ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"มอง" อนาคตอุตสาหกรรมไทย ในสายตา "เกรียงไกร เธียรนุกูล"

เศรษฐกิจ
20 พ.ค. 67
13:49
690
Logo Thai PBS
"มอง" อนาคตอุตสาหกรรมไทย ในสายตา "เกรียงไกร เธียรนุกูล"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลังจากอุตสาหกรรมโลกได้พัฒนาจากยุคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน มาสู่ระบบออโตเมชัน (Automation ) หรือ การใช้เทคโนโลยีให้ทำหน้าที่ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องมีคนช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง หรือช่วยเหลือให้น้อยที่สุด และยุคถัดไปคืออุตสาหกรรมการบริการผนวกกับแนวคิดเชิงนวัตกรรม

สิ่งที่ไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างท้าทายความสามารถของรัฐบาล ในการวางแผนกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมไทยในอนาคตจะขับเคลื่อนไปแบบไหน รายการ "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" พูดคุยกับ "เกรียงไกร เธียรนุกูล" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงมุมมองอนาคตไทยและประเทศรอบข้างนับจากนี้ รวมทั้ง ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้การผลิตและการส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง

"ถึงเวลาที่จะปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไทยใหม่ ซึ่งแต่เดิมไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ก่อนที่ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา เพิ่งผันตัวมาเป็นอุตสาหกรรม แต่ในตอนที่เป็นอุตสาหกรรมช่วงแรก ก็เป็นเพียงแค่การย้ายฐานการผลิตของต่างชาติที่มาใช้ประเทศไทยเท่านั้น ไทยไม่ได้เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมด้วยตัวเอง"

เกือบ 2 เดือน หลังคณะกรรมการ ส.อ.ท. มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมัยที่ 2 (ปี 2567 – 2569)

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ยังเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. สมัยที่ 1 ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันของนานาประเทศทั่วโลก แม้ประเทศไทยจะมีจุดแข็งที่มีพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ ของภูมิภาค

เริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจเกษตรกรรม มาสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ด้วยปัจจัยของประเทศไทยที่มีประชากรอยู่ในวัยทำงาน ค่าแรงไม่แพง ที่ดินไม่แพง และพื้นที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ทำให้ประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรป เลือกใช้ประเทศไทยเป็นฐานที่ตั้งการโรงงานอุตสาหกรรม

กับดักร้าย "OEM" ระบบอุตสาหกรรมของไทย

เหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในกับดัก "OEM" นานเกินไป ส่งผลให้ประชากรมีรายได้ปานกลาง เพราะเป็นได้เพียงผู้รับจ้างผลิตให้กับผู้จ้างผลิตในระบบอุตสาหกรรม แต่ไม่สามารถเป็นผู้ผลิตได้ นั่นก็เพราะการเปลี่ยนผ่านจากอาชีพเกษตรกรรมอย่างรวดเร็ว

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล่าย้อนให้ว่า ช่วงแรกๆ ไทยไม่มี "Supply Chain" (ผู้ผลิตที่อยู่ในกระบวนการทำให้เกิดสินค้าใดสินค้าหนึ่งขึ้นมา หรือบริการใดบริการหนึ่งขึ้นมา) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค (Demand) โดยอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ต่างชาติย้ายฐานการผลิตเข้ามาคือ รถยนต์ ยานยนต์ อะไหล่รถยนต์ มากที่สุดมาจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยการเข้ามาหา Supply Chain หรือ Supplier (ผู้ผลิตสินค้า และนำสินค้าไปจำหน่ายให้กับบริษัทต่างๆ)

แต่ในประเทศไทยไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานที่ต้องการ ญี่ปุ่นจึงได้ชวนบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่เคยใช้ในประเทศญี่ปุ่น ย้ายฐานการผลิตมาตั้งในประเทศไทย บางคนก็มาหา Partner (พันธมิตร) หรือหุ้นส่วนในประเทศไทย หลายปีผ่านไปจนไทยเราเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตได้

จะเห็นว่า หลายบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ เรามียักษ์ใหญ่ของคนไทยเอง แต่เราก็ไม่มีแบรนด์ของประเทศไทย เราเป็นได้แค่ผู้รับจ้างผลิตกินค่าแรงเท่านั้น

กลับมาสู่ปัจจุบัน ด้วยปัจจัยค่าแรงที่แพงขึ้น แรงงานไม่มีเนื่องด้วยเข้าสู่วัยสูงอายุ เด็กเกิดใหม่น้อย ขณะเด็กที่มีอยู่ก็ไม่อยากกลับเข้ามาทำในระบบอุตสาหกรรมเพราะเป็นงานหนัก ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ภายใต้ค่าแรงเท่ากัน "ส่งผล" หลายประเทศย้ายฐานการผลิตเข้าไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จากที่เคยล้าหลังประเทศไทยทะยานขึ้นมาเป็นคู่แข่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

46 กลุ่มอุตสาหกรรมของไทย "น่าห่วง"

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดูแลทั้งหมด 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ในปัจจุบันมีจำนวนหนึ่งที่สามารถยกระดับตัวเองได้เนื่องด้วยได้ปรับปรุงพัฒนา ด้วยการใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมที่ถึงแม้จะรับจ้างผลิตแต่ก็เป็นการรับจ้างผลิตที่มีมูลค่าสูง แต่จำนวนหนึ่งยังอยู่ที่เดิม ต้องดิ้นรนและประคับประคองการผลิตบนต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน เพราะหากเราเพิ่มมูลค่า บริษัทที่จ้างก็จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านทันที

"หลายบริษัทต้องพยายามบริหารกำไรที่เหลือน้อยนิด ท่ามกลางต้นทุนทุกอย่างที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นค่าพลังงาน อย่างกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลให้พลังงานไปไกล แรงงานเราตอนนี้เหลือน้อย และยังต้องปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น ทั้งยังเจอตัวที่เป็นแต้มต่อที่เรามีน้อย เช่น FTA (Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี)"

ประธาน ส.อ.ท.ยอมรับว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยแทบจะหยุดการเจรจา FTA (Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี) เพิ่งจะกลับมาเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีนี้ ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรม SME จึงน่าเป็นห่วง เนื่องด้วยมีความอ่อนแอ เปราะบาง และเข้าถึงแหล่งเงินได้น้อยและยากที่สุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงต้องเร่งหามาตรการที่จะช่วยยกระดับให้เร็วที่สุด

"จีน" คู่แข่งยักษ์ใหญ่ในสนามธุรกิจอุตสาหกรรม

…เมื่อถามว่า "ช่วงหลังที่ประเทศจีน ได้มีการส่งสินค้าเข้ามาแข่งด้วย เห็นว่าทางสภาอุตสาหกรรมได้ร้องเรียนไปทางรัฐบาล ซึ่งการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่างจีน หนักไหม ?"…

ประธาน ส.อ.ท. ยอมรับว่า "หนักมาก" จากประเทศที่ยากจนแทบจะไม่มีอะไรเลย สามารถผันตัวเองในช่วงเวลา 40 ปี ขึ้นมาเป็น "Factory of the world" (โรงงานของโลกที่สมบูรณ์แบบที่สุด) ให้ย้อนภาพกลับไป 20 กว่าปีที่แล้ว ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นชาวเอเชียที่มีการผลิตเก่งมากในวันนั้นญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 100 ล้านคน ปัจจุบันมี 130 ล้านคน แต่มีความแข็งแกร่ง มีวินัย จึงทำให้การผลิตที่เป็นระบบญี่ปุ่นดีที่สุดจนครองตลาดโลกเกือบทุกประเภทสินค้า แข่งขันกับสินค้าเมริกัน สินค้ายุโรปได้

หากเทียบกับ "จีน" ในปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่าญี่ปุ่นกว่า 10 เท่า มีกำลังการผลิตมากกว่าเทคโนโลยีมากกว่าเร็วกว่า ดังนั้นสินค้าที่ผลิตจากจีนจึงเป็นสินค้าที่ถูกที่สุด ดีที่สุด เพราะความได้เปรียบของการผลิตจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนถูกลง เมื่อต้นทุนถูกลงจะส่งผลให้กำไรต่อหน่วยเพิ่มขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ผลิตจำหน่ายให้คนในประเทศที่มีกว่าพันล้านคน ยังส่งขายไปต่างประเทศ กลายเป็นปัญหาของโลกที่ทำให้สหรัฐอเมริกา ยุโรป ต้องออกมาตรการนำเข้าสินค้าจากจีนด้วยการขึ้นภาษี

"เขาจะไปไหน เขาขายฝั่งอเมริกา ยุโรป ไม่ได้เขาก็วกกลับมาที่ตลาดที่ยังมีอนาคต และมีกำลังซื้อ ก็คือในเอเชีย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย สินค้าของจีนก็ไหลบ่ากลับมา ทุกประเทศในอาเซียนประสบปัญหาเหมือนกัน"

ผลกระทบถึง "SME" ภาคการผลิตประเทศไทยกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรม (จากทั้งหมด 46 กลุ่มอุตสาหกรรม) หลังได้รับเรื่องร้องเรียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เข้าไปตรวจสอบการนำเข้าจากกรมศุลกากร ปรากฏว่ามีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนใน 20 กลุ่มอุตสาหกรรมมากเป็นพิเศษ

ส่งผลให้ไลน์การผลิตต้องหยุดชะงัก และหลายแห่งต้องลดเวลาทำงาน สุดท้ายโรงงานต้องปิด ท้ายที่สุดคือการใช้วิธีการนำเข้าจากจีนและติดแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง ... หากเป็นการปิดแค่ชั่วคราวไม่น่าห่วง แต่กลัวว่าจะเป็นการปิดถาวร

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมค่อยๆ ปิดทีละรายสองราย การเลิกจ้างก็จะมากขึ้น ผลผลิตต่างๆ ก็จะลดลง กลายเป็นเสียดุลเพราะนำเข้ามา สิ่งเหล่านี้ ต้องเร่งแก้ไข ถ้าเรายังช้าอยู่ ปีนี้ผมคิดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกตีตลาดเข้ามาอาจจะถึง 30 กลุ่มแน่นอน จาก 20 กว่ากลุ่มในปีที่แล้ว

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่ามองอนาคตหากเราไม่เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เพียงจะได้รับผลกระทบทางด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่จะทำให้ประเทศไทยไม่เกิดการพัฒนา คิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแข่งขันกับนานาประเทศได้และท้ายที่สุดก็จะไม่มีอะไรที่เป็นของคนไทย ถามว่าทำไมจีนถึงมีการพัฒนา?

ประธาน ส.อ.ท. ยกตัวอย่างรถ EV เนื่องด้วยการส่งเสริมจากรัฐบาลสนับสนุนเพื่อผลิตให้คนในประเทศใช้ เพื่อทดสอบข้อผิดพลาดและมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมาเรื่อยๆ จนทำให้วันนี้จีนกลายเป็นผู้ส่งออกรถ EV อันดับ 1 ของโลก สวนทางกับประเทศไทย ที่จะกลายเป็นเพียงแค่ผู้บริโภคที่นำเข้าเพียงอย่างเดียว

นำเข้าสินค้ามากเกิน พัฒนาในประเทศลดลง

ยิ่งในปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์จากจีนก็ทำได้ง่าย เนื่องด้วยสินค้าไม่แพง สะดวก ส่งตรงถึงบ้าน ที่สำคัญคือ "กฎหมายไม่เก็บภาษีสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท" เรื่องนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ไปยื่นให้ภาครัฐช่วยพิจารณาปรับแก้กฎหมายระหว่างประเทศ

แต่ยังไม่สามารถทำได้เนื่องด้วยเป็นกติกามาตรฐาน จึงใช้เป็นภาษีสรรพสามิต ที่ทำให้ความได้เปรียบเสียเปรียบลดลง ในรูปแบบสินค้าที่ผ่านเข้าทางอากาศ แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวล เป็นสินค้าที่เข้าทางด่านท่าเรือต่าง ๆ ในแบบราคาถูก ขนส่งมาจำนวนมาก

"นโยบายของรัฐบาลจีนเพื่อส่งเสริมการส่งออก มีการชดเชยหรือสนับสนุน ขายเท่าไหร่ก็ได้ ส่งออกเท่าไหร่ รัฐบาลชดเชยให้ 15-25% แล้วแต่ชนิดสินค้า ถือเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้จีนเหนือกว่าประเทศอื่น ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยที่เจอกับปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามา แต่ทุกประเทศในโลกเจอปัญหาเดียวกัน บางประเทศจึงมีมาตรการ Anti-dumping (มาตรการโต้ตอบการทุ่มตลาด) ซึ่งของประเทศไทยใช้ Anti-dumping เป็นหลัก แต่ว่าวันนี้มันเป็นวิธีแบบโบราณ ใช้วิธีเดียวไม่ได้"

ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้คุยกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเริ่มใช้มาตรการ "Circumvention" (การหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD คือ การที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือ ผู้ประกอบสินค้า กระทำการด้วยวิธีต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องชำระอากร AD/CVD ที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนดขึ้น) ในเดือน มิ.ย.2567 เป็นเคสแรก ซึ่งจะมีอีกหลายมาตรการที่ประเทศไทยต้องใช้ให้ทันกับเกมส์โลกอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ปัญหาของสินค้าที่เข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย ด้วยการเหมาตู้ คอนเทนเนอร์เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น "สำแดงเท็จ" เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่ ชิ้นส่วนต่างๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน ถามว่าสินค้าเหล่านี้ไปหลุดวางขายในตลาดในได้อย่างไร

ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า กรมศุลกากรมีเครื่องเอ็กซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์ เพียง 3 เครื่อง ไม่เพียงพอกับจำนวนตู้สินค้าที่เข้ามาในแต่ละวัน ทำให้มีมาตรการผ่อนปรน สุ่มเอ็กซเรย์ 30% อีก 70% ที่ไม่ต้องตรวจจึงกลายเป็นจุดรั่ว ส่งไม้ต่อมายัง กระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่สุ่มตรวจมาตรฐานของสินค้า แต่เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่ กับจำนวนสินค้าจากด่านแรกทะลักเข้ามาจึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง

"นโยบายเศรษฐกิจ" ความหวังภายใต้รัฐบาลชุดใหม่

ถามว่า "รัฐบาลใหม่มาแล้ว ได้คุยหรือไม่ ถึงนโยบายเศรษฐกิจต้องอยู่ใต้การดูแลอย่างไร เอกชนรายใหญ่จะเห็นอะไรบ้าง"

ประธาน ส.อ.ท.ได้มีการยื่นข้อเสนอที่เรียกว่าเป็น Whitepaper ( เอกสารที่ไว้นำเสนอข้อมูล รายละเอียดต่างๆ จากเจ้าของโปรเจ็กหรือเจ้าของเทคโนโลยี) ให้กับรัฐบาล "3 เรื่อง 3 หัวข้อ 3 เป้าหมาย" แต่เป็น 8 ข้อย่อย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP ประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เฉลี่ยไม่ถึง 2% ถือว่าต่ำมาก

ในขณะที่ประเทศอื่น 5% 6% 7% สอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" อยากจะทำให้ GDP เติบโตจาก 2% ไป 5% ด้วยการหาสินค้า หรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันต่อสู้กับตลาดโลกในอนาคต

มีคนพูดบ่อยๆ ว่า สินค้าที่ประเทศไทยผลิตอยู่ เป็นสินค้าล้าสมัย เป็นสินค้าที่โลกไม่ต้องการแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า เป็นสินค้าที่รับจ้างผลิต ฉะนั้นเราจึงต้องผันตัวจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่เรียกว่า Next gen industries (อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ)

สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีวางนโยบายขับเคลื่อน 3 อุตสาหกรรม คือ

"S-Curve" (อุตสาหกรรมแห่งอนาคต) ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็น "First S-Curve" อุตสาหกรรมที่เป็นแชมป์อยู่ แต่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งประเทศไทยกำลังทำเรื่องการผลิตรถยนต์พลังงานสะอาดไฮโดรเจน ทำให้นักลงทุนผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีนเกือบทุกยี่ห้อ ย้ายฐานเข้ามาประเทศไทยเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบ ถือเป็นการพัฒนาความคิดของคนไทยในการพัฒนาระบบรถยนต์ที่ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น

ขณะที่อุตสาหกรรมเบอร์ 2 "สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์" ที่ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ และศูนย์กลางการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ด้วยเทคโนโลยีเก่า ทำให้หยุดชะงักด้วยเทคโนโลยีใหม่ ที่เป็น "Semiconductor"ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ชิป (Chip) และเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในหลายประเทศ) และ "PCB" (Print Circuit Board) คือ ส่วนประกอบพื้นฐานที่สำคัญของวงจรอิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมฯ จะดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยผันตัวไปสู่อุตสาหกรรมที่ไฮเทคขึ้น มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น "ผมคิดว่าตอนนี้เรามาในทิศทางที่ถูก กระทรวง อว. รัฐบาล มองไปในทิศทางเดียวกัน จะเห็นการจับมือร่วมกับสภาอุตสาหกรรม กำลังเขียนแผนอยู่"

ส่วน "new S-Curve" จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยมี เช่น หุ่นยนต์, ระบบออโตเมชัน ( Automation เครื่องควบคุมอัตโนมัติ), เมดิคัลฮับ ( Medical Hub ศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร), ระบบดิจิทัล และ ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology ) และอุตสาหกรรมทางการทหาร อุตสาหกรรมในการสร้างบุคลากร

"BCG" เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐ กิจไปพร้อมกัน คือ "เศรษฐกิจชีวภาพ Bioeconomy" มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน "Circular Economy" คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด

และเศรษฐกิจสีเขียว "Green Economy" การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่สภาอุตสาหกรรมให้ความสำคัญมาก ด้วยการจับกลุ่มเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมจากการปลูกพืช เป็นวัตถุดิบในกลุ่มอุตสาหกรรมยา สมุนไพรเครื่องสำอาง อาหารเสริม อาหารแห่งอนาคต

รวมไปถึงไบโอพลาสติก (Bioplastic พลาสติกชีวภาพ หรือพลาสติกย่อยสลายได้), ไบโอฟิว (Biofuel เชื้อเพลิงชีวภาพ), ไบโอเคมิคัล (BIOCHEMICAL ธุรกิจ ผลิตและจำหน่าย น้ำยาตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ทุกชนิดจำหน่าย อุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิด), ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งได้เริ่มนำร่องจับคู่กันใน 8 อุตสาหกรรม เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะมีความพร้อมทั้งงานวิจัย บุคลากร และการลงทุน

"Climate Change" การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนไปใช้กฎเกณฑ์ใหม่ เป็นลักษณะกีดกันการค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ หรือเรียกว่า การเก็บภาษีคาร์บอน

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า Climate Change Includes (CCI สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ด้วยการให้ความรู้ ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่จะส่งสินค้าไปยุโรป ที่ตอนนี้เริ่มมีการเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว  

จากนี้ก็จะทำแพลตฟอร์มซื้อขายเป็นศูนย์กลาง ที่เรียกว่า "FTIX" (แพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก หน่วยงานภาครัฐ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของประเทศใหม่ด้วยการผลักดันอุตสาหกรรม 3 กลุ่ม (S-Curve อุตสาหกรรมแห่งอนาคต, BCG, Climate Change) เพื่อไปสู่กรอบของ "ความยั่งยืน พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมสีเขียว การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์"

พบกับรายการ: "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง