หลังปล้นอิสรภาพไปได้ 218 วัน ในที่สุดชีวิตของ "แป้ง นาโหนด" หรือนายชวลิต ทองด้วง ก็ปิดฉากลง "แป้ง นาโหนด" เป็นนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่ปล้นอิสรภาพให้ตัวเองได้นานถึง 7 เดือน 8 วัน นับจากวันที่ตัดโซ่ตรวนพันธนาการขาดออกจากเตียงผู้ป่วย ของโรงพยาบาลนครศรีธรรมราช ไปได้ เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 22 ต.ค.2566
มากกว่านั้นคือ สามารถพาตัวเองหนีออกนอกประเทศไทยไปได้อย่างปลอดภัยด้วย "หนังสือเดินทางปลอม" และใช้ชีวิตอยู่ในอินโดนีเซียเรื่อยมา กระทั่งถูกจับได้ใน "เกาะบาหลี" เมืองท่องเที่ยวที่มีชายหาดและท้องทะเลแสนสวยงาม หนึ่งในเป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
"แป้ง นาโหนด" จะถูกพาตัวกลับเมืองไทยในวันอาทิตย์นี้ โดยมีทางการไทยบินไปรับตัวกลับมาพร้อมมาตรการคุ้มครองป้องกันอย่างเต็มที่ เพราะทุกฝ่ายมีบทเรียนชัดเจนแล้วว่า แป้ง นาโหนด ไม่ใช่นักโทษ ธรรมาสามัญ แต่เป็นนักโทษ ผู้มีอิทธิพล มายาวนานก่อนที่จะถูกคุมขัง ซึ่งระยะเวลารวม 218 วันที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ที่ยืนยัน ว่า แป้ง นาโหนด มีพรรคพวก มีเครือข่าย ที่คอยให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการหลบซ่อนตัวเป็นอย่างดี
การกลับเข้าสู่การจองจำของ แป้ง นาโหนด หลังหลบหนีการคุมขัง จะถูกพิจารณาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากกระทำโดยแหกที่คุมขัง โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และต้องถูกพิจารณาโทษ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการกำหนดโทษของผู้ต้องหาที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำ กำหนดไว้ใน “หมวด 7 วินัยและบทลงโทษ” ด้วย ตามมาตรา 68 ผู้ต้องขังผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานเรือนจํา ข้อบังคับเรือนจํา หรือระเบียบกรมราชทัณฑ์ ให้ถือว่าผู้ต้องขังผู้นั้นกระทําผิดวินัย
มาตรา 69 เมื่อผู้ต้องขังกระทําผิดวินัย จะถูกลงโทษสถานหนึ่งสถานใด ดังนี้
(1) ภาคทัณฑ์
(2) งดการเลื่อนชั้นโดยมีกําหนดเวลา
(3) ลดชั้น
(4) ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อไม่เกิน 3 เดือน เว้นแต่เป็นกรณีการติดต่อกับทนายความตามที่กฎหมายกําหนด หรือเป็นการติดต่อของผู้ต้องขังหญิงกับบุตรผู้เยาว์
(5) ลดหรืองดประโยชน์และรางวัลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือบางอย่าง
(6) ขังเดี่ยวไม่เกิน 1 เดือน
(7) ตัดจํานวนวันที่ได้รบการลดวันต้องโทษ
ในกรณีและเงื่อนไขอย่างใดจะลงโทษดังระบุไว้ในวรรคหนึ่ง การดําเนินการพิจารณาลงโทษ การลงโทษ การเพิกถอน เปลี่ยนแปลง งด หรือรอการลงโทษ และการอุทธรณ์ รวมทั้งผู้มีอํานาจ ในการดําเนินการดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง
นักโทษแหกคุกบางขวาง เกือบ 100 ปีหนีรอดเพียง 1 เดียว
หนังสือประวัติการราชทัณฑ์ 200 ปี บันทึกเหตุการณ์สำคัญ นักโทษแหกคุก พ.ศ.2475 เอาไว้ว่า นักโทษแหกคุก "เรือนจำกองมหันตโทษ" (เรือนจำกลางบางขวางในปัจจุบัน) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2475
กลุ่มผู้ต้องขังหลายคน ใช้อาวุธชะแลงเหล็กและอื่น ๆ เข้างัดกุญแจประตู เรือนจำฯ เพื่อทำการแหกหักออกนอกเรือนจำ แต่สุดท้ายแล้ว "ล้มเหลว" และมีนักโทษจำนวนหนึ่งถูกวิสามัญฆาตกรรม
แหกคุกครั้งที่ 2 ของนักโทษเรือนจำกลางบางขวาง
เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นช่วงหัวค่ำวันที่ 5 ส.ค.2504 นักโทษประหารในคดีปล้นเงินธนาคาร 3,000,000 บาท คดีฆาตกรรมและคดีปล้นทรัพย์ รวม 5 คน ได้สมคบกันแหกหักเรือนจำกลางบางขวาง โดยใช้ปืนยิงเจ้าพนักงานผู้คุมเสียชีวิต 1 นาย ใช้เหล็กแหลมแทงเจ้าพนักงานบาดเจ็บ 1 นาย ขณะที่ฝ่ายนักโทษ ถูกเจ้าพนักงาน วิสามัญฆาตกรรม 2 คน แต่มี 3 คนที่แหกคุกได้สำเร็จ และในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับ น.ช.สำเนียง และ น.ช.ยืน กลับมารับโทษประหารชีวิต ที่เรือนจำกลางบางขวางได้
มีเพียง น.ช.เฉลิม กัปตันแดง นักโทษประหาร จากคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา ที่หนีรอดไปได้ จนถึงขณะนี้ น.ช.เฉลิม จึงถูกนับเป็นนักโทษประหารคนแรกและคนเดียวเท่านั้น ที่แหกหัก เรือนจำกลางบางขวางออกไปได้และหายสาบสูญเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
เรือนจำกลางบางขวาง เป็นที่รู้กันดีว่า คือ ดินแดนสุดท้ายของนักโทษประหาร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักโทษประหารหลายคนดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อหลบหนีออกจากดินแดนแห่งความตาย แต่ก็น้อยนักที่จะทำได้สำเร็จ
ความพยายามที่ใช้วิธีการอุกอาจที่สุดและเป็นครั้งล่าสุด คือ กรณี "นายบรรยิน ตั้งภากรณ์" นักโทษประหาร ที่เป็นถึงอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ ที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดในคดีฆาตกรรม หลังถูกส่งตัวเข้าไปที่เรือนจำ ได้วางแผนให้นักโทษอีกคนลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำฯ เพื่อแลกอิสรภาพให้ตัวเอง แต่แผนดังกล่าวเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ สืบรู้ล่วงหน้า ทำให้ก่อการณ์ไม่สำเร็จ
อ้างอิงข้อมูลและภาพ จาก:หนังสือประวัติการราชทัณฑ์ 200 ปี
รายงานพิเศษโดย : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส
อ่านข่าว
ด่วน! " เศรษฐา" ยืนยันจับ "แป้ง นาโหนด" จนมุมที่อินโดนีเซีย
ส่ง "พล.ต.ท.ประจวบ" รับ "แป้ง นาโหนด" โดน 3 ข้อหาหนัก
ตร.คาด “แป้ง” นั่งเรือไปอินโดฯ ชี้ระยะทางไม่ไกล ช่วงหลบหนีไม่มีมรสุม