วันนี้ (27 พ.ค.2567) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่บทความ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเศรษฐกิจ (Climate Change and the Economy) “Climate change กับเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกันอย่างไร?”
มีการรวบรวมและสังเคราะห์งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ Climate change ภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตและแบบจำลองภูมิอากาศต่างๆ รวมถึงผลกระทบของ Climate change ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ University of California San Diego และ สวิสา พงษ์เพ็ชร University of Oxford
บทความชิ้นนี้ กล่าวถึงสภาพภูมิอากาศของไทย ที่พบว่ามีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและร้อนยาวนานขึ้น อีกทั้งสภาพอากาศสุดขั้วของไทยมีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้ง หากพิจารณาแนวโน้มสภาพภูมิอากาศของไทยในอนาคต ข้อมูลจากหลายแบบจำลองภูมิอากาศพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกภาพจำลอง
มีแนวโน้มเผชิญอากาศร้อนมากขึ้นและมีช่วงเวลาที่อากาศร้อนยาวนานขึ้น และคาดการณ์ว่าไทยจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันจากเหตุการณ์ฝนตกหนักมากยิ่งขึ้น
ส่วนผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ Climate change ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งธุรกิจ ครัวเรือน สถาบันการเงินและภาครัฐ ซึ่งภาคการผลิตสินค้าและบริการ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเปิดรับภัยคุกคามและความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ
ยกตัวอย่าง สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยอย่างมาก ความรุนแรงของผลกระทบมีความแตกต่างในเชิงพื้นที่ พิจารณาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตร พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะสร้างความเสียหายสะสมระหว่างช่วงปี 2554 - 2588 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 0.61 - 2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912 - 83,826 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานจะได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 0.38 - 2.16 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 11,245 - 63,420 ล้านบาทต่อปี ขณะที่พื้นที่ในเขตชลประทานจะได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 0.23 - 0.69 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 6,667 - 20,405 ล้านบาทต่อปี
และเมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า 10 จังหวัดแรกที่คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา นครราชสีมา ตรัง จันทบุรี ระยอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ
ขณะที่ครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบ ทั้งการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การกระจายตัวของโรคติดต่อ ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข การย้ายถิ่นที่อยู่ ตลอดจนผลกระทบต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์และหนี้สินครัวเรือน
นอกจากนี้ความเสี่ยงทางกายภาพ ทั้งเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ น้ำท่วม ฯลฯ และเหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ความเป็นกรดของมหาสมุทร รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย เทคโนโลยี และรสนิยมผู้บริโภค ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเงินสูงขึ้น
ส่วนผลกระทบต่อการคลังภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ รายได้และรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งจะมีผลต่อหนี้สินและความยั่งยืนทางการคลังในที่สุด
หากมองในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค Climate change ส่งผลกระทบต่อจีดีพีทั้งอุปสงค์รวมและอุปทานรวม ระดับราคาและภาวะเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น
เมื่อพิจารณากรณีของไทยจากงานศึกษาของ ชัยธัช จิโรภาส, ดร.พิม มโนพิโมกษ์ และสุพริศร์ สุวรรณิก (2022) พบว่า สภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติส่งผลทางลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมหภาคของไทย แต่ไม่กระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ
ผลการศึกษาพบว่า สภาพอากาศที่ผิดปกติส่งผลทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวในจังหวัดต่างๆ ลดลง 2.28% แต่ผลกระทบต่อแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่นถึง 0.74%
อ่านบทความ PIERspectives ฉบับเต็ม
อ่านข่าว
หนี้เสียสินเชื่อบ้านพุ่ง “สภาพัฒน์ฯ” เตือนสัญญาณอันตราย
3 แม่วาฬบรูด้าอ่าวไทย อยู่ในเกณฑ์ผอม-พบรอยโรค TSD
พายุ "ริมาล-เอวิเนียร์" ผ่านไทย-แต่ดึงมรสุมแรงขึ้น 28-30 พ.ค.นี้