวังไม่กระทำต่อเด็ก

10 วิธีเลี้ยงลูกให้รู้จัก "คุณค่าในตัวเอง"

  1. ให้ความรัก การสนับสนุนลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เขารู้สึกว่า เขามีคุณค่าและสำคัญต่อครอบครัว
  2. สร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคง ให้เขาสามารถแสดงออกความเป็นตัวของตัวเองได้ในพื้นที่ปลอดภัย บรรยากาศเต็มไปด้วยความเข้าใจและการยอมรับ
  3. ช่วยลูกตั้งเป้าหมายที่เขาสามารถบรรลุได้ และให้กำลังใจเมื่อเขาทำได้สำเร็จ อย่าตั้งความคาดหวังสูงเกินไป ลูกจะรู้สึกกดดัน
  4. ให้โอกาสในการเรียนรู้จากความผิดพลาด สอนให้ลูกมองความผิดพลาดเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ใช่ความล้มเหลว ให้คำแนะนำเมื่อเขาเผชิญกับความล้มเหลว
  5. ส่งเสริมการทำกิจกรรมที่ลูกชอบ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและความภูมิใจในตนเอง
  6. สอนให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง ไม่ใช่จากคำชมของคนอื่น ให้ลูกเรียนรู้ที่จะยอมรับและรักตัวเองอย่างที่เขาเป็น
  7. ฟังและเข้าใจลูก ให้ลูกมีโอกาสพูดและแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ต้องรับฟังลูกอย่างตั้งใจและให้คำแนะนำที่เหมาะสม
  8. เป็นตัวอย่างที่ดี แสดงออกถึงการมี Self-Esteem ที่ดีในตัวเองให้ลูกเห็น
  9. หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น หรือพี่น้อง การเปรียบเทียบอาจทำให้ลูกรู้สึกว่า ตัวเองไม่ดีพอและลดความมั่นใจในตนเอง
  10. สอนให้ลูกเข้าใจและยอมรับรวมถึงการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง

การจะเลี้ยงลูกให้มี Self-Esteem สูงได้ ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ต้องใช้ความอดทน ความเข้าใจ ในการสร้างความมั่นใจและความภูมิใจในตนเองให้ได้ก่อน จากนั้นเราจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกได้ จะช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและไม่เป็นปัญหาในอนาคตของสังคม

ความสามารถที่ติดตัวมาแต่กำเนิดของทารกคือ "การเลียนแบบ" และต้นแบบแรกที่ลูกจะเลียน (เรียน) คือ "พ่อแม่" 

รู้หรือไม่ : พ่อแม่มีหน้าที่เติมเต็ม Self-Esteem ตามบริบทของลูก ไม่ใช่ปลูกฝังเติมเต็มตามสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ และการสร้าง Self-Esteem ให้ลูก ไม่ได้ขึ้นกับ ฐานะชนชั้น การเงิน การศึกษา และถิ่นฐานที่อยู่ แต่อยู่ที่คุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็กล้วน ๆ 

อ่านข่าวอื่น : ศาลนัด 17 มิ.ย."เชื่อมจิต" พม.ห้ามนำเด็ก 8 ขวบหาประโยชน์

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), UNICEF, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง