หนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่มีสถานะเป็น พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองของเด็กสักคนหนึ่ง นั่นก็คือ ช่วงของการพาบุตรหลานของเรา "เข้าเรียน" ... นับตั้งแต่ หาที่เรียนในชั้นอนุบาล, หาที่เรียน ป.1, หาที่เรียน ม.1, บางคนอาจต้องหาที่เรียนใหม่เมื่อจบชั้น ม.3 หรือบางคนก็ต้องหาที่เรียนในมหาวิทยาลัย
ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ทุกการเปลี่ยนผ่านในทุกระดับชั้นเรียนในประเทศไทยเต็มไปด้วย "การแข่งขัน" เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ต่างก็ต้องการส่งให้เด็กในปกครองของตัวเอง ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีพอ ซึ่งในอีกมุมหนึ่ง อาจตีความได้ว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนที่ถูกให้ค่าว่าเป็นโรงเรียนที่ดีพอ ไม่มากพอสำหรับจำนวนนักเรียน ...
หรืออีกมุมหนึ่ง ก็อาจตีความไปได้อีกว่า โรงเรียนที่ดีพอในราคาที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ... จ่ายไหว ... ยิ่งมีน้อยลงไปอีก
ราคาที่ทั้งผู้ปกครองและเด็กทุกคนจะต้องจ่ายสำหรับสงครามแย่งชิงพื้นที่ทางการศึกษานี้ อาจเรียกได้ว่า "ค่า (เข้า) เรียน" ซึ่งไม่ได้มีความหมายแค่การจ่ายเงินเพื่อให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดี แต่ยังรวมไปถึงการต้องใช้ "เงิน" เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสที่มากกว่าด้วย
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกการศึกษาในรูปแบบนี้ว่า การศึกษาระบบเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นการแข่งขัน มองการศึกษาที่จัดโดยโรงเรียนเป็นเหมือนสินค้า และอาจเป็นระบบการศึกษาที่ใจร้ายกับผู้บริโภคเหลือเกิน
เราจะไล่ไปดูช่วงเปลี่ยนผ่านในแต่ละระดับชั้น
"ห้องเรียนพิเศษ" มัธยมศึกษาปีที่ 1
"เลือกสายวิทย์ หรือสายศิลป์ หรือไปสายอาชีพ หลังเรียนจบชั้น ม.3" นั่นคือภาพจำของช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เด็กวัย 14-15 ปี จะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อกำหนดเส้นทางเดินที่อาจส่งผลต่อโอกาสในการประกอบอาชีพของพวดเขาเองในอนาคต ... แต่ในปัจจุบัน นี่ไม่ใช่การเลือกครั้งแรกอีกแล้ว เพราะมีเด็กบางกลุ่ม มีสิทธิที่จะลองได้เลือกเส้นทางของตัวเองได้ก่อนหน้านั้นถึง 3 ปี
ห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์, ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์, ห้องเรียนพิเศษ English Program เป็นหลักสูตรใหม่ที่ทยอยเกิดขึ้นตามโรงเรียนมัธยมของรัฐขนาดใหญ่ หรืออาจจะเรียกได้ว่า "โรงเรียนชื่อดัง" ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดให้สอบเข้าตั้งแต่ชั้น ม.1 ไม่ใช่ ม.4
"นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการจัดการศึกษาภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่" ผศ.อรรถพล กล่าว
"หลักสูตรพิเศษ เดิมคือ หลักสูตร Gifted ซึ่งถูกคิดขึ้นมาบนฐานคิดทางวิชาการ แต่ในระยะหลังก็จะมีหลักสูตรพิเศษใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างที่เห็น แต่เป็นการคิดบนฐานการตลาด สร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มรายได้จากค่าใช้จ่ายในการเข้าเรียน โดยหลักสูตรเหล่านี้ เกิดขึ้นได้ภายใต้นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่โรงเรียนสามารถให้เหตุผลได้ว่า เป็นความต้องการของชุมชนของโรงเรียน" ผศ.อรรถพล อธิบายเพิ่มเติม
เพื่อให้คำอธิบายของ ผศ.อรรถพล มีภาพประกอบที่ชัดเจนขึ้น เราสามารถยกตัวอย่างการเปิดหลักสูตรพิเศษของโรงเรียนมัธยมชื่อดังหลายๆโรงเรียนซึ่งมีลักษณะร่วมกันมาวางให้เห็นตรงนี้
- เปิดห้องพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ โดยแบ่งมาจากโควตาเดิมของการรับนักเรียนนอกเขตพื้นที่ หรือ นักเรียนที่ต้องสอบเข้า
- โรงเรียนจะจัดสอบเข้าห้องพิเศษก่อนการสอบเข้าปกติที่จัดพร้อมกันทั่วประเทศ โดยนักเรียนที่มีสิทธิสอบห้องพิเศษในแต่ละสาขาวิชา จะต้องมีเกรดชั้น ป.4-ป.5 ในวิชานั้นที่สูงพอตามที่โรงเรียนกำหนด
- เมื่อมีห้องเรียนหลักสูตรพิเศษเพิ่มขึ้น ทำให้โรงเรียนเปิดรับนักเรียนใหม่ ที่จะสอบเข้ามาเรียนในห้องเรียนปกติได้น้อยลง (โรงเรียนดังเหลือโควตารับนักเรียนนอกเขตพื้นที่ ห้องเรียนปกติ อยู่ที่ประมาณ 100 กว่าคน หรือบางโรงเรียนเหลือโควตาไม่ถึง 100 คน ในขณะที่ห้องพิเศษมีจำนวนรวมๆ กันประมาณ 200-300 คน
- ถ้านักเรียนสามารถสอบเข้าห้องเรียนพิเศษได้ ผู้ปกครองจะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น โดยห้องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จะต้องจ่ายประมาณเทอมละ 10,000 บาท แต่ถ้าเป็นห้องเรียน English Program ซึ่งมีครูต่างชาติ จะต้องจ่ายประมาณเทอมละ 35,000 บาท หมายความว่า แม้จะสอบเข้าโรงเรียนมัธยมของรัฐได้ ผู้ปกครองก็จะต้องมีกำลังทรัพย์ด้วย จึงจะสามารถเข้าเรียนได้
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"โรงเรียนมัธยมชื่อดังของรัฐ กำลังค่อยๆ กลายเป็นโรงเรียนกึ่งเอกชน"
"เป็นวิธีคิดเดียวกับการซื้อประกันชีวิต คือ โดยพื้นฐานเราทุกคนอาจมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากรัฐเหมือนกัน แต่ถ้าสิทธินั้นมันยังไม่ได้รับประกันว่าคุณจะได้รับการรักษาที่ดีมากพอ คุณอยากได้บริการที่ดีกว่า คุณก็ต้องจ่ายเพิ่ม นี่เป็นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่นำมาใช้ในระบบการศึกษาด้วย ด้วยความเชื่อว่า การแข่งขันจะทำให้เกิดพัฒนาคุณภาพ จะทำให้โรงเรียนดีขึ้น"
"แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ยิ่งไปทำให้ช่องว่างระหว่างโรงเรียนดังกับโรงเรียนทั่วไปยิ่งห่างกันมากขึ้นไปด้วย และมันยังอาจไปตัดโอกาสของเด็กในกลุ่มที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อย เพราะโรงเรียนของรัฐ (Public School) เป็นพื้นที่ที่เคยรองรับเด็กกลุ่มนี้ได้ผ่านการรับตรงในพื้นที่และการสอบเข้า ปัจจุบันจำนวนรับถูกลดให้เหลือน้อยลงไป แต่ไปเพิ่มจำนวนห้องเรียนพิเศษที่มีราคาแพงและผู้ปกครองต้องร่วมจ่ายมากขึ้น นั่นก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา"
นอกจากประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏชัดขึ้น ผศ.อรรถพล ยังอธิบายเหตุผลที่โรงเรียนของรัฐต้องกลายเป็นโรงเรียนกึ่งเอกชนเมื่อหลักการตลาดแบบเสรีถูกนำมาใช้ในระบบการศึกษา ซึ่งทำให้โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว จำเป็นต้องรักษามาตรฐานความโด่งดังเอาไว้ให้ได้ต่อไป
ด้วยการออกแบบหลักสูตรหลากหลายรูปแบบเหมือนเป็นสินค้าใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้นักเรียนที่มีศักยภาพยิ่งมีความต้องการอยากเข้าเรียนให้ได้ แต่เดิมจำนวนนักเรียนมีผลต่อการได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากการคิดคำนวณงบประมาณอุดหนุนโรงเรียนจากเงินรายหัวตามจำนวนนักเรียนที่มี การเปิดหลักสูตรพิเศษเหล่านี้คือการเปิดช่องให้โรงเรียนหารายได้ของได้เองเงินรายได้ส่วนนี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างยืดหยุ่นกว่างบฯ จากส่วนกลาง ยิ่งมีรายได้เข้าโรงเรียนมาก ก็จะยิ่งการันตีการพัฒนาโรงเรียนได้มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งการจ้างครูเก่งๆ พัฒนาห้องเรียน พัฒนาพื้นที่ใช้สอยและสื่อการสอนต่างๆ ทั้งหมดนี้ ก็เป็นปัจจัยที่โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่มีความจำเป็นต้องสร้างหลักสูตรที่ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น
"ช่องว่างของโรงเรียนมัธยม ยังเห็นได้จากการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนครับ เราจะสังเกตเห็นกันได้ว่า โรงเรียนมัธยมของรัฐจำนวนมากต้องยอมเปลี่ยนชื่อโรงเรียนซึ่งเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมไป เพราะถ้าใช้ชื่อเดิม ก็ไม่มีนักเรียนมาสมัครเรียน แต่เมื่อเปลี่ยนไปเอาชื่อของโรงเรียนดังๆ มาวางไว้หน้าชื่อโรงเรียนเดิม ก็สามารถดึงดูดให้ผู้ปกครองยอมส่งลูกหลานมาสมัครเรียนมากขึ้น แม้เราจะพบว่า นอกจากการได้ชื่อมาใส่ด้านหน้า ก็แทบไม่มีความร่วมมือในการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนเหล่านี้เลยก็ตาม"
เด็กในเงา คำถามใหญ่ระบบการศึกษาไทย
"เด็กในเงา" คืออีกหนึ่งคำถามใหญ่ที่นักวิชาการศึกษาคนนี้ พยายามถามกลับไปยังระบบการศึกษาของไทย
"แม้แต่เด็กที่สอบเข้า ม.1 โรงเรียนดังได้ แต่ถ้าได้เข้าเรียนในห้องเรียนปกติ ปัจจุบันหลายโรงเรียนขยายจำนวนห้องเรียนพิเศษเพิ่มขึ้นรื่อยๆ โดยกำหนดจำนวนผู้เรียนต่อห้องอยู่ที่ 25-30 คน เอื้อต่อการที่ครูจะดูแลได้ทั่วถึง ขณะที่ห้องเรียนปกติมีเด็กอยู่ที่ 40 คน ยิ่งโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนเยอะ ก็จะเกิด "เด็กในเงา" คืออยู่ในห้องเรียนและโรงเรียน แต่ครูมองไม่เห็นหรือละเลยที่จะใส่ใจดูแล เราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับเด็กที่จ่ายค่าเรียนแพงกว่าหรือไม่ ทั้งที่พวกเขาอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน"
"ส่วนเด็กที่สอบเข้าโรงเรียนดังไม่ได้ ก็จะไปรวมตัวกันอยู่ในโรงเรียนที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่ม Tier 2 หรือ 3 เป็นพื้นที่รวมตัวกันของคนผิดหวัง ขาดแรงจูงใจ ได้รับงบประมาณไม่มาก หารายได้ได้ไม่มาก สิ่งแวดล้อมในชั้นเรียนและโรงเรียนก็แย่ตามไปด้วย ... ดังนั้นเราควรช่วยกันขบคิดเพื่อหาวิธีการยกระดับโรงเรียนกลุ่มนี้ขึ้นมาให้มีคุณภาพดีขึ้น ควบคู่ไปกับการลดภาวะความเครียดในเด็กกลุ่มที่ต้องแข่งขันเอาเป็นเอาตาย เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ เปลี่ยนจากการศึกษาที่เน้นการแข่งขันให้เป็นการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
จากประสบการณ์ในฐานะอาจารย์คณะครุศาสตร์ ซึ่งทำงานกับโรงเรียนระดับประถมศึกษามาอย่างยาวนาน ผศ.อรรถพล มองเห็นว่า รัฐควรเพิ่มงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปสนับสนุนเพื่อพัฒนาโรงเรียนมัธยมในกลุ่ม Tier 2 และ 3 ให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้มีการโอนย้ายโรงเรียนระดับประถมศึกษาไปสังกัดกับองค์การปกครองท้องถิ่นที่มีศักยภาพ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือเทศบาลต่างๆ ที่มีงบประมาณช่วยดูแลแทน ซึ่งนอกจากจะทำให้โรงเรียนมัธยมมีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มขึ้น
การโอนย้ายโรงเรียนประถมไปอยู่กับท้องถิ่น ยังอาจจะเป็นทางรอดของโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกปิดไปเป็นจำนวนมากเพราะมีนักเรียนน้อยเกินไป แต่การให้ท้องถิ่นดูแลก็จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่ต้องกลายเป็นภาระของรัฐ และยังสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชนอีกด้วย
โรงเรียนประถมและขยายโอกาสขนาดเล็กจำนวนมาก กลายเป็น Left Behind School หรือ โรงเรียนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง บางแห่งแม้จะมีคนในชุมชนเรียกร้องให้กลับมาเปิดก็อยู่ไม่ได้ ถูกยุบอีก เพราะไม่มีเด็กมากพอ ก็ไม่มีเงินอุดหนุนมากพอที่จะจ้างครูหรือนำไปใช้จ่ายในโรงเรียน เป็นปัญหาที่วนเวียนอยู่แบบนี้
"ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กอยู่รอด เด็กไม่ต้องไปเรียนไกลๆ พ่อแม่ก็ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ชุมชนก็จะไม่ล่มสลายเพราะผู้ปกครองต้องย้ายที่อยู่ไปใกล้โรงเรียนของลูกหลาน ... ซึ่งจะเป็นไปได้ถ้าเราถ่ายโอนภารกิจนี้ไปให้ท้องถิ่นดูแล เราจะได้โรงเรียนที่เข้าใจชุมชน หรือถ้าไม่จำเป็นต้องมีโรงเรียนก็สามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทนที่จะปล่อยทิ้งร้าง และเรายังมีงบประมาณเหลือมาพัฒนาโรงเรียนมัธยมที่ไม่ใช่โรงเรียนดัง ... ถ้าเราทำได้ เด็กๆ ของเราก็จะมีโรงเรียนที่ดีเป็นทางเลือกสำหรับการเรียนต่อระดับมัธยมมากขึ้น" ผศ.อรรถพล อธิบายข้อเสนอของเขา
โรงเรียน ป.1 ที่ดี ในราคาแค่หมื่นกว่าบาท
การแข่งขันเพื่อให้ได้ "เข้าเรียน" ของเด็กไทย ยังมีราคาอื่นที่ต้องจ่ายเกิดขึ้นตั้งแต่ชั้นอนุบาล ... นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ ผศ.อรรถพล เรียกมันว่า "ระบบการศึกษาที่ไม่มีหัวใจ ไม่มองใครเป็นมนุษย์" เพราะการที่เด็กอนุบาลต้องถูกส่งไปเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้า ป.1 ในโรงเรียนสาธิต มันเกิดขึ้นเพราะเราไม่มีโรงเรียนประถมที่ดีพอมารองรับเด็ก
"ผู้ปกครองจำนวนมาก ต้องยอมให้ลูกอายุ 4-6 ขวบ ใช้เวลาไปกับการเรียนพิเศษแทนที่จะไปอยู่ในสนามเด็กเล่น ก็เพราะถูกบีบให้มีทางเลือกไม่มากนัก นั่นคือ ต้องสอบเข้าชั้น ป.1 ในโรงเรียนสาธิตให้ได้ เพราะเป็นโรงเรียนที่ดีในราคาแค่เทอมละหมื่นกว่าบาท เราจึงเป็นประเทศที่ปล่อยให้เด็กเล็กๆ ไปเผชิญสนามสอบที่มีอัตราแข่งขันมากกว่า 1 ต่อ 10 เพราะหากเด็กสอบไม่ได้ จะต้องไปเรียนในโรงเรียนเอกชนที่มีค่าเทอมแพงกว่ากันมาก หรือหากจะเรียนในโรงเรียนของรัฐที่อาจจะได้เรียนฟรี ก็มักเป็นโรงเรียนที่ถูกมองว่า ไม่สามารถช่วยให้เด็กมีศักยภาพไปแข่งขันต่อได้ในการสอบเข้า ม.1"
ทุกครอบครัวที่มีฐานะปานกลางต่างก็รู้กันดีว่า การพาลูก "เข้าเรียน" ในแต่ละระดับชั้น ไม่ต่างจากการทำศึกสงครามที่มีเดิมพันใหญ่หลวง ซึ่ง "นักรบ" ที่ต้องลงไปห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายในสงครามนี้ ก็คือ ลูกหลานของเรา ที่ต้องเข้าสู่สนามรบตั้งแต่มีอายุเพียง 4-5 ปี และแม้จะผ่านสนามรบครั้งที่ 1 ไปได้ ก็ต้องรบในสนามต่อๆ ไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ตั้งแต่ "อนุบาล" เด็กไทยต้องเรียนพิเศษเพื่อแย่งชิงเข้า ป.1
เด็ก ป.5-ป.6 ต้องเรียนพิเศษอย่างหนักเพื่อชิงที่นั่งในโรงเรียนมัธยมชื่อดังซึ่งมีที่สำหรับคนทั่วไปน้อยลงทุกที เพราะมีห้องเรียนพิเศษ ที่ต้องมีทั้งความสามารถและต้องมีกำลังทรัพย์ด้วยจึงจะเรียนได้ มาแบ่งที่นั่งส่วนใหญ่ออกไป
ระบบการศึกษา ถูกออกแบบให้เด็กต้องแข่งขันอย่างหนัก ไปจนถึงการแย่งชิงกันเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ในคณะที่ต้องการ
กว่าจะเปลี่ยนผ่าน "ทุกชั้นเรียน" ล้วนมี "ต้นทุนสูง" ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ต้องมี "ค่าเล่าเรียน" แต่ต้องมี "ค่าเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันเพื่อให้ได้เข้าเรียน" บวกอยู่ในต้นทุน ที่สร้างความเหลื่อมล้ำไว้อย่างชัดเจนด้วย
ชัดเจนว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีต้นทุนทางสังคมดีกว่า มีรายได้สูงกว่า ก็จะได้รับโอกาสมากกว่า
ถ้าเด็กเรียนดีมากๆ แต่ยากจน อาจยังพอมีหนทางให้เขาได้เดิน แต่ถ้าเด็กยากจนคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีผลการเรียนที่ดีนัก ระบบการศึกษาไทย เอาเด็กเหล่านี้ไปทิ้งไว้ที่ไหน ?
"ถึงเราจะมองด้วยเลนส์ของเสรีนิยมใหม่ เราก็ยังจะพบว่า ระบบการศึกษาไทย ใจร้ายกับผู้บริโภคมากครับ เพราะเรามีต้นทุนที่ต้องเสียไปในระหว่างทางสูงมาก มีเด็กจำนวนมากถูกทิ้งให้ต้องหลุดออกไปจากระบบของเรา ในขณะที่ผลตอบแทนเมื่อเด็กๆ ของเราเรียนจบมหาวิทยาลัย คือการเริ่มทำงานด้วยเงินเดือนหมื่นกว่าบาท ซึ่งสำหรับบางคน ยังมีหนี้สินที่ต้องชดใช้จากการกู้ยืมมาระหว่างทางเพื่อให้มีเงินสำหรับแลกสิทธิการเข้าเรียนด้วย"
"เด็กบางคนที่เรียนไม่เก่งหรือพูดให้ถูก คือ เขาอาจไม่ถนัดด้านวิชาการตามหลักสูตรพื้นฐาน บางคนก็จะถูกตีตราว่าเป็นเด็กเกเร ยิ่งถ้าไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์มากพอ โรงเรียนก็แค่ผลักพวกเขาออกไป ด้วยระบบแพ้คัดออก"
"ส่วนเด็กที่ครอบครัวพร้อม เรียนเก่ง ลงสนามแข่งและเป็นผู้ชนะมาตลอด เราก็พบว่าจำนวนมากหาตัวเองไม่เจอ กลายเป็นเด็กหลงทางจนถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย และมีจำนวนไม่น้อยเลยที่อยู่ในภาวะเครียดจนกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าในที่สุด"
เด็กไทยอยู่ในการศึกษาภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ เป็นระบบการศึกษาที่เราพร่ำบอกกันว่า เราจะให้เด็กเป็นศูนย์กลาง แต่แท้จริงแล้ว เราตอบคำถามได้หรือไม่ว่า เราออกแบบระบบการศึกษาเช่นนี้มาเพื่อใคร เพื่อเด็ก เพื่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อสังคมไทย ... หรือ มันเป็นแค่การทำธุรกิจไปแล้ว" ผศ.อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย
รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา