ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์ รร.ตอบรับความหลากหลาย-ศึกษาเท่าเทียม

สังคม
21 พ.ค. 67
10:40
295
Logo Thai PBS
ค่า(เข้า)เรียน เดอะซีรีส์ รร.ตอบรับความหลากหลาย-ศึกษาเท่าเทียม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เมื่อ "โรงเรียน" ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการวางรากฐานอนาคตให้กับคนคนหนึ่งไว้ตั้งแต่เด็ก แม้จะมีคนจำนวนมากที่อาจประสบความสำเร็จในชีวิตได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ... แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ถ้าผู้ปกครองมีทางเลือก ก็จะเลือกส่งลูกหลานของตัวเองเข้าไปในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงก่อน เพราะถือเป็น "ต้นทุนชีวิต" ที่เด็กคนนั้นจะได้ใช้เป็นสารตั้งต้นที่ดีกว่า

การแข่งขันเพื่อแย่งชิงเก้าอี้ในโรงเรียนดัง โดยเฉพาะการขึ้นชั้น ป.1, ขึ้นชั้น ม.1 รวมทั้งการแย่งที่นั่งในคณะที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยชื่อดัง จึงเป็นดั่ง "สนามรบของนักเรียน" ที่สร้างความตึงเครียดให้กับทั้งผู้เรียนและผู้ปกครอง

นั่นเป็นเพราะเรามีโรงเรียนที่ถูกยอมรับว่า "ดีพอ" อยู่ในปริมาณที่ "ไม่พอดี" กับความต้องการ

ใน "ค่า (เข้า) เรียน" เดอะซีรีส์ EP.1 ได้เห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการที่โรงเรียนดังต้องพยายามหารายได้เข้าโรงเรียนเพิ่ม ผ่านกลยุทธ์ "ห้องเรียนพิเศษ" ด้วยแนวคิดการศึกษาแบบเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้โรงเรียนของรัฐ ต้องกลายสภาพเป็นโรงเรียนกึ่งเอกชน จนทำให้มีที่นั่งสำหรับ "ห้องเรียนปกติ" น้อยลงมาก ซึ่งหมายความว่า เด็กจำนวนมากที่ครอบครัวมีฐานะทางการเงินไม่ดีนัก ก็จะยิ่งต้องแย่งชิงเก้าอี้ในโรงเรียนดังได้ยากขึ้นไปกว่าหลายเท่า

อ่านข่าว : ค่า(เข้า)เรียน เดอะ ซีรีส์ อนุบาล-มหาวิทยาลัย "การศึกษาที่ไร้หัวใจ"

แต่ด้วยสถานการณ์ด้านประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลง ส่งผลให้มีนักเรียนน้อยลงไปด้วยในแต่ละปี ทำให้สถานการณ์การแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนดังในต่างจังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรไม่มากนัก อยู่ในสภาพที่ต่างไปจากในกรุงเทพมหานคร

กลายเป็นว่า โรงเรียน ต้องหาวิธีการเพื่อรักษาจำนวนนักเรียนให้มากเข้าไว้ เพราะมันจะส่งผลต่อจำนวนเงินอุดหนุนที่โรงเรียนจะได้รับจากรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็ทำให้ "โรงเรียนทางเลือก" ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความแตกต่างของนักเรียนแต่ละกลุ่มและสอดรับกับความต้องการของท้องถิ่น กลายเป็นโรงเรียนที่ได้รับความสนใจมากขึ้น

แม้เด็กจะสามารถเข้าโรงเรียนมัธยมดังในต่างจังหวัดได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการเข้าเรียนของโรงเรียนในต่างจังหวัดก็ยังคงมีมากเช่นเดิม เพราะยังไม่มีการพัฒนาเด็กเล็กด้วยรากฐานที่ดีพอ

นักเรียน กทม.แย่งที่นั่ง รร.ดัง สวนทาง รร.โคราช เปิดกว้างรับนักเรียน

"ถ้าย้อนกลับไป 5-6 ปีก่อน การสอบเข้า ม.1 ในโรงเรียนดังที่โคราชจะมีสถานการณ์เหมือนในกรุงเทพฯ คือ กดดันมาก ต้องสอบคัดเลือกอย่างเข้มข้นมาก เข้าเรียนยากมาก ใครจะเข้าได้ต้องเก่งจริงๆ แต่ปัจจุบันจำนวนเด็กลดลง โรงเรียนเองก็ต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อจูงใจให้เด็กเข้าเรียน แม้แต่ในโรงเรียนดังในตัวเมืองก็ต้องลดความเข้มข้นในการคัดเด็กลงไป กลายเป็นแทบจะเปิดรับทุกคนที่ไปสมัคร"

จรรยารักษ์ โพธิ์ทองงาม ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ เทศบาลนครนครราชสีมา เล่าถึงสถานการณ์ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่ไปสมัครเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 จะได้รับการพิจารณาจากโรงเรียนชื่อดังให้ผ่านเข้าเป็นนักเรียนได้เกือบทั้งหมด เพราะมีจำนวนนักเรียนน้อยลงจากในอดีตมาก และโรงเรียนที่มีชื่อเสียงก็จำเป็นต้องรับนักเรียนจำนวนมากเช่นกัน

เนื่องจากในระบบการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียนจากทุกสังกัดไม่ว่าจะเป็นสำนัก งานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลาง (รัฐบาล) คิดตามจำนวนนักเรียนเป็นรายหัว

"ยิ่งมีนักเรียนเยอะ โรงเรียนก็จะยิ่งได้งบอุดหนุนมากขึ้น"

"สำหรับโรงเรียนในต่างจังหวัด ยิ่งมีเด็กจำนวนน้อยลงเช่นนี้ โรงเรียนชื่อดังก็จะยิ่งดึงดูดนักเรียนไปได้หมด เพราะผู้ปกครองสามารถส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ โดยไม่ต้องกดดันกับความเข้มข้นในการสอบคัดเลือก แต่ในทางกลับกัน โรงเรียนมัธยมขนาดเล็กตามอำเภอต่างๆ ก็จะยิ่งมีเด็กน้อยลง ได้รับงบประมาณน้อยลง และอาจจะต้องถูกยุบไปในอนาคต ซึ่งหมายความว่า เด็กต่างจังหวัดในยุคต่อไป ก็จะต้องเดินทางมาเรียนในตัวเมืองเท่านั้น"

แต่แม้โรงเรียนชื่อดังจะเปิดรับเด็กง่ายขึ้น ก็ยังไม่ส่งผลกระทบกับโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งมีอยู่ถึง 6 โรงเรียน และยังคงมีนักเรียนมาสมัครเข้าเรียนเต็มจำนวน เพราะวางบทบาทเป็น "โรงเรียนทางเลือก" ที่รองรับนักเรียนได้ตามความแตกต่างอย่างหลากหลาย และสอดรับกับความต้อง การของชุมชนโดยรอบโรงเรียน โดยทั้ง 6 โรงเรียน มีอัตลักษณ์ที่ต่างกัน ดังนี้

  • โรงเรียนเทศบาล 1 (บูรพาวิทยากร) รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ม.6 เน้นวิชาการ สายสามัญ ให้เด็กในท้องถิ่นที่มีความสามารถทางวิชาการมีโอกาสได้เรียนในระดับที่เข้มข้นเพื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย

  •  โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดสมอราย) รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ม.3 จัดเป็นโรงเรียนที่มีภารกิจเพื่อรองรับเด็กจากชุมชน 2 ข้างทางรถไฟ มีการเรียนเน้นไปที่การงานและอาชีพ เช่น งานคหกรรม ทำขนม เพราะเด็กกลุ่มนี้มักจะต้องไปทำงานหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว หลังเรียนจบชั้น ม.3

  • โรงเรียนเทศบาล 3 (ยมราชสามัคคี) รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ม.3 เป็นโรงเรียนที่ช่วยเน้นการเรียนภาษาต่างประเทศอยู่ในท้องถิ่น ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน โดยใช้ครูต่างชาติ แต่เก็บค่าเล่าเรียนในราคาที่ผู้ปกครองจ่ายไหว เช่น ระดับชั้นอนุบาลและประถม เทอมละ 5,000 บาท ชั้นมัธยม เทอมละ 7,000 บาท

  • โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ม.6 เป็นโรงเรียนหลักสูตรลักษณะพิเศษด้านอาชีพ เน้นไปที่การเรียนวิชาการควบคู่ไปกับฝึกทักษะอาชีพที่สามารถนำไปใช้ได้เลย (พัฒนาหลักสูตรด้านวิชาชีพ ร่วมกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น) เช่น สาขาการดนตรี สาขาคอมพิวเตอร์เพื่อธุรกิจ สาขาช่างยนต์ และสาขาไฟฟ้ากำลัง เป็นต้น เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน และสามารถต่อยอดสู่อาชีพหรือเรียนต่อด้านอาชีพในระดับอุดมศึกษาได้

  • โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดป่าจิตตสามัคคี) เป็นโรงเรียนที่รับเด็กกลุ่มเปราะบางพ่อแม่ยากจน (กลุ่มเสี่ยง) โดยเฉพาะเด็กจากพื้นที่อื่นติดตามพ่อแม่มาทำงานในเขตเทศบาล เด็กโดยส่วนใหญ่ค่อนข้างยากจน โรงเรียนนี้จัดให้เด็กเข้าเรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเลย โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะเน้นการเรียนวิชาการควบคู่ไปกับการฝึกทักษะชีวิต และอุปนิสัยพอเพียง มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนร่วมกับงานการศึกษานอกระบบของเทศบาลและสภาเด็ก เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กซึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีนักจะกลายเป็นผู้กระทำความผิดในอนาคต

  • โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา เป็นโรงเรียนที่พัฒนานักเรียนสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬาทั้งหญิงและชาย รับนักเรียนด้วยโควตานักกีฬา มีการคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถ/ถนัดด้านกีฬาตั้งแต่ชั้น ม.1 - ม.6 มีนักเรียน ประมาณ 200 คน เป็นโรงเรียนประจำ โดยในแต่ละวันเด็กจะเรียนวิชาพื้นฐานถึงประมาณ 14.00 น. จากนั้นก็จะเข้าสู่โปรแกรมการฝึกซ้อมกีฬาตามความถนัดของแต่ละคน โดยมีชนิดกีฬาที่เปิดสอน คือ ยกน้ำหนัก เซปักตะกร้อ มวยไทยสมัครเล่น มวยสากลสมัคเล่น ฟุตบอล และกรีฑา
จรรยารักษ์ โพธิ์ทองงาม ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ เทศบาลนครนครราชสีมา

จรรยารักษ์ โพธิ์ทองงาม ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ เทศบาลนครนครราชสีมา

จรรยารักษ์ โพธิ์ทองงาม ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ เทศบาลนครนครราชสีมา

ศึกษานิเทศก์ จรรยารักษ์ ระบุว่า โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครราชสีมา วางบทบาทเป็นโรงเรียนทางเลือกให้คนในชุมชน จึงถูกออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการที่หลากหลายของแต่ละชุมชนในเขตเทศบาล เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีทางเลือกที่จะส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านที่เป็นไปตามความต้องการ พยายามทำให้เป็นโรงเรียนที่ดีพอสำหรับคนในท้องถิ่นโดยไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน

เมื่อโรงเรียนในสังกัดท้องถิ่น มีความเข้าใจชุมชน ออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับท้องถิ่น พอเปิดรับนักเรียน ก็มีนักเรียนมาสมัครเต็ม นี่ทำให้เห็นได้ว่า ถ้าเราทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไปอยู่ในการดูแลของท้องถิ่นที่มีศักยภาพ มีการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก็จะสามารถช่วยทำให้เรามีโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่ต่างจากโรงเรียนชื่อดังเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองก็จะมีทางเลือกเป็น โรงเรียนที่ดีพอ เพิ่มมากขึ้น" จรรยารักษ์ อธิบายให้เห็นถึงความข้อดีของการมีโรงเรียนทางเลือกที่มาจากการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

"โรงเรียนทางเลือก ก็เหมือนการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของเด็ก เพราะเด็กจะมีความสามารถที่ต่างกัน เราไม่สามารถใช้แค่ผลการเรียนไปตัดสินเขา แต่ถ้าเราคัดออก เด็กก็จะออกไปอยู่นอกระบบ เราต้องเข้าใจว่าเด็กทุกคนต้องการการยอมรับ เขาจะแสดงพฤติกรรมเพื่อแสดงตัวตนว่าฉันอยู่ตรงนี้นะ เราก็ต้องมีพื้นที่ให้เขาได้แสดงความสามารถที่หลากหลาย เช่น ศิลปะ สเก็ตบอร์ด หรือการออกแบบ"

ต่างจังหวัด ยังต้องการ รร.สำหรับ "เด็กเล็ก" ที่มีคุณภาพ

"เราทำงานด้านการศึกษา ต้องพยายามสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพเพื่อเด็กทุกกลุ่มให้ได้ เราต้องทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพมากขึ้น"

จรรยารักษ์ กล่าวถึงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทยให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งความเท่าเทียมเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มตั้งแต่ "เด็กเล็ก"

"ปัญหาของต่างจังหวัด คือ พ่อแม่เด็กต้องไปทำงานต่างถิ่น เด็กเล็กอยู่กับปู่ย่าตายาย ก็ส่งศูนย์เด็กเล็กดูแล แต่พ่อแม่ที่ยากจนส่วนหนึ่งไม่กล้าพาลูกไปไว้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพราะเขาคิดว่าต้องเสียเงิน เขาไม่รู้ว่าเรียนฟรี แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในแต่ละแห่ง ยังมีศักยภาพไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของท้องถิ่น"

จรรยารักษ์ เป็นศึกษานิเทศก์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย ทำให้เห็นปัญหาสภาวะความไม่เท่าเทียมตั้งแต่ชั้นปฐมวัย แม้การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลโรงเรียนจะเป็นแนวคิดที่ดี แต่หน่วยย่อยที่ต้องดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากที่สุด ก็คือ อบต. ซึ่งต้องยอมรับว่า บางท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบางแห่งยังอยู่ในวัด อยู่ที่อาคารชุมชน ซึ่งไม่ใช่กายภาพของการเป็นสถานพัฒนาเด็ก ทำให้ยังมีคุณภาพไม่ดี

และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ต้นทาง จึงต้องพยายามหาวิธีการยกระดับคุณภาพด้วยการประสานให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเด็กเล็กอย่าง สมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทย กรมอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานที่จัดการศึกษาปฐมวัย เข้ามาทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ (อบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร อบจ.)

"ถ้ากระจายอำนาจ ทำให้ท้องถิ่นพร้อม ก็จะช่วยยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กได้ อย่างโรงเรียนเทศบาล 5 ก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ท้องถิ่นจัดตั้งและบริหารจัดการได้ดี สำหรับโรงเรียนที่โอนมาท้องถิ่น ข้อดี คือ สายบังคับบัญชาสั้นกว่ามาก เพราะผู้บริหารท้องถิ่นสามารถคุยตรงกับผู้บริหารโรงเรียนได้เลย ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน สามารถเขียนแผนการพัฒนาเสนอของบประมาณผ่านสภาท้องถิ่น พอสภาท้องถิ่นเห็นชอบ เป็นเทศบัญญัติก็ทำได้เลย ดังนั้นถ้าท้องถิ่นไหนมีความพร้อม เราทำตรงนี้ได้ ยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กได้ ก็จะลดปัญหาเรื่องการแข่งขันได้" จรรยารักษ์ อธิบาย

จรรยารักษ์ เล่าว่า เคยมีความพยายามอยากรับโอนโรงเรียนขนาดเล็กมาอยู่กับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนเป็นโรงเรียนอนุบาลต้นแบบ แต่ในหลักเกณฑ์การโอนย้ายก็ยังมีปัญหา

"เราเคยพยายามขอถ่ายโอนโรงเรียนอนุบาลสังกัด สพฐ.ที่เหลือเด็กแค่ 40 กว่าคน ให้มาสังกัดท้องถิ่น เพื่อสร้างโรงเรียนอนุบาลต้นแบบที่ท้องถิ่นดูแล ใช้งบประมาณท้องถิ่น ออกแบบตามความต้องการของชุมชน แต่ก็ไปติดหลักเกณฑ์ว่า การจะถ่ายโอนได้ ต้องมีครูย้ายมาด้วยเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนนี้มีครูแค่ 2 คน การจะผ่านเกณฑ์ได้ ครูก็ต้องย้ายมาด้วยกันทั้ง 2 คน แต่มีครูคนหนึ่งไม่กล้ามา เพราะกลัวงานเพิ่ม ก็เลยถ่ายโอนมาไม่ได้ ปัจจุบันโรงเรียนนี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิม"

ครูเก่ง ควรสอน เด็กเก่ง ??

ศึกษานิเทศก์ จรรยารักษ์ ทิ้งท้ายไว้ด้วยประเด็นชวนคิดถึงการจัดวางบทบาทของ "ครู" ในระบบการศึกษาไทย โดยตั้งคำถามว่า เป็นการใช้ความสามารถของครูไปอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เพราะเรามักจะเห็นว่า ครูเก่งๆ ก็มักจะไปสังกัดอยู่ในโรงเรียนชื่อดังซึ่งมีนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกด้วยการสอบมาอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว

"โดยส่วนตัวเห็นว่า ระบบการศึกษาที่ดี ควรมีแรงจูงใจและควรมีกลยุทธ์ส่งเสริมให้ครูเก่งๆได้พัฒนาเด็กในท้องถิ่นที่ขาดโอกาส ครูที่มีความสามารถสูงควรสอนเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา เพื่อให้ช่วยดูแลพัฒนาเด็กในประเทศให้อ่านออกเขียนได้คิดคำนวณเป็น โดยเสมอภาคกันตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่เราวางบทบาทให้ครูที่มีความสามารถสูง ไปอยู่ในโรงเรียนที่มีแต่เด็กที่เรียนเก่งอยู่แล้ว" ศึกษานิเทศก์ จรรยารักษ์ ทิ้งท้ายพร้อมความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง