ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์ รร.ประถมขนาดเล็ก ตัวแปรขจัด "เหลื่อมล้ำ"

สังคม
23 พ.ค. 67
12:18
225
Logo Thai PBS
ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์ รร.ประถมขนาดเล็ก ตัวแปรขจัด "เหลื่อมล้ำ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ด้วยวิธีการสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรม การการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ให้งบประมาณคิดเป็นรายหัวตามจำนวนนักเรียน ทำให้โรงเรียนที่มีชื่อเสียง จะได้รับงบประมาณสูง จากการมีนักเรียนเต็มตามจำนวนที่เปิดรับ และยังสามารถนำงบประมาณมาพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้นไปได้อีก แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีโรงเรียนขนาดเล็ก "ถูกยุบ" เป็นจำนวนมากเช่นกัน

การหายไปของโรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะในระดับอนุบาล และระดับประถมศึกษา ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้นตามไปด้วย เมื่อไม่มีโรงเรียนในชุมชน ทำให้นักเรียนต้องไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างไกลมากขึ้น เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนก็จะมีต้นทุนค่าเดินทางไปโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กต้องถูกยุบ เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนน้อยเกินไป จึงได้รับสนับสนุนงบประมาณน้อยจนไม่สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆภายในโรงเรียนได้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียนเหล่านี้มีนักเรียนน้อยมาก เพราะไม่ใช่โรงเรียนดังและมีชื่อเสียงพอที่จะทำให้ผู้ปกครองยอมส่งลูกหลานมาเข้าเรียน

การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา เพื่อให้มีคุณภาพและมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น จึงเป็นหนึ่งในทางออกจากปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ของระบบการศึกษาไทย .... ซึ่งไม่ง่ายเลย

อ่านข่าว : ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์ รร.ตอบรับความหลากหลาย-ศึกษาเท่าเทียม

"นักเรียนน้อย" โรงเรียนสังกัด "กทม." เปิดสอนได้

รร.นี้มีนักเรียน 64 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ผู้ปกครองเข้ามาทำงานรับจ้างในประเทศไทย มีทั้งหมด 11 เชื้อชาติทั้งไทย เมียนมา กินี มาลี ลาว กัมพูชา กะเหรี่ยง เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และไม่มีสถานะ ...

นี่คือสถานะในปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมาของ โรงเรียนวัดม่วงแค ตั้งอยู่ในเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

"โรงเรียนวัดม่วงแคอยู่ในสังกัด กทม. อยู่ในความดูแลของท้องถิ่น เราจึงมีงบประมาณจาก กทม.มาสนับสนุน ทำให้ยังเปิดโรงเรียนอยู่ได้แม้จะมีนักเรียนแค่ 44 คน และเป็นต่างชาติทั้งหมด"

ศุภกิจ แตงโสภา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดม่วงแค ยืนยันว่า โรงเรียน ควรเป็นสถานที่แห่งการสร้างโอกาสและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ดังนั้น ไม่ว่าเด็กๆที่มาสมัครเรียนจะมาจากเชื้อชาติไหน ก็ควรจัดการศึกษาให้อย่างเท่าเทียม และความมั่นใจว่า โรงเรียนวัดม่วงแคได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพทางการศึกษาไม่ต่างจากโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง และสามารถเป็นทางเลือกใหม่ๆให้กับผู้ปกครองในท้องถิ่นได้

ศุภกิจ แตงโสภา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดม่วงแค

ศุภกิจ แตงโสภา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดม่วงแค

ศุภกิจ แตงโสภา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดม่วงแค

"ในความเป็นจริงคือ การที่โรงเรียนอยู่ในสังกัด กทม. ทำให้เราไม่เคยขาด แคลนงบประมาณเลย แต่พบว่า ยังมีปัญหาที่ภาพลักษณ์เดิมๆซึ่งผู้ปกครองยังไม่เชื่อมั่นในโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่น ผมเคยเป็นครูในโรงเรียนชื่อดังที่ต้องแย่งกันสอบเข้าในระดับประถมมาก่อน สามารถพูดได้เลยว่า ผมมีทั้งลูกศิษย์ที่สามารถไปแข่งโอลิมปิกเชิงวิชาการได้ และมีทั้งเด็กที่ไม่มีความสามารถเชิงวิชาการเลย อยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ดังนั้นแท้จริงแล้ว โรงเรียนไม่ได้ต่างกันมาก"

"เราต้องทำให้ผู้ปกครองเห็นว่า ไม่จำเป็นจะต้องส่งลูกไปเรียนพิเศษหนักๆเพื่อแข่งขันกันสอบเข้าโรงเรียนประถมขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ... เราพยายามจะทำให้เห็นว่า โรงเรียนในสังกัด กทม.บางแห่ง ก็สามารถทำคุณภาพเรื่องการเรียนการสอนได้ไม่ต่างกัน และยังอาจจะทำได้ดีกว่าในบางเรื่องด้วยซ้ำ เช่น ครูสามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึงมากกว่าเพราะมีนักเรียนไม่มาก เรียนฟรี หนังสือเรียนฟรี ชุดนักเรียนฟรี และมีอาหารให้กินฟรี"

อ่านข่าว : ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์ อนุบาล-มหาวิทยาลัย "การศึกษาที่ไร้หัวใจ"

คุณภาพ "การศึกษา" วัดด้วยผลการเรียน

คำว่า "คุณภาพทางการศึกษา" เป็นข้อความที่ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดม่วงแค เห็นว่า สังคมควรจะถกเถียงกันได้ว่าเราต้องการคุณภาพในรูปแบบไหนให้เด็กๆของเรา

"คุณภาพ มันอยู่ที่เราจะมองจากมุมไหนด้วย อยู่ที่ mindset ของคน ถ้าเรายืนยันว่า จะต้องแข่งขันกันด้วยผลการเรียนของนักเรียน นิยามของโรงเรียนที่มีคุณภาพ ก็จะต้องมีแต่โรงเรียนที่นักเรียนที่ได้คะแนนสูงๆในการสอบ แต่ถ้าเราจะวัดคำว่าคุณภาพกันที่คุณภาพชีวิตของเด็กๆ โรงเรียนสังกัด กทม. ก็อาจจะมอบคุณภาพในอีกรูปแบบหนึ่งให้นักเรียนได้ คือ เด็กต้องกินอิ่มนอนหลับก่อนที่จะอ่านออกเขียนได้"

ถ้าเอาผลสอบมาวัด เราอาจจะไม่ชนะ แต่ถ้าเอาความเครียดหรืออาการเจ็บป่วยของเด็กมาวัด เด็กของเราอาจจะชนะที่มีความสุขในการมาเรียนก็ได้" ศุภกิจ อธิบายแนวคิดของเขาในการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก

แนวทางการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง กทม. อบจ. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล หรือ อบต. เป็นหลักในการบริหารจัดการโรงเรียนระดับประถมศึกษา เป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จะช่วยแก้ปัญหาความแตกต่างของโรงเรียนชื่อดังกับโรงเรียนทั่วไปในระดับมัธยมศึกษาได้ด้วย  เนื่องจากเชื่อว่า การถ่ายโอนโรงเรียนประถมไปให้ท้องถิ่นดูแลเอง

นอกจากจะทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กให้เหมาะสมกับสภาพชุมชนแล้วยังจะช่วยทำให้กระทรวงศึกษาธิการ มีงบประมาณเหลือจากการที่ไม่ต้องไปดูแลโรงเรียนประถมศึกษา จึงจะมีเงินเหลือไปใช้เพื่อพัฒนาโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในกลุ่ม Tier 2 ที่ไม่ใช่โรงเรียนชื่อดังให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นได้และเมื่อมีโรงเรียนมัธยมที่เป็นตัวเลือกดีๆมากขึ้น ก็จะลดทั้งสภาวะความเหลื่อมล้ำและการแข่งขันแย่งชิงดกันเพื่อเข้า ม.1 ไปได้มากอีกด้วย

"แต่การจะเปลี่ยนแปลงระบบเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าจะเปลี่ยนให้ได้ต้องพลิกเลย ต้องปฏิวัติเลย ไม่ใช่แค่ปฏิรูป"

 ปฏิรูปการศึกษา"เด็กศูนย์กลาง" แต่"รร.ใกล้ชุมชน"ถูกยุบ

ผู้อำนวยการ ศุภกิจ อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบธุรกิจแบบเสรีนิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาไทย คือ เงื่อนไขใหญ่ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโรงเรียนอย่างที่นำเสนอกันมา กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะนโยบายกับการปฏิบัติมักจะไม่ไปในทางเดียวกัน

"ผมอยู่มาทุกระดับ นโยบายดี แต่พอมาที่คนกลาง ก็มีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างการนำมาใช้ .. เช่น นโยบายเคยบอกจะยกเลิกสอบ O-NET ให้เป็นระบบสมัครใจสอบ เพราะยิ่งจัดสอบก็ยิ่งทำให้มีความต้องการให้ลูกหลานไปสอบเข้าโรงเรียนขนาดใหญ่ชื่อดังที่มีผลคะแนนออกมาดีมากขึ้น ... แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็มาขอร้องให้ทุกโรงเรียนช่วยกดดันให้เด็กเข้าสอบ เหมือนกึ่งบังคับเด็ก เพราะหน่วยงานที่ทำเรื่องการทดสอบถูกตั้งขึ้นมาแล้ว จะยุบก็ไม่ได้ ... ค่านิยมในการใช้วิชาการเป็นตัวชี้วัดโรงเรียนจึงยังไม่หายไป"

ผอ.ศุภกิจ ยกตัวอย่างว่า เด็กโรงเรียนเรา ไม่สมัครสอบ โรงเรียนก็ไม่มีผลไปแสดง ยิ่งไม่ได้ความสนใจจากผู้ปกครอง ถือเป็นความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่ต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของการทำธุรกิจ

โรงเรียนวัดม่วงแค เป็นโรงเรียนประถมสังกัด กทม.ที่มีนักเรียนในโรงเรียนแค่ 44 คน เป็นเด็กชาวต่างชาติที่พ่อแม่มีฐานะยากจนทั้งหมด อาจารย์ศุภกิจ ย้ำว่า หน้าที่ของครู โรงเรียน และระบบการศึกษา คือ การทำให้เด็กๆมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีอย่างเสมอภาค ไม่ใช่การให้โอกาสแต่เฉพาะกับเด็กที่มีความสามารถทางวิชาการ หรือต้องเป็นเด็กที่ผู้ปกครองมีฐานะทางการเงินที่ดีพอจึงจะได้โอกาส

ดังนั้นการทำให้โรงเรียนขนาดเล็กอยู่ได้ มีงบประมาณดูแลตัวเอง เป็นโรงเรียนขยายโอกาสได้จึงสำคัญมาก เพราะจะทำให้เด็กทุกคนมีโรงเรียนที่ดีพอที่สามารถเข้าเรียนได้ฟรีจริงๆ มีหนังสือเรียน มีอาหารการกินที่ดี และจะกลายเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

"ถ้าโรงเรียนทำหน้าที่เพียงแค่คัดเด็กที่เก่งอยู่แล้วเข้ามา ครูไม่ต้องสอนเลยก็ได้ แต่ในข้อเท็จจริง คือ เรายังมีเด็กอีกมากที่ไม่ผ่านการสอบคะเลือก หรือไม่มีเงินพอสำหรับการเรียนในหลักสูตรพิเศษต่างๆ ... ดังนั้น เราควรมาสนใจการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กเป็นพื้นที่แห่งการขยายโอกาส ให้โรงเรียนในท้องถิ่นสามารถเป็นทางเลือกที่ดีของผู้ปกครองได้จริง ซึ่งเราต้องเริ่มจากการกำหนดมาตรฐานว่า โรงเรียนควรมีอะไรบ้าง เด็กต้องได้อะไรบ้าง"

"แต่เพราะธุรกิจเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น มันบีบให้แม้แต่โรงเรียนขนาดใหญ่ต้องลงทุนเพิ่มเพื่อรักษาชื่อเสียงเอาไว้ให้ได้ เพื่อให้มีความต้องการสมัครเข้าเรียนในอัตราสูงเช่นเดิม ซึ่งทำให้ทุกอย่างมีต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ... ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงระบบ เด็กยากจนก็จะยิ่งแข่งขันไม่ได้"ผอ.โรงเรียนประถมขนาดเล็ก กล่าว

และทิ้งท้ายว่า อนาคตของเด็กจำนวนมากที่อาจโชคร้ายได้รับโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าคนอื่น เพียงเพราะเกิดมาในครอบครัวที่ผู้ปกครองมีสถานะทางการเงินไม่ดีนัก

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

อ่านข่าว : ร้อง “เงินออม” นักเรียน กทม.หายร่วมล้าน ครูไม่ฝากเข้าธนาคาร

เปิดครัว คปท.-กองทัพธรรม-ศปปส.ขยับสอบรัฐบาล “ไล่-ไม่ไล่” อุณหภูมิจะนำทาง

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 40 สว.ยื่นถอด "เศรษฐา" ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง