ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"Pride Month 2567" อัปเดต "สมรสเท่าเทียม" กฎหมายถึงขั้นไหน

สังคม
1 มิ.ย. 67
08:10
54,720
Logo Thai PBS
 "Pride Month 2567" อัปเดต "สมรสเท่าเทียม" กฎหมายถึงขั้นไหน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ชมสด! ขบวนพาเหรด Bangkok Pride Festival 2024

ต้อนรับเข้าสู่ มิถุนายน 2567 เดือน "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจ ช่วงเวลาที่กลุ่ม LGBTQ+ หรือ ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก รวมตัวกันและเฉลิมฉลองอิสรภาพการเป็นตัวของตัวเอง

ปีนี้ยังมีเรื่องที่น่ายินดีคือ สภาฯ ผ่านฉลุยร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …หรือ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ถือเป็นการเริ่มต้นของความเท่าเทียมทางกฎหมายให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกเพศ

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ทุกเพศสามารถสมรสกันได้ โดยต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และจะมีสถานะเป็น "คู่สมรส" แทนคำว่า "สามีภริยา" แต่ปิดทางเพิ่มคำว่า "บุพการีลำดับแรก"

วันนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คืออะไร และเส้นทางกว่า 20 ปี กว่าจะเป็น ... "สมรสเท่าเทียม" ทำความเข้าใจ รวมถึงสิทธิของ คู่รักทุกเพศ น่ารู้ 

อ่านข่าว : 8 เรื่องควรรู้ ก่อนร่วมขบวน “Bangkok Pride Festival 2024” ครั้งที่ 3 ของไทย

ความหมายของ "สมรสเท่าเทียม" คืออะไร ?

ก่อนอื่น มารู้จัก "สถานะทางเพศ" กันก่อน มีคำอธิายจาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไว้ว่า หมายถึง ลักษณะในเชิงสังคมและจิตวิทยาที่ใช้เป็นพื้นฐานในการแบ่งแยกกลุ่มมนุษย์ว่าเป็น "หญิง" (Feminine) " เป็นชาย (Masculine) หรือ เป็นหญิงชาย (Androgens)

ซึ่งสถานะทางเพศแบ่งเป็น "เพศวิถี" คือ ความรู้สึกรสนิยมทางเพศ รวมถึงความพอใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น ส่วน "อัตลักษณ์ทางเพศ" คือ การรับรู้ว่าตนเองต้องการเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง แต่บางคนอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากโครงสร้างทางร่างกายเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "คนข้ามเพศ"

"คนข้ามเพศ" อาจเป็นผู้ที่ไม่สามารถกำหนดให้ตนเองเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงเพียงเพศใดเพศหนึ่งได้ ด้วยคนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกตามเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ได้แก่ เกย์ (Gay) เลสเบี้ยน (Lesbian) คนรักสองเพศ (Bisexual) คนข้ามเพศ (Intersex) และคนมีเพศกำกวม (Queer)

คนกลุ่มนี้ยังมีปฏิสัมพันธ์ในมิติอื่น ทั้งความรัก ความสัมพันธ์ และการยอมรับทางกฎหมายและสังคม นำมาสู่การเรียกร้องความเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชน คือ "สมรสเท่าเทียม" ไม่ต่างจากคู่รักชายหญิง

สมรสเท่าเทียม คือ การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิงเท่านั้น แต่จะครอบคลุมทุกเพศสภาพ ทั้งเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การเดินทาง 23 ปี สู่ "สมรสเท่าเทียม" ตอนนี้ถึงขั้นไหน ?

การต่อสู้เพื่อการสมรสของคนเพศเดียวกัน จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่ 23 ปีก่อน

ปี 2544 : รัฐบาลยุค นายทักษิณ ชินวัตร โดย "รมว.มหาดไทย" เริ่มแนวคิดเรื่องนี้ แต่กระแสสังคมไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง รัฐบาลมองเห็นว่าสังคมไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้จึงตกไป

ปี 2555 : มีคู่รักเพศหลากหลายต้องการจดทะเบียนสมรสแต่ถูกปฏิเสธ จึงได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ปี 2556 : กรแสโลกตะวันตกขณะนั้น มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือ Civil Partnership ออกมา ทำให้รัฐบาลของไทยเริ่มผลักดัน พ.ร.บ.ชีวิตคู่ อีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ อีกทั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างดังกล่าวไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ เท่ากับคู่รักชาย-หญิง

ปี 2557 : เกิดรัฐประหาร การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ยุติลง

ปี 2563 : ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มมีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมเช่นเดียวกับกระแสทั่วโลกที่พัฒนาเรื่อง "สมรสเท่าเทียม" ตามหลักความเท่าเทียม รัฐบาลจะจัดทำเป็น "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" แต่พรรคก้าวไกล ทำเป็น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

มิ.ย.2563 : พรรคก้าวไกลยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ และได้รับการถูกบรรจุวาระแรก

ปี 2563 - 2566 : ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านวาระที่ 1 ไปแล้ว ในวันที่ 15 มิ.ย.2565 แต่ด้วยเหตุสภาล่มบ่อยครั้ง จึงไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ ทำให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมตกไปตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกเหนือจากฝ่ายสนับสนุนแล้ว ยังมีหลายฝ่ายที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาชาติ

ที่หากย้อนไปเมื่อเดือน พ.ค.2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกล ในประเด็นสมรสเท่าเทียมที่มีการแก้ไข ว่า "เงื่อนไขในการสมรสเท่าเทียม ต้องไม่ขัดหลักศาสนา"

หลังมีรัฐบาลใหม่ วันที่ 21 ธ.ค.2566 ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกหยิบยกเข้าสภาฯ อีกครั้ง โดยครั้งนี้สภาฯ ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนรับหลักการ 369 คน ไม่รับหลักการ 10 คน งดออกเสียง 0 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน ส่งผลให้ร่างสมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ นั้นคือ

1. ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ คณะรัฐมนตรี (ครม.)

2. ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล

3. ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,611 คน

4. ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ สรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์

ผ่านฉลุยในวาระที่ 1 และเข้าสู่วาระที่ 2 เพื่อปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการ โดยสภาฯ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จำนวน 39 คน เพื่อพิจารณาศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายทั้งหมด

27 มี.ค.2567 ที่ประชุมสภาฯ มีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมสภา มีมติเห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง 

ขั้นตอนต่อจากนี้ ร่างสมรสเท่าเทียมจะไปต่อที่ชั้น สว. พิจารณาอีก 3 วาระ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ให้อำนาจ สว. ในการปัดตกร่างกฎหมายที่ สส. เห็นชอบ แต่สิ่งที่ สว. ทำได้คือ

  • หากไม่เห็นชอบ จะส่งร่างฯ กลับไปที่ สส. มีผลยับยั้งกฎหมายไว้ 180 วัน
  • หากแก้ไขเพิ่มเติม ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่าง สส. และ สว. เพื่อพิจารณา

31 พ.ค.2567 : น.ส.ปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของวุฒิสภา เผยความคืบหน้าการพิจารณา กฎหมายสมรสเท่าเทียม ว่า พิจารณาครบหมดแล้วทั้ง 69 มาตรา ซึ่งในชั้นกรรมาธิการไม่ได้มีการแก้ไขมาตราใด แต่มีผู้แปรญัตติเพียง 2 คน

คือ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ที่มีการเสนอแปรญัตติขอใหเกฎหมายมีผลบังคับใช้วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วน พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ของแปรญัตติแก้ไข ถ้อยคำเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่ได้ทำให้สาระสำคัญหายไป

โดยกรรมาธิการส่วนใหญ่ยังเห็นว่าควรบังคับใช้หลังจาก 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องด้วยเป็นช่วงเวลาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ได้มีเวลาเตรียมการ เช่น เตรียมทะเบียนสมรสที่จะใช้ และออกระเบียบให้สอดคล้องกับ หลักศาสนาของเจ้าหน้าที่ที่เป็นมุสลิมเพื่อง่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

สำหรับการพิจารณาเบื้องต้นจะมีการบรรจุระเบียบวาระในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ในช่วงเปิดสมัยประชุมวิสามัญรัฐสภา ซึ่งในประเด็นที่มีการแปรญัตติ ก็ให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาด ด้วย

18 มิ.ย. 2567 กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านแล้ว 

ล่าสุด วันที่ 18 มิ.ย.2567 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ด้วยคะแนนเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 ไม่ลงคะแนนเสียง 0 ผู้ลงมติ 152 เสียง คาดมีผลบังคับใช้ ปลายปีนี้ สร้างประวัติศาสตร์ชาติแรกอาเซียน

เรียกได้ว่า การที่สภาฯ ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ครั้งนี้เป็นเรื่องจุดเริ่มต้นที่น่ายินดี ที่จะสร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายให้เกิดขึ้นกับ "ประชาชนทุกเพศ"  และจากนี้ต้องรอติดตามต่อว่าจะเป็นอย่างไร 

อย่างไรก็ดี ilaw อธิบายว่า สมัยประชุมรัฐสภา ที่กำลังจะเกิดขึ้น คาดว่า สว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ที่มาจากการ "เลือกกันเอง" ในกลุ่มอาชีพ จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกลางเดือน ก.ค.2567 จึงมีโอกาสที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเข้าสู่การพิจารณาของโดย สว.ชุดใหม่  

สาระสำคัญ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม"

  • บุคคล 2 ฝ่ายทุกเพศสามารถสมรสกันได้ โดยต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
  • สถานะเป็น "คู่สมรส" แทนคำว่า "สามีภริยา"

ส่วนสิทธิประโยชน์สมรสเท่าเทียม "คู่สมรส" 

  • สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส 
  • สิทธิรับบุตรบุญธรรม
  • สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
  • สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม
  • สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล
  • อื่น ๆ 

ฉบับเต็ม อ่านที่นี่

ท่ามกลางเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในเดือน Pride Month ประเทศไทยกำลังวางเป้าเป็นเจ้าภาพจัดงาน Pride ระดับโลกในปี 2030  

แต่ที่น่าติดตามคือช่วงเวลาระหว่างทาง ไทยยังมีจุดขายที่จะดึงกลุ่ม LGBTQIA+ ทั่วโลกมาสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ ทั้ง ซีรีย์วาย ซีรีย์เกิร์ลเลิฟ ที่กำลังปัง และกระแสแรงไม่หยุด (อ่าน "ซีรีส์วาย-โฆษณา" มาแรง พณ.ชี้ยอดจดทะเบียนทะลุ 9.5 หมื่นล้าน)

รวมถึงปีนี้ ประเทศไทยจัดงานเทศกาล Pride Month 2024 กระจายในหลายแห่งหลากภูมิภาค โดยมีกิจกรรมที่สร้างสีสัน และความบันเทิงมากมาย เช่น การเดินขบวนพาเหรด การแต่งตัว นิทรรศการศิลปะ การแสดงคอนเสิร์ต ที่เป็นความร่วมมือของรัฐบาลและเอกชน หวังดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 

สุดท้ายเดือน มิถุนายน ไม่ใช่เดือนของของเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเดือนแห่งการยอมรับความหลากหลายของทุกคน ที่ไม่ใช่มีเพศแค่ชายหรือหญิง และทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

"Happy Pride Month 2024"

ชมสด! ขบวนพาเหรด Bangkok Pride Festival 2024

สามารถรับชมบรรยากาศงานขบวนพาเหรดจากบางกอกไพรด์ พร้อมกันทั่วโลกจากทุกช่องทางออนไลน์ของไทยพีบีเอส และชมสดแบบ Multi-View พร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษามือทางเว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/PrideMonth ในวันเสาร์ที่ 1 มิ.ย. 67 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป

อ่านข่าว : 

"Drag" ผู้สร้างศิลปะผ่านโชว์แห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQIA+

เราจะรู้อะไรบ้างจากเดือนแห่งความภาคภูมิใจ Pride Month 2024

มติประวัติศาสตร์ 8 ปีที่รอคอย กม.สมรสเท่าเทียม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง