และยังเชื่อมโยงถึงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ที่จะสะท้อนจุดยืนของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ คู่ต่อกรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือเพื่อไทย กับก้าวไกล
เพราะแนวทางสู้คดีต่อไปของฝ่ายนายทักษิณผ่านทีมทนายความ นายวิญญัติ ชาติมนตรี หลังขอเลื่อนอ่านคำสั่งของอัยการสูงสุดไม่เป็นผล คือการขอประกันตัวในระหว่างสู้คดี คาดว่าจะมีการยื่นเรื่องวันที่ 18 มิถุนายน วันที่อัยการนัดให้ไปพบเพื่อนำตัวส่งฟ้องศาล
แต่ที่เป็นปัญหา คือ คดี มาตรา 112 ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งแกนนำและแนวร่วมผู้ชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดนกันถ้วนหน้าหลายคนก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว ยังอยู่ระหว่างคุมขังในเรือนจำ
และเมื่อเกิดเหตุการณ์ “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงนานกว่า 100 วัน สาเหตุสำคัญที่ถูกวิพากษ์หนัก คือศาลไม่ยอมอนุญาตให้ประกันตัว
จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายทักษิณต้องวิตก เพราะมาตรฐานเดิมมักไม่ได้ประกันตัว หากเป็นเช่นนั้น เท่ากับต้องส่งตัวกลับเรือนจำ
นั่นเป็นหนึ่งในประเด็นข้อกฎหมาย ที่มีหลายเรื่องที่ต้องลุ้นและมีความเห็นแตกต่างกัน แต่อีกประเด็นที่คดีนี้จะถูกเชื่อมโยงไปถึงอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือผลต่อกฎหมายนิรโทษกรรม ที่อยู่ระหว่างการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา
หลังจากนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาการทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว ยอมรับว่า การขับเคลื่อนจะให้มีการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 จะมีอุปสรรคมากขึ้น หลังจากนายทักษิณ ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้องในคดี 112
ต้องไม่ลืมว่า กฎหมายนิรโทษกรรมมีความสำคัญต่อกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และต่อเนื่องเรื่อยมา รวมทั้งการแสดงออกโดยการ”ยืนหยุดขัง”
ขณะที่พรรคก้าวไกล ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยให้รวมคดี มาตรา 112 เข้าไปด้วย ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่พรรคเพื่อไทย ที่ยังหวังขยายฐานเสียงมวลชนออกไปยังกลุ่มมวลชนคนรุ่นใหม่เพื่อแย่งชิงคะแนนนิยมกับพรรคก้าวไกล กลับยังไม่ยอมแสดงจุดยืนเรื่องนี้ออกมา นับตั้งแต่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566
แต่หลังจากนั้น แต่กลับเลือกใช้วิธีตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าวขึ้นมาศึกษาแทน จึงตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์ว่า จะเปลี่ยนแปลงไปจากจุดยืนเดิมช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายคนสำคัญของพรรคเป็นประธาน
แต่ในการประชุมกรรมาธิการเมื่อวันก่อน ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนใด ๆ เมื่อฟังจากคำให้สัมภาษณ์ของนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ.จากพรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่า อยู่ระหว่างการศึกษา ของคณะอนุกรรมาธิการชุดเล็ก ที่มี รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นประธาน
ซึ่งมีข้อเสนอ 7 ข้อเข้าสู่การพิจารณาของกรรมธิการชุดใหญ่ ในจำนวนนี้ รวมทั้งทางเลือกในการทำนิรโทษกรรม คือคณะกรรมการกลั่นกรอง หรือทางเลือกไม่ใช่คณะกรรมการ หรือจะเป็นในรูปแบบผสม
ประเด็นตั้งหรือไม่ตั้ง คณะกรรมการกลั่นกรองนี้เอง ที่มีความเห็นแตกต่างกันชัดเจน เนื่องจากส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น รวมทั้งไม่เห็นควรมีตัวแทนจากผู้พิพากษาไปอยู่ในกรรมการกลั่นกรอง เพราะอาจทำให้ถูกมองว่ามีอำนาจพอ ๆ กับศาลหรือผู้พิพากษา
ขณะที่แนวทางจะให้นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรีมการกลั่นกรอง หรือมีประธานสภาฯเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ก็ยังมีความเห็นที่ยังไม่สอดคล้องกัน
นักสังเกตการณ์การเมือง อย่าง รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ควรจะมีการเปิดกว้างรับฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมในวงที่กว้างกว่า คณะกรรมาธิการศึกษาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และหลากหลาย
อาทิ สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งจะได้รับการยอมรับในวงกว้างมากกว่า เพราะที่สำคัญ คือเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม รวมทั้งประเด็นเรื่องคดี มาตรา 112 ได้เดินหน้ามาไกลมากแล้ว จึงควรประคับประคองให้เดินหน้าต่อไป ไม่ให้เกิดปัญหาหรือ “ล่ม” ซ้ำรอยในอดีต
ทั้งนี้ทั้งนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า จำเป็นต้องอาศัยความจริงใจจากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล เพราะที่ผ่านมา ก็ถูกมองเช่นกันว่า เสมือนเล่นการเมืองแบบ 2 หน้า
กลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมก็หวังว่าจะรักษาไว้ ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็หวังอยากขยายฐานการเมืองออกไป ไม่เพียงเท่านั้น ยังหวังจะได้ใจจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนก่อนหน้านี้ ว่าไม่รวมคดี มาตรา 112 รวมอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรม
ครั้น นายทักษิณ ชินวัตร ถูกอัยการสูงสุด สั่งฟ้องในคดี มาตรา 112 ในเบื้องลึกอาจไม่แคล้วลังเลต่อจุดยืนและท่าทีต่อคดี มาตรา 112 อย่างไม่ต้องสงสัย
ไม่ว่าจะอ่านจากคำพูดของนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ที่ว่า “พรรคไม่เสนอ แต่ไม่ขัดขวาง” หรือจากนายชูศักดิ์ ที่ว่า นายทักษิณถูกฟ้อง มาตรา 112 เป็นผลจากการทำรัฐประหาร
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : สว.เตรียมพิจารณา"กฎหมายสมรสเท่าเทียม" 18 มิ.ย.นี้