แนวบังเกอร์ผักสวนหลากหลายชนิดบนกระสอบดิน ทั้งผักบุ้ง โหระพา กะเพรา ตะไคร้ ฟักทอง คลุมด้วยสแลนกันแดดตลอดแนว 300 เมตร และหัวสปริงเกอร์พ่นน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น กลายเป็นพื้นที่สีเขียวท่ามกลางอากาศร้อนในการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร ไปจนถึงบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ห่างจากศูนย์รวมอำนาจ “ทำเนียบรัฐบาล” ประมาณ 800 เมตร รอบบริเวณเต็มไปด้วยพืชผักนานาชนิด ไม่รวมกล้าไม้ดอก ที่อาสาสมัครกองทัพธรรมนำมาเพาะเลี้ยงและรอจำหน่ายให้กับผู้สนใจ
หากนับตั้งแต่เริ่มเปิดเวทีการชุมนุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมปีนี้ ของ 3 ทัพย่อย นำโดยกองทัพธรรม นำโดย “หมอเขียว” ใจเพชร กล้าจน , “ตั้ม” พิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และ “อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล ปัจจุบันก้าวเข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว แม้กลุ่มผ้ชุมนุมจะเป็นคนสูงวัย และเป็นการเคลื่อนไหวของของกลุ่มคนเล็ก ๆ ไม่เกิน 100 คน มีการไต่ระดับข้อเรียกร้องจากให้ทักษิณ ชินวัตร ได้รับโทษเช่นเดียวกับผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ไม่ใช่อ้างว่าป่วย และเข้ารักษาตัวนานเกิน 180 วัน ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ
ต่อมาเมื่อมีการปล่อยตัวนายทักษิณ จึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรมราชทัณฑ์ แพทย์จาก รพ.ราชทัณฑ์ และ รพ.ตำรวจ ที่อาจอำนวยความสะดวกให้นายทักษิณไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ โดยยื่นฟ้องไปที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ครบกรอบระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 จากนั้นอีกขยายระยะเวลา 60 วัน โดย ป.ป.ช.ให้เหตุผลว่า ยังสอบข้าราชการหน่วยงานต่าง ๆ และเอกสารบางอย่างยังไม่ครบถ้วน ส่งผลให้การชุมนุมยืดเยื้อตามไปด้วย เพราะหากไม่มีการติดตามเรื่องอาจเงียบหายไป
"วันนี้เป็นเวทีตรวจสอบรัฐบาล เพื่อแสดงออก ส่งเสียง สื่อสารให้สังคมได้รับรู้ ไม่มีกำหนดว่าจะยุติตอนไหน ไม่มีรูปธรรมที่จะบอกว่าชนะหรือไม่ชนะ รอประเมินท่าทีในวันที่ 29 พ.ค.นี้" พิชิต ในฐานะแกนนำคปท.กล่าวและย้ำว่า
พิชิต ไชยมงคล
ท่าทีจากนี้ คงต้องประเมินภายหลังอัยการนัดในวันที่ 29 พ.ค.2567 ว่าจะมีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ คดี ม.112 หรือไม่ หากมีคำสั่งฟ้องจะหารือกับเครือข่ายถึงแนวทางเคลื่อนไหวว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตรวจสอบรัฐบาลหรือไม่ หากไม่ฟ้องก็จะยังปักหลักชุมนุมต่อไป เบื้องต้นขออนุญาต สน.ลุมพินี และ กทม.ใช้พื้นที่การชุมนุมไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ค.2567
อย่างไรก็ตาม แม้การชุมนุมต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้า-ออกของนักเรียนและบุคคลกรการศึกษาในช่วงเปิดเทอมนี้ แต่แกนนำ คปท. ยืนยันว่าจะพยายามลดผลกระทบต่อการใช้พื้นที่โดยรอบให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการปราศรัย ในช่วงเช้าจะไม่มีการใช้เสียง แต่จะเริ่มเปิดเวทีชุมนุมช่วงเวลา 17.30-24.00 น.
เปิดครัว 3 ทัพย่อย “กองทัพธรรม-คปท.-ศปปส.”
การชุมนุมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมหลักส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่มาปักหลักค้างนานนับเดือน หรือบางส่วนที่มีบ้านพักอยู่ใน กทม.และปริณฑล จะเดินทางไป-กลับ และเข้ามาสบทบในช่วงแดดร่มลมตก จับจองที่นั่งฟังปราศรัยหน้าเวทีตั้งแต่เวลา 17.30-24.00 น.ของทุกวัน หิวก็แวะกินอาหาร น้ำดื่มสมุนไพร ที่สลับสับเปลี่ยนทั้งเมนูปกติ และอาหารมังสวิรัติ ให้บริการฟรีไม่ขาดระยะ
พ่อครัว-แม่ครัว ใช้พืชผักปลอดสารพิษที่ปลูกเติบโตในพื้นที่ชุมนุม อีกส่วนใช้เงินบริจาคซื้อหมู ไก่ กุ้ง และวัตถุดิบอื่น ๆ ปรุงอาหารสดใหม่ให้บริการ ในวันนี้โรงครัวศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และ คปท.เสิร์ฟเมนูร้อน ๆ ทั้งผัดพริกหมูถั่วฟักยาว ผัดผักกาดดองไข่ แกงส้มรวมมิตร ยำวุ้นเส้น พร้อมของหวานเป็นแตงโม
ส่วนโรงครัวกองทัพธรรม เป็นอาหารมังสวิรัส เมนูก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น ใส่หัวไชเท้า ไส้กรอกผัก เห็ดหอม โรยหน้าด้วยผักชีต้นหอม ต้มจืดมะระผักกาดดอง แกงส้ม ยำมะม่วง ผัดบวบ ส้มตำ และน้ำสมุนไพร โดยมีผู้ชุมนุมและประชาชนบางส่วนในพื้นที่ใกล้เคียงแวะเวียนมาชิมรสชาติอย่างต่อเนื่อง
ในทุก ๆ วัน ครัวของ 3 ทัพย่อย ๆ จะเปิดให้บริการพร้อมกัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.30-17.30 น.และอาจต่อยาวไปจนถึง 18.00 น. โดยเฉพาะในวันที่มีผู้เดินทางเข้ารับฟังการปราศรัยจากต่างจังหวัด หรือมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวน เนื่องจากปัจจุบันมีอดีตแกนนำพันธมิตรฯ และนักวิชาการหลายคนมาขึ้นเวทีปราศรัย ไม่ได้เลี้ยงเฉพาะผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ปักหลักพักค้าง และยังเผื่อแผ่ไปถึงวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ยามรักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าแวะเวียนมาพูดคุย
ส่วนพื้นที่บริเวณการชุมนุมนั้น มีการกั้นแบ่งชัดเจนระหว่างที่พักของชาย-หญิง มีพื้นที่สีเขียวสะอาดตา ล้อมรั้วด้วยต้นไม้ในกระสอบปุ๋ยพร้อมสายฉีดพ่นน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื่นต่อพืชผักที่ปลูกตลอดแนวยาว นอกจากนี้ ยังพบว่า ในทุกจุดยังมีเจ้าหน้าที่อาสมัครกองทัพธรรม เข้าไปทำความสะอาดทุกจุดพื้นชุมนุม ไม่เว้นแม้แต่ลานชุมนุมหน้าพระรูปกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ พบว่า มีการนำดอกไม้พวงมาลับมากราบสักการะ
ไม่ไล่ แค่ “ยกระดับ” ตรวจสอบบริหารราชการรัฐบาล
“ตั้ม”พิชิต เล่าถึงยุทธศาสตร์การต่อสู้ของคปท., ศปปส.และกองทัพธรรม ว่า มีการเบ่งประเด็นการเคลื่อนไหวชัดเจน ขณะนี้ได้มีการยกระดับตรวจสอบการบริหารราชการของรัฐบาล เป็นเวทีสภาประชาชน กองทัพธรรมจะมี “หมอเขียว” เป็นหัวหอกนำการปราศรัยคัดค้านกาสิโนถูกกฎหมาย เนื่องจากเห็นว่า เป็นประเด็นที่ขัดต่อศีลธรรม และอาจส่งผลกระทบต่อเยาวชน ส่วน คปท.จะมีการพูดคุยให้ความรู้เรื่องนโยบายการกู้เงินมาแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผลประโยชน์ทับซ้อนบ่อน้ำมันเกาะกูด ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่นำไปสู่ความกังวลว่าจะทำให้สูญเสียดินแดน
รวมทั้งตั้งคำถามถึงการจำหน่ายข้าว 10 ปีในโครงการจำนำข้าว และกังวลว่าจะเกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบายแบบระบอบทักษิณขึ้นอีก เพราะเท่าที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของนายทักษิณ มีอิทธิพลเหนือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และทิศทางของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ยังปกป้องนายทักษิณ รวมทั้งพูดถึงการนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับไทย โดยไม่ถูกคุมขังในเรือนจำ
“ตั้ม” พิชิต มองว่า การสื่อสารประเด็นเหล่านี้ได้รับผลตอบรับจากสังคมมากขึ้น และมีแนวร่วมทั้งอดีตกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กปปส. นักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็น ดร.เจษฎ์ โทณวณิก, อาจารย์คมสัน โพธิ์คง, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และ “เจ้ปอง” อัญชะลี ไพรีรัก แวะเวียนมาขึ้นเวที เรียกเสียงรัวมือตบจากเหล่าแม่ยกแฟนคลับให้กลับเข้ารวมตัวกันได้มากกว่าเดิม
"จับตาว่าจะมีการฟื้นระบอบทักษิณ และนายเศรษฐา ทวีสิน อาจเป็นเพียงนายกฯ หุ่นเชิด...เราเฝ้ามองปรากฎการณ์นี้ ถามว่า เคยคุยกับอดีตแกนนำพันธมิตร และอดีตแกนนำนปช.หรือไม่ ตอบได้เลยว่า มีการปรึกษาหารือกันมาตลอด แต่วิเคราะห์กันแล้วว่า เราไม่ต้องการทำม็อบมาไล่รัฐบาล และหากอดีตแกนนำเข้าร่วมจะทำให้แนวทางการต่อสู้ของพวกเราผิดวัตถุประสงค์ แต่การยกระดับเวทีชุมนุมเป็นการให้ความรู้ ทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ ให้เห็นความไม่ชอบมาพากล น่าจะดีกว่า แม้ว่า ผู้เข้าฟังจะมีปริมาณน้อย แต่ผมไม่กังวล เพราะเราเวทีเรามีไลฟ์สด ให้ผู้ที่สามารถเดินทางเข้าร่วมชุมนุมได้รับฟัง หรือติดตามความเคลื่อนไหวของเราได้"
รูปแบบ คปท.เปลี่ยน “นักรบมือตบ-นักรบฟังไลฟ์”
ปฎิเสธไม่ได้ว่า แฟนคลับของอดีตกลุ่มพันธมิตรฯคือ แกนหลักสำคัญที่เข้าร่วมกับ 3 ทัพย่อย หลายคนอาจเดินทางมาไม่ไหว ไม่สามารถเข้าร่วมได้ แต่ยังมีกำลังทรัพย์และจิตศรัทธาส่ง พืชผัก ผลไม้ ข้าวสาร อาหารแห้งและส่งเงินบริจาคเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เวทีปราศรัยสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง บางครั้งเดินทางข้ามจังหวัดด้วยรถตู้มาให้กำลังใจกลุ่มผู้ชุมนุมถึงหน้าเวที นำเงินบริจาคมาให้ด้วยตนเอง เพราะในทุก ๆ วัน การทำเวทีมีค่าใช้จ่ายสูงวัน 30,000-40,000 บาท แต่การยืนระยะอยู่ได้ยาวนานขนาดนี้ถือว่า ไม่ธรรมดา
แม้การชุมนุมในครั้งนี้อาจถูกมองว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ แต่ “ตั้ม”พิชิต ยืนยันว่า ไม่ท้อ และไม่เหนื่อยเปล่าแน่นอน โดยมองว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวเปลี่ยนไปแล้ว ยอดผู้ชุมนุม หรือการแสดงพลังจำนวนมาก อาจไม่ใช่เป้าหมายหลักในตอนนี้ แต่เป็นการสื่อสารประเด็นเนื้อหาการตรวจสอบรัฐบาลผ่านโซเชียลที่อยู่ในมือของทุกคน และรู้สึกดีใจที่อดีตคนเสื้อแดงหลายคน เห็นด้วยกับแนวทางเคลื่อนไหวของ คปท. ส่วนข้อสงสัยว่าผู้ชุมนุมหลักยังเป็นผู้สูงอายุ ไม่มีพลังคนรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าพวกเขาอาจไม่สบายใจที่จะเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ เดิม จึงอยากให้รณรงค์แบบต่างคนต่างทำ เป็นแม่น้ำร้อยสาย โดยเฉพาะการเรียกร้องในประเด็นความเท่าเทียม
เราตั้งธงไม่ใช่ไล่รัฐบาล หรือเปลี่ยนขั้วการเมือง แต่เป็นการยกระดับการตรวจสอบการเมือง เพราะไล่หรือไม่ไล่ อุณหภูมิจะพาไปเอง ใช้เงินบริจาควันต่อวัน ไม่มีท่อน้ำเลี้ยง ไม่มีนักการเมือง ไม่มีฝ่ายใดหนุน
“บังเกอร์” กองทัพธรรม “ปลูกพืช-ผัก” กองหนุนหลัก คปท.
กองทัพธรรมในวันนี้ แม้จะสิ้นบุญ “สมณะโพธิรักษ์” ผู้นำทางจิตวิญญาณของสันติอโศกไปแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่เหล่าลูกศิษย์ยังเดินหน้าสานต่อเจตนารมย์ โดยอาสาสมัครของกองทัพธรรม 33 สาขา จะถูกสลับสับเปลี่ยนให้เข้ามาปฎิบัติหน้าที่และเข้าร่วมกันชุมนุม
"พรเพียงพุทธ โพธิ์กลาง" อายุ 48 ปี จิตอาสาแพทย์วิถีธรรม หนึ่งในผู้ชุมนุมที่เดินทางมาจาก อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ปักหลักใช้ชีวิตกินนอนในพื้นที่ชุมนุมริมถนนตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา แม้ครอบครัวของเธอที่ จ.บุรีรัมย์ จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เธอจึงทำได้เพียงส่งกำลังใจผ่านข้อความไปถึงลูก ๆ ในทุกวัน เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง
เข้าใจ ถ้าใครจะมองว่าเพ้อฝัน แต่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำถูกต้อง และเป็นการปฏิธรรมรูปแบบหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกลำบาก มีอากาศร้อนบ้าง ก็พัก หรือไปอาบน้ำ
พรเพียรพุทธ ได้รับการฝากฝังจากพระอาจารย์ให้มาช่วย “ตั้ม” พิชิต แกนนำหลัก ขับเคลื่อนการตรวจสอบรัฐบาลและหน่วยงานราชการ แม้ต้องอยู่ท่ามกลางอากาศร้อน เสียงรถยนต์ขวักไขว่ และยังไม่มีกำหนดยุติการชุมนุม แต่เธอใช้หลักปฏิบัติที่ฝึกฝนให้อดทน ทำใจให้สบาย ตั้งเป้าใช้สัจจะและความจริง พิสูจน์ให้คนรับฟังได้เข้าใจการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ซึ่งการมรณภาพของสมณะโพธิรักษ์ ผู้นำทางจิตวิญญาณสันติอโศก ส่งผลต่อความรู้สึก แต่ยืนยันว่าเครือข่ายมีความรักและสามัคคีกันมากขึ้น หวังขับเคลื่อนแนวคิดชุมชนพึ่งพาตนเอง
พรเพียงพุทธ โพธิ์กลาง
เธอใช้เวลาว่างปลูกผักและดูแลรดน้ำ รอวันเติบโตนำไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารในพื้นที่ชุมนุม บางส่วนจำหน่ายราคาถูก ซึ่งในวันที่ 25-26 พ.ค.นี้ จะมีการจัดงานตลาดอาริยะ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ติดตามผ่านทางโซเชียลและผู้ชุมนุม ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มปลูกในพื้นที่ริมถนน เผชิญความร้อนและฝุ่นควันจากรถยนต์ อีกทั้งน้ำที่ใช้รดต้นไม้ค่อนข้างกร่อย และอากาศร้อนทำให้ใบผักหดงอ จึงปรับรูปแบบเรื่อย ๆ เปลี่ยนน้ำที่ใช้รด และโชคดีที่ช่วง 1-2 วัน ฝนเริ่มตกลงมาเพิ่มความสดชื่นให้สวนผักกลางเมือง
สวนผักกลางพื้นที่ชุมนุมใช้สปริงเกอร์พ่นน้ำให้ความชุ่มชื้น โดยไม่ต้องพึ่ง "ท่อน้ำเลี้ยง" เป็นคำยืนยันจาก “ตั้ม” พิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท.ที่บอกว่าการชุมนุมในครั้งนี้ไม่มีท่อน้ำเลี้ยงจากอดีตแกนนำพันธมิตร กปปส. หรือนักการเมือง ทุกวันนี้เวทีขับเคลื่อนด้วยเงินบริจาคจากประชาชน หรือมวลชนที่เคยชุมนุมจากต่างจังหวัด หรือกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเห็นด้วยกับการตรวจสอบรัฐบาล โดยมีรายรับจากการบริจาคเพื่อใช้เป็นค่าน้ำมันเครื่องปั่นไฟ ค่าแรงช่างภาพ และอื่น ๆ ส่วนอุปกรณ์ ลำโพง เวที ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพธรรม
อ่านข่าว นักรบจรยุทธ์ “พิชิต ไชยมงคล” เปิดใจ คปท.ไร้ท่อน้ำเลี้ยงการเมือง