ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หนี้เสียสินเชื่อบ้านพุ่ง “สภาพัฒน์ฯ” เตือนสัญญาณอันตราย

เศรษฐกิจ
27 พ.ค. 67
15:42
772
Logo Thai PBS
หนี้เสียสินเชื่อบ้านพุ่ง “สภาพัฒน์ฯ” เตือนสัญญาณอันตราย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาพัฒน์ฯ เตือนสัญญาณอันตราย พบแนวโน้มหนี้เสียสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 3 ล้านบาท กลุ่มครัวเรือนรายได้ระดับปานกลาง-ล่างส่อหนี้เพิ่มขึ้น

วันนี้ (27 พ.ค.2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มครัวเรือนรายได้ระดับปานกลางหรือล่างเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากเครดิตบูโรในไตรมาส 4/2566 พบว่า ยอดคงค้างหนี้เสียของสินเชื่อบ้านขยายตัวเร่งขึ้นถึง 7 % จากไตรมาสที่ผ่านมาที่หดตัว 1.7 % หรือ คิดเป็นสัดส่วน 3.6 % ต่อสินเชื่อรวม ซึ่ง 73.4 % เป็นหนี้เสียของสินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท   มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.5 % สูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินสินเชื่อบ้านในระดับอื่น ดังนั้นอาจต้องเฝ้าระวัง และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสีย

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนพบว่า มีการด้อยลงต่อเนื่องข้อมูลธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 4/2566 พบว่า หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.88 % ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79 % ของไตรมาสที่ผ่านมา

คุณภาพสินเชื่อทุกประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

เลขาธิการ สศช.กล่าวอีกว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจาก 3.24 % เป็น 3.34 % และสินเชื่อยานยนต์มีสัดส่วนหนี้ NPLs ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.10 % เป็น 2.13% ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับสินเชื่อที่ครัวเรือนใช้เสริมสภาพคล่อง คือ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ส่วนภาพรวมหนี้สินครัวเรือน พบว่า ชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาส4/2566 และภาพรวมปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.36 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3 % ลดลงจาก 3.4 % ของไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาล เพิ่มขึ้น 0.2 % ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Household Debt to GDP) อยู่ที่ 91.3 % เพิ่มขึ้นจาก 91 % ของไตรมาสที่ผ่านมา

ขณะที่เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิตและ สินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อยานยนต์หดตัว ซึ่งสินเชื่อยานยนต์หดตัว 0.6 % จากการขยายตัว 0.2 % ในไตรมาสก่อน เนื่องจากสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อจากความกังวลต่อความเสี่ยง

ด้านเครดิตของผู้กู้และคุณภาพสินเชื่อ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 4.3 % ชะลอตัวลงต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและต้นทุนการกู้ยืมที่สูง ทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมูลค่าสูง

ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 13.4 % จาก 15.6 % ในไตรมาสก่อนขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 3.5% จาก 1.9% ของไตรมาสที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยขยายตัว 3.8 % เทียบ 3.7 % ในไตรมาสก่อน

อ่านข่าว: อคส.เปิด TOR ขายข้าวค้างโกดัง 10 ปี ยื่นเสนอซื้อ 17 มิ.ย.67

กสทช. สั่งระงับออกอากาศ "โหนกระแส" 1 วัน 7 มิ.ย.67

กทม.ร่วม 130 ภาคี จัดงาน "Bankok Pride Festival 2024" ตลอด มิ.ย.นี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง