วันนี้ (17 พ.ค.2567) การจัดงาน รำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535 ณ อนุสรณ์สถาน พฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนินมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมวางพวงมาลารำลึกวีรชน นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 , ญาติผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับผลกระทบ , ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม
รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา , นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ร่วมวางพวงมาลารำลึก พร้อมทั้ง ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ตัวแทนจากพรรคการเมือง อาทิ นางศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย , นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย , นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล พรรคก้าวไกล , น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคก้าวไกล เข้าร่วมงาน

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า เจตนาที่สร้างอนุสาวรีย์ เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจทุกฝ่าย มีความอดทน สันติ ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน คือ สิ่งที่คณะกรรมการญาติวีรชน เรียกร้องมาตลอด ทั้งนี้ รัฐบาลที่ผ่านมา เป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ญาติวีรชนจึงไม่ยอมรับค่าชดเชย แต่เมื่อได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ญาติวีรชนพร้อมรับการชดใช้ ไม่ใช่การเยียวยา พร้อมย้ำถึงภารกิจหลักของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 คือ การต่อต้านรัฐประหาร ไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ขณะที่ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าว ย้อนถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มีการเผาเลือดบริเวณถนนราชดำเนินก็สรรหามติร่วมกันว่าจากนี้ไปประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้น แต่กลับมีการชุมนุมใหญ่จนมีผู้เสียเลือดเสียเนื้อเกิดขึ้นอีก สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 32 ปีที่แล้ว ก็เพราะประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ที่ร่างขึ้นมาและประกาศใช้ก็มีการสืบทอดอำนาจ
หากรัฐธรรมนูญปี 2534 มีความเป็นประชาธิปไตยก็คงต้องมีการเรียกร้องจนเกิดการนองเลือด เหมือนว่าเรายังไม่ได้ไปไกล ยังกลับมามีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญที่มาจากการร่าง จากคณะรัฐประหารที่มีชื่อเกือบจะเหมือนกัน และใช้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคนเดียวกัน ในนามของผู้สูญเสียทุกคนเรามาช่วยกัน นำบ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และขอให้ตระหนักว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นธรรมกับทุกคนโดยที่ไม่ต้องมีการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเกิดการต่อต้านรัฐประหาร เกิดการสูญเสียขึ้นอีก

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า วันนี้เมื่อ 32 ปีที่แล้ว เป็นวันที่มีการพรากความรักความฝัน ความเชื่อมั่นความสุขในชีวิตของเรา พรากชีวิต ครอบครัวของผู้เป็นที่รักอิสรเสรีภาพอย่างไม่มีวันหวนคืน แม้ตนจะไม่มีความสัมพันธ์เป็นญาติพี่น้องกันแต่จากเหตุการณ์และการเสียสละที่เกิดขึ้นได้มีคุณูปการต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยอย่างปฏิเสธไม่ได้และยังเป็นเครื่องเตือนสติว่าประชาธิปไตยยังต้องต่อสู้เพื่อก้าวต่อไป ตามเจตนารมณ์ของวีรชนของพวกเรา
ประธานรัฐสภา กล่าวอีกว่า จากประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าวันนั้น ได้ส่งต่อให้สังคมไทยมีการพัฒนาเติบโตขึ้นมาตั้งแต่การพยายามปฏิรูปการเมืองจนเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในความทรงจำ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง รับรองสิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับเสรีประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นแม่แบบการมีส่วนร่วมของประชาชนเนื้อหาที่สะท้อนการยอมรับประชาชนหรือแท้จริง ซึ่งจะได้มีความพยายามในการมีรัฐธรรมนูญเช่นนี้อีกในอนาคตที่จะสามารถทำได้ร่วมกัน

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ผลจากเหตุการณ์เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่เพียงแต่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ยังสามารถทำให้มีกฎหมายจำนวนมากที่ตอบสนองประชาชนทุกกลุ่ม ไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ และศาสนา รวมถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม
ตนขอขอบคุณและแสดงความเสียใจกับญาติวีรชนที่ได้เสียบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ถือว่าบุคคลเหล่านั้นได้ทำเพื่อบ้านเมืองและประชาธิปไตยอย่างน่าภูมิใจและน่าจดจำแห่งหัวใจตลอดไป จากนี้ สังคมจะต้องเดินต่อไปอย่างสันติภาพ แม้จะมีความขัดแย้งแต่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงและการแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย ไม่ทำให้การเสียชีวิตสูญเปล่า เพื่อดำรงเจตนาญาติวีรชนให้ดำเนินต่อไป

ด้าน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่บิดาเป็นทหาร และได้ลาออกราชการหลังเหตุการณ์ เนื่องจากมีความรู้สึกผิดจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตนขอเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล ขอคารวะวีรชนทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตอยู่ ขอคารวะต่อความอัดอั้นตันใจ และหวังว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการจัดงานรำลึกทุกปีและได้รับคำขอโทษจากรัฐบาล ขอโทษจากรัฐบาลทุกครั้ง
นางศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวสดุดีวีรชนและระบุว่าประเทศไทย จะมาถึงวันนี้ไม่ได้ ถ้าเมื่อปี 2535 พี่น้องวีรชนไม่ต่อสู้เพื่อให้ได้มา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 พร้อมยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย แล้วหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตย กล่าวว่าหลายคนที่เคยต่อสู้ไม่เคยเปลี่ยนเส้นทางยังคงยืนหยัดต่อสู้ต่อไป ซึ่งล่าสุดได้พบกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะนี้นั่งรถเข็น

อย่างไรก็ตามส่วนตัว ขอปวารณาตัวถ้าประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไปและออกแบบเครื่องมือให้เหมาะสมไม่ต้องการเห็นความรุนแรงและรัฐประหาร การต่อสู้ทุกครั้งไม่เคยเรียกร้องทหารให้ออกมารัฐประหารแต่กลับฉวยโอกาสออกมา จึงอยากเรียกร้องทุกคน ทุกพรรคการเมือง ให้ทำหน้าที่อย่างที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน ที่ให้สัญญากับพี่น้องวีรชน ให้ได้รัฐธรรมนูญที่ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ อย่างแท้จริง
อ่านข่าว :
ป.ป.ช.กางไทม์ไลน์ "อิทธิพล" คดีออกใบอนุญาตขาดอายุความ
"พิชิต" ตั้ง กก.สอบกรณี "เด็กเชื่อมจิต" ลั่น "สำนักพุทธฯ" ต้องกล้าชี้ถูกชี้ผิด