ถ้าเทียบให้เห็นภาพชัดๆ เหมือนสถานการณ์ถ้ำหลวง ที่ทุกทีมพร้อมสนับสนุนกันและกัน ใครมีอะไรรีบมาบอก รีบแก้ไข ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ช่วยคนบนเครื่องให้ไวที่สุด
- ผู้โดยสารโปรดทราบ! กรุณารัด "เข็มขัดที่นั่ง" ทุกครั้งเมื่อโดยสารเครื่องบิน
- เปิดปัจจัยถังออกซิเจนระเบิด ความเสี่ยงแค่เสี้ยวนาที
คำตอบแรกที่ พญ.วิชัญญา บุรีรักษ์ หนึ่งในทีมแพทย์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้เผชิญเหตุการณ์รับไม้ต่อจากการประสานงานขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 เส้นทางลอนดอน (ฮีธโทรว์) - ชางงี สิงคโปร์ วันที่ 21 พ.ค.2567 เปิดเผยเป็นที่แรกกับไทยพีบีเอสออนไลน์
รวมพล "Full Team" เข้าช่วย SQ321
พญ.วิชัญญา หรือ "หมอป่าน" เล่าถึงภารกิจใหญ่ที่ทีมแพทย์สนามบินต้องเจอหลังประจำการที่นี่มาถึง 12 ปีว่า นี่เป็นครั้งแรกของสนามบินสุวรรณภูมิที่ต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉินกับอุบัติเหตุหมู่ทางการบินที่เกิดจากการตกหลุมอากาศและมีผู้เสียชีวิต แม้เงื่อนไขการขอลงฉุกเฉินของ SQ321 คือต้องการความช่วยเหลือด้านการแพทย์ แต่ก็ต้องประสานงานกับหน่วยงานฝ่ายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
พยาบาลสายฉุกเฉินได้รับแจ้งเหตุจากวิทยุการบินว่า อีกประมาณ 30 นาที เครื่องของ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ จะขอลงฉุกเฉินเพราะเครื่องประสบ Turbulence และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
จากนั้นข้อมูลก็เริ่มหลั่งไหลมาเรื่อย ๆ ที่หมอป่านตั้งใจฟังมากที่สุดคือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บที่เธอยอมรับกับทีมข่าวว่า "ไม่เคยนิ่ง ตัวเลขที่แจ้งเป็นจริงหรือไม่" ถ้าเป็นจริงตามที่แจ้งเท่ากับต้องใช้ทรัพยากรเยอะมาก ทำให้ต้องประชุมกันในทีมแพทย์และตัดสินใจทำตามแผนเผชิญเหตุ "อากาศยานอุบัติเหตุ" นั่นคือเรียกรวมพลเต็มรูปแบบ ทั้งคน อุปกรณ์ แผนเผชิญเหตุ ทั้งนี้เมื่อเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ในเที่ยวบิน ฝ่ายการแพทย์จึงต้องเป็น "ผู้บัญชาการเหตุการณ์ (On Scene Commander)"
แต่ทุกอย่างคือ "การเตรียมรับมือ" ไว้ก่อน และรอประเมินสถานการณ์หน้างานว่าจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเท่าที่เตรียมไว้หรือไม่
จำใจทิ้งดำ เร่งเก็บแดง-เหลือง-เขียว
แม้ทางภาคพื้นจะได้รับแจ้งว่าอีก 30 นาทีเครื่องจะลงจอด แต่ในความเป็นจริงเครื่องมาถึงก่อนเวลาแจ้ง 10 นาที "เราได้รับแจ้งว่าเครื่องจะลงจอด 16.00 น. แต่เครื่องมาถึงจริงคือ 15.51 น." ก่อนขึ้นเครื่อง หมอถึงได้รู้ว่ามีเคสดำหรือผู้เสียชีวิต 1 คนบนเครื่อง สิ่งที่หมอทำได้ ณ ขณะนั้นคือ ต้องจำใจปล่อย และเรียกหน่วยงานที่ดำเนินการกรณีมีคนเสียชีวิตบนเครื่อง มารับช่วงแทน
ในทางการแพทย์เราจะไม่เททรัพยากรไปกับเคสดำ เราต้องเร่งเก็บเคสแดง-เหลือง-เขียว ไว้ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด
พญ.วิชัญญา บอกว่าเวลาเตรียมการจริงมีแค่ 20 นาทีไม่เกิน ทุกอย่างคือความกดดันที่หลีกหนีไม่ได้ เธอและทีมแพทย์-พยาบาล เป็นกลุ่มแรกที่เข้าไปในเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER จากประตูหน้าสุด ภาพแรกที่เห็นคือ "เทกระจาด" หมอป่านเปรียบเทียบถึงพื้นห้องโดยสารที่เต็มไปด้วยข้าวของกระจัดกระจาย โซนหน้าไม่พบร่องรอยความเสียหายเท่าไหร่ พอเดินเข้าไปกลางลำเริ่มเห็นความเสียหายและผู้บาดเจ็บมากขึ้น แต่ส่วนที่หนักที่สุดคือส่วนท้ายเครื่อง เพราะมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากอยู่ที่นั่น
เมื่อประเมินสถานการณ์ตรงหน้าแล้ว จึงตัดสินใจแจ้งไปยัง ผอ.ท่าอากาศยาน ขอคำอนุมัติใช้แผนปฏิบัติการฉุกเฉินอุบัติเหตุหมู่ ซึ่ง ผอ.ท่าอากาศยานก็อนุมัติคำสั่งทันที จึงมีการประสานงานไปยังทุกหน่วยงาน ทีมแพทย์ทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ รพ.สมิติเวช ทีมดับเพลิงกู้ภัย ทีมขนย้าย เรียกว่ามีเท่าไหร่เรียกรวมพลมาที่ SQ321 ทั้งหมดในนาทีนั้น
บรรยากาศในขณะนั้น ทุกอย่างอยู่ในความเงียบ สงบ จะบอกว่าทุกคนอาจกำลังช็อกหลังจากผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาก็ใช่ แต่เมื่อทุกคนเห็นทีมช่วยเหลือ ก็ไม่มีผู้โดยสารคนไหนตะโกนโวยวายเลยสักคน กลับกันทุกคนกลับให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการช่วยเปิดทางให้ทีมช่วยเหลือเข้าไปดูแลจัดการกับผู้ได้รับบาดเจ็บ หมอป่านเล่าถึงสิ่งที่สัมผัสได้จากผู้โดยสารและลูกเรือขณะขึ้นไปประเมินสถานการณ์
หลายคนคงเห็นว่ามีคนได้รับบาดเจ็บกว่าตนเอง ก็อยากให้หมอไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นก่อน
ถอดเสื้อกาวน์สวมหมวกผู้บัญชาการ
พญ.วิชัญญา กล่าวต่อว่า เมื่อประเมินภาพรวมเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว เธอและทีมงานต้องวางหน้าที่แพทย์ลง และสวมบทผู้บัญชาการสถานการณ์ตรงหน้า ทุกคนจะวิ่งเข้าหาเรา รายงานเหตุ เรามีหน้าที่ประสานทีมอื่นๆ ใครขาดเหลือส่วนไหนต้องประเมินและแจ้งเหตุต่อ เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย
พญ.วิชัญญา และ นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะปฏิบัติงาน SQ321
ถ้าเปรียบเทียบให้คนนอกเหตุการณ์เห็นถึงความโกลาหลบนพื้นที่ลานจอดอากาศยานในสนามบินสุวรรณภูมิในวันนั้น พญ.วิชัญญาเปรียบว่า เหมือนถ้ำหลวงแบบย่อมๆ คนเยอะแยะไปหมด ทั้งเดินทั้งวิ่ง แต่ที่วิ่งคือวิ่งมาบอกว่า ทีมของตัวเองมีทรัพยากรอะไรบ้าง พร้อมรับมือตลอดเวลา ขอแค่หมอแจ้งก็พอ
มันมีลักษณะสายการบังคับบัญชาเกิดขึ้นโดยปริยาย ทุกคนเข้ามาบอก รอรับคำสั่ง เร่งเข้าพื้นที่
ทำไมขอลงจอดสุวรรณภูมิ ?
การบริหารจัดการสถานการณ์อุบัติเหตุหมู่ที่อยู่ตรงหน้าของทีมแพทย์สนามบิน และหน่วยงานอื่นๆ ที่ประกบช่วยให้ผู้ป่วยเคสสีแดง และสีเหลือง ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลได้ภายใน 2 ชั่วโมงหลังเครื่องจอด เมื่อร้องขอรถพยาบาลเพื่อส่งผู้ป่วยรักษาต่อยัง รพ.ภายนอก รถก็มารอทันที จากนั้นยังได้รับการอำนวยความสะดวกเปิดช่องทางจราจรจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย
ไม่เกิน 15 นาทีรถพยาบาลก็นำตัวผู้ป่วยส่งถึง รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ทั้งที่ในเวลาปกติอาจใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง
นี่เป็นสิ่งการันตีถึงความพร้อมของทีมแพทย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หมอป่านอธิบายเพิ่มว่า "สนามบินทางเลือก หรือ Alternate Airport" คือข้อบังคับที่ทุกเที่ยวบินในโลกต้องมี แต่การเลือกว่าจะขอลงฉุกเฉินที่สนามบินไหน ต้องดูความเหมาะสมด้วย เช่น สนามบินนั้นๆ มีรันเวย์ หรืออุปกรณ์รองรับเครื่องบินลำประสบปัญหาหรือไม่ มีบุคลากรให้ความช่วยเหลือพร้อมหรือไม่ พร้อมยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ชีวิตการเป็นหมอสนามบินของเธอต้องได้เจอกับผู้โดยสารป่วยแทบทุกช่วงอายุและแทบทุกวัน
เราเจอเคสที่เครื่องขอลงจอดฉุกเฉินเพราะมีคนป่วยบนเครื่องมาเรื่อยๆ เคยมีแม้กระทั่ง Airbus-380 ขอจอดเพื่อนำส่งผู้ป่วยเพียง 1 คนส่งโรงพยาบาลที่สุวรรณภูมิ เราก็ให้ความช่วยเหลือ เราปฏิเสธไม่ได้เรื่องการช่วยเหลือเมื่อมีการร้องขอฉุกเฉิน นั่นคือ First Priority ของการเป็นแพทย์สนามบิน
พญ.วิชัญญา ตอบคำถามทีมข่าวเมื่อถูกถามว่า สุวรรณภูมิสามารถปฏิเสธการรับเคสได้หรือไม่ เพราะมีกระแสโซเชียลตั้งข้อสงสัยว่า อีกไม่นานจะถึงสิงคโปร์แล้ว ทำไมเครื่องบินไม่บินต่อไปอีก
ทุ่มคะแนนให้ทุกคน 100 เต็ม 10
เมื่อถาม พญ.วิชัญญา ว่าในวันนี้ที่สื่อทั้งในประเทศและนอกประเทศชื่นชมการบริหารจัดการสถานการณ์ของทีมแพทย์ท่าอากาศยาน เธอบอกว่าส่วนตัวเธอคงไม่กล้าให้รางวัลใด ๆ กับตัวเอง แต่ขอยกคะแนน 100 เต็ม 10 ให้กับทุกคนที่อยู่ในเหตุวันนั้น
ขอยกย่องและขอบคุณกับความทุ่มเทของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ลงมากำกับงานด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ไม่มีการปฏิเสธเมื่อขอความช่วยเหลือ
เราไม่ได้มีแผนรับมือเพื่อให้เป็นเพียงมาตรฐานของท่าอากาศยานระดับนานาชาติ ความสำเร็จที่แท้จริง เกิดขึ้นเมื่อเราสามารถรับมือกับเหตุการณ์ใหญ่ตรงหน้าได้เป็นอย่างดี การซ้อมที่เกิดขึ้นทุกปี วันนั้นเรางัดเอาทุกทักษะมาใช้กันทั้งหมด
ไม่ใช่แค่เหตุฉุกเฉินตรงหน้า สภาพอากาศก็ไม่เป็นใจ
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการซ้อมแผนเผชิญเหตุที่เกิดขึ้นทุกปีของสนามบินสุวรรณภูมิ หมอป่านเล่าว่าในทุก ๆ ปีจะซ้อมแผนช่วงประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. ในการซ้อมจะเลือกซ้อมในวันที่อากาศแจ่มใส เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่เจ็บป่วยแล้วไม่สามารถปฏิบัติงานในวันถัดไปได้ แต่ในวันเกิดเหตุจริง อุปสรรคใหญ่ที่ทีมช่วยเหลือเจอไปพร้อม ๆ กันคือ "สภาพอากาศ"
ขณะกำลังปฏิบัติงานอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงก็ได้รับแจ้งจากหน่วยปฏิบัติการเขตการบินว่า กลุ่มฝนกำลังจะมาถึงสนามบินใน 20 นาที ขอความเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการลำเลียงผู้โดยสารลงจากเครื่องในขณะนั้น ในจังหวะที่ทีมบัญชาการนิ่งคิด ทีมอาคารได้ยื่นความช่วยเหลือเข้ามาทันที โดยเสนอกางเต็นท์เพิ่มเพื่อรองรับผู้โดยสารที่อาจเปียกฝนขณะลงจากเครื่อง
พญ.วิชัญญา กล่าวว่า แม้ตัวเธอจะเป็นผู้บัญชาการ แต่ไม่ได้เป็นเพียงการสั่งการออกไปฝ่ายเดียว แต่ทีมที่ปฏิบัติงานร่วม ก็สามารถ Feedback กลับมาได้เช่นกัน นั่นคือการทำงานเป็นทีมที่ต่างฝ่ายต่างช่วยสนับสนุนกันและกัน
เรียนรู้และถอดบทเรียน
ความฝันวัยเยาว์ของ ด.ญ.วิชัญญา คือการเป็นแพทย์ และนักบิน แต่ในยุคที่ประเทศไทยไม่เปิดรับนักบินที่เป็นผู้หญิง เธอจึงพาตัวเองเข้าใกล้ความฝันให้มากที่สุดคือ การเป็นแพทย์สนามบิน นอกจากงานด้านการรักษาผู้ป่วยแล้ว หมอป่านยังมีความรู้ด้านการบินอีกด้วย เธอสะท้อนเหตุการณ์ SQ321 ว่า ความผิดพลาดในการทำการบินนั้น เป็นสิ่งที่นักบินไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
แต่เหตุการณ์นี้ หากสืบสวนแล้วพบว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากการตกหลุมอากาศ ในทางการบินไม่มีบทลงโทษอะไร แต่ต้องมาถอดบทเรียนจากอุบัติเหตุนี้เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการการทำงานให้ปลอดภัยและรัดกุมมากขึ้น
ถ้าไม่ได้เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่ควรเอาผลการตรวจสอบมาตัดสินถูกผิดแล้วลงโทษใด ๆ เพราะถ้าตัดสินลงโทษ ต่อไปจะไม่มีใครกล้ารายงานเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่ปลอดภัย กลายเป็นคนกลัวความผิดไปหมด
หลายคนที่สงสัยว่า ทำไมต้องมีหมอในสนามบิน วันนี้คงต้องตอบแบบนี้ว่า เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดได้เสมอ สนามบินจึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญเหตุฉุกเฉินในทุก ๆ ด้าน การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินของท่าอากาศยานได้ทันท่วงที เพื่อบรรเทาเหตุนั้น ๆ และทำให้ท่าอากาศยานกลับมาดำเนินการในสภาวะปกติให้ไวที่สุด คือ ภารกิจที่สำคัญที่สุดของฝ่ายการแพทย์ ทอท.
รู้หรือไม่ : พญ.วิชัญญา บุรีรักษ์ คือสุดยอดแฟนพันธุ์แท้สายการบิน จากรายการแฟนพันธุ์แท้ เด็กผู้หญิงที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักบินและอยากเป็นคุณหมอ เธอจึงเลือกตามหาฝันไปพร้อมๆ กัน ก็ไปรักษาผู้โดยสารที่ป่วยในสนามบินไปเล้ยยยย !
อ่านข่าวเพิ่ม :
เรารู้อะไรบ้างจากการ "ตกหลุมอากาศ" ของ SQ321
บวท.พร้อมรับมือสภาพอากาศกระทบเที่ยวบิน-รองรับภาวะฉุกเฉิน
อัปเดตผู้ได้รับบาดเจ็บ SQ321 กลับบ้านแล้ว 27 รักษาตัว 58 คน
ผู้โดยสารโปรดทราบ! กรุณารัด "เข็มขัดที่นั่ง" ทุกครั้งเมื่อโดยสารเครื่องบิน