ไม่เหนือความคาดหมาย ในช่วงสาย (29 พ.ค.67) ที่ผ่านมา แม้อัยการจะมีคำสั่งฟ้อง "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ตาม ป.อาญามาตรา 112 จากเหตุให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 คดีดังกล่าวใช้เวลายาวนาน 9 ปี หลังจากเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องมาตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.
ท่ามกลางข่าวสะพัดเมื่อช่วงค่ำวันที่ 28 พ.ค.ว่า ทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยได้เสนอให้ผ่าทางตัน โดยขอให้เลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องของอัยการออกไปก่อน เนื่องจากติดโควิด โดยทนายความได้เข้ายื่นขอเลื่อนการฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ ออกไปเป็นวันที่ 25 มิ.ย. พร้อมแนบใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าป่วย โดยแพทย์ให้หยุดพักงานและสังเกตอาการเป็นเวลา 7 วัน คือ 28 พ.ค. – 3 มิ.ย.นี้
ในขณะที่ "นายวิพุธ บุญประสาท" อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้เป็นผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวพิจารณาแล้ว จึงอนุญาตให้เลื่อน และนัดหมายให้ "นายทักษิณ" มาพบพนักงานอัยการในวันที่ 18 มิ.ย. เพื่อยื่นฟ้องศาลในวันเวลาดังกล่าวต่อไป โดยทางอัยการ ระบุว่า การเลื่อนในลักษณะนี้ไม่เสียหายต่อความยุติธรรม และไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเห็น คำสั่งของอัยการสูงสุด
อ่านข่าว : "วิษณุ เครืองาม" กุนซือกฎหมายคู่ใจหลายรัฐบาล
ในแง่มุมตามหลักกฎหมาย คำสั่งฟ้องคดีดังกล่าว ในข้อหาฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยว กับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14(3) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8
ไม่มีอะไรซับซ้อน ตามหลักกระบวนการยุติธรรม แต่หากนำสถานการณ์ทาง การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทยมาวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นปม 40 สว.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน "นายเศรษฐา" นายกรัฐมนตรี และ "นายพิชิต ชื่นบาน" อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แม้ "พิชิต" จะหลุดบ่วงไปแล้วด้วยการชิงลาออก แต่ "เศรษฐา" ยังอยู่ในภาวะ "วิกฤต" ซ้อน "วิกฤต"
วิกฤตแรก เกิดขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นนายกฯสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และต้องเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
วิกฤตที่สอง คดี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ กระทั่งสำนักงานเลขาธิการนายกฯส่ง เรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งฯ
ล่าสุด กฤษฎีกาตีความว่า คำสั่งให้ข้าราชการตำรวจ ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน "นายกฯ มีหน้าที่ต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งฯ ตามมาตรา 140 วรรค 1 และมาตรา 179 ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565"
อ่านข่าว : "วิษณุ" รีเทิร์นทำเนียบรัฐบาล 30 พ.ค.
เจอวิกฤต 2 เด้ง ดูเหมือน "นายเศรษฐา" จะเกิดอาการหวั่นไหวไม่น้อย แต่เมื่อจับสัญญาณจาก "นายทักษิณ" ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันไปเยือน จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ฟังแล้วน่าจะโล่ง หายใจสะดวกขึ้น
"... คงไม่ถึงขนาดล้มได้ แต่อาจจะเป็นการสร้างความวุ่นวาย ให้บ้านเมืองชะงักชะงันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่มาก ชี้แจงได้ก็ไม่เป็นไร" เป็นคำตอบของอดีตนายกฯเมื่อถูกถามว่า ปมคำร้อง 40 สว.ต้องการจะล้มนายเศรษฐาหรือไม่
คำตอบของ "ทักษิณ" อาจถอดรหัสได้ว่า ด้านหนึ่งนอกจากจะรับประกันเก้าอี้นายกฯของนายเศรษฐาแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ยังไม่พร้อมที่จะให้ลูกสาว "แพทองธาร ชินวัตร" เข้ามารับเผือกร้อน
"...อยากให้นายกฯนิดอยู่ให้นานที่สุด เพราะว่างานกำลังเข้าที่ ต้องใช้เวลา" หรือ "...จะเล่นงานผมนะเหรอ โอ้ย ผมไม่มีอะไรให้เล่นแล้ว แก่แล้ว ต่างคนต่างอยู่เถอะ"
หากกระนั้นเพื่อ "ปลอดภัยไว้ก่อน" เมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมา นายเศรษฐา ยอมรับว่า ได้เข้าพบ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง 40 สว.ให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯเศรษฐา กรณีแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
การเข้ามาของ "นายวิษณุ" แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลที่เคยทำงานเคียงคู่มาด้วยกัน โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยยังมองว่า คือ "สัญญาณบวก" ซึ่งอาจหมายถึง "เศรษฐา" อาจจะรอดจากคำตัดสินของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" และความหมายคือ พรรคเพื่อไทยและ"ทักษิณ" ยังมีความเป็นต่อทางการเมือง และสามารถคุมสถานการณ์ได้
ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ แม้จะเปรียบเสมือน มีการเปิดเกมรุกฆาตกับ "ทักษิณ-เพื่อไทย" ของฝ่ายอนุรักษ์ แต่ถ้าพิจารณาตามข้อเท็จจริง ว่ากันว่า การเข้ามาของนายวิษณุ ในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า นักกฎหมายที่ถูกเรียกว่า "เนติบริกร" ผู้นี้อาจไม่ได้มาเล่น ๆ
แต่สิ่งที่กลุ่มอำนาจเก่ายังพอทำได้คือ "การกระตุก" หรือแค่เตือนไม่ให้มีการกระทำเกินเลยในสิ่งกว่าควรจะเป็นเท่านั้น
และคาดการณ์กันว่า อย่างไรเสีย "นายทักษิณ" จะยังรอดแต่จะมีเงื่อนไขอื่นใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ต้องจับตาดูต่อไป เนื่องจากกลุ่มขั้วของอำนาจเก่า ยังต้องอาศัยและพึ่งพา "เพื่อไทย-ทักษิณ" ขณะที่"ทักษิณ-เพื่อไทย" ก็ยังไม่พร้อมที่จะสู้ศึกเลือกตั้งกับพรรคก้าวไกล ไม่ว่า "ก้าวไกล" จะถูกยุบพรรคฯหรือไม่ก็ตาม
ฉากทัศน์ของการเมืองไทย ยังน่าลุ้นต่อ โดยเฉพาะคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดในประเด็นความผิดมาตรา 112 ของนายทักษิณในวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นแม้จะทำให้กองเชียร์ฝ่ายอนุรักษ์ เหมือนจะฟื้นใจฟูจากกระบวนการยุติธรรม แต่ในระยะะยาว คดีนี้การต่อสู้กว่าจะสิ้นสุด หากได้ประกันตัวต่อสู้คดี จนถึงในชั้นศาลฏีกาอาจจะลากยาวนานถึง 20 ปี
และต้องไม่ลืมว่า การเมืองไทย ซ่อนนัยมากกว่าที่เห็น ขนาด ดร.วิษณุ ผู้เคยอยู่ในลำเรือแป๊ะ และลงเรือแป๊ะกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานานถึง 8 ปี และได้ก้าวขึ้นพ้นจากเรือแป๊ะมาเพียงไม่กี่เดือน ก็ยังวกกลับมาลงเรือเพื่อไทย ได้อีกครั้ง
ดังนั้น การเมืองไทยท่ามกลางความผันผวน และไม่แน่นอน ยังมีอะไรให้ลุ้นต่อเป็นระยะ ๆ
"...เพราะเรือลำใหม่ ไม่ได้แจงไปตามแม่น้ำ 4 สาย 5 สาย แต่จะต้องออกสู่มหาชลาสินธุ์ ตอนออกจากท่า เขาว่าเรืองวิ่งปริ่มๆน้ำอยู่ด้วย อาจต้องวิ่งไป วิดน้ำไป ต่อไปก็คงเจอคลื่นใหญ่ลงแรง และต้องเดินทางไกลกว่าที่ผ่านมา เรือลำน้อย อย่างเรือแป๊ะออกทะเลไม่ได้ คลื่นลงแรมอย่างนี้ เรือเล็กห้ามออกจากฝั่ง"
ขอให้ทุกคนเดินทางโดยสวัสดิภาพ : จากหนังสือ ลงเรือแป๊ะ "วิษณุ เครืองาม" โดยสำนักพิมพ์มติชน: 2562
อ่านข่าว : "DRAG" ผู้สร้างศิลปะผ่านโชว์แห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQIA+
กทม.เปลี่ยนสติกเกอร์ "Bangkok" รอบ 20 ปี ต้อนรับ Pride Month