มหากาพย์โครงการผันน้ำ "โขง-เลย-ชี-มูล" กว่า 2 ทศวรรษ

ภูมิภาค
19 พ.ค. 67
08:30
5,977
Logo Thai PBS
มหากาพย์โครงการผันน้ำ "โขง-เลย-ชี-มูล" กว่า 2 ทศวรรษ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พื้นที่การเกษตรในภาคอีสานซึ่งมีมากกว่า 63 ล้านไร่ แต่พื้นที่การเกษตรชลประทานกลับมีเพียง 8.69 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 13.61 ของพื้นที่การเกษตรทั้งภูมิภาค การทำเกษตรส่วนใหญ่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

รายได้โดยเฉลี่ยของเกษตรกรในภาคอีสานอยู่ที่ 87,486 ต่อครัวเรือนต่อปี นี่จึงเป็นที่มาของผลักดันโครงการมหากาพย์ “ผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ของมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ที่ได้เสนอต่อรัฐบาลในการผันน้ำโขงด้วยแรงโน้มถ่วง เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

ปี 2548 มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต เสนอแนวความคิดการผันน้ำโขงลงน้ำพอง ที่เขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อให้เป็นธนาคารน้ำ ก่อนจะกระจายไปยังอ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำทั้ง 6 สายกระจายทั่วภาคอีสาน ซึ่งจะทำให้เพิ่มพื้นที่เกษตรชลประทานได้อีกกว่า 31 ล้านไร่

 “สมคิด สิงสง” ประธานมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต เล่าถึงที่มาของการผลักดันโครงการผัน-น้ำโขง-เลย-ชี-มูล ว่า คณะกรรมการมูลนิธิน้ำฯ ได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในเชิงนโยบายผ่านกรมชลประทานตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้โครงการ “ผันโขงลงพอง” ด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำโขงในจุดที่สูงสุด บริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ผ่านแนวอุโมงค์และคลองส่งน้ำ แล้วมาลงที่ “เขื่อนอุบลรัตน์” จ.ขอนแก่น เพื่อให้เป็นธนาคารน้ำแห่งอีสาน 

“มูลนิธิน้ำฯ ยืนอยู่ข้างประชาชนที่จะได้รับประโยชน์ เราไม่ปรารถนาจะให้ใครเสียประโยชน์ นั่นคือจุดยืน และมุมมองของคณะกรรมการ ทำอย่างไรเราจะแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ นั่นคืออุดมการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบัน สถานการณ์แม่น้ำโขงมันไม่ได้คงที่ มันเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก เมื่อหันกลับไปมองเมื่อ 20 ปีที่แล้ว บางเรื่องอาจจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องปริมาณน้ำในระบบแม่น้ำโขง เมื่อบริบทและสภาพนิเวศที่เปลี่ยนแปลง”

นายสมคิด ยังระบุอีกว่า ในทางปฏิบัติ ผู้ที่จะตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ ก็คงเป็นรัฐบาล ส่วนกระบวนการที่จะทำให้มันเกิด และได้มากกว่าเสีย ก็คงเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งสำคัญ กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสีย จะต้องมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่ถูกกระทำ และมูลนิธิน้ำฯ ต้องยืนอยู่ข้างชาวบ้านที่จะได้รับผลประโยชน์จริงๆ

ฉวี วงศ์ประสิทธิพร อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สทนช. เปิดเผยถึงโครงสร้างตามหลักวิศวกรรมโครงการผันน้ำโชงเลยชีมูล ซึ่งจะเริ่มจากปากแม่น้ำเลย ไปสิ้นสุดที่ จ.อุบลราชธานี ระยะทางกว่า 850 กม. โครงการนี้เป็นการเอาน้ำโขงเข้ามาโดยที่ไม่ต้องสูบ เพราะความสูงของปากแม่น้ำเลยอยู่ที่ 210 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อผันน้ำไปตามแรงโน้มถ่วงไปลงที่เขื่อนอุบลรัตน์ ความสูงอยู่ที่ 182 ม.รทก.ส่วนเขื่อนปากมูลความสูงอยู่ที่ 108 ม.

ในช่วงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำโขงจะไหลย้อนหรือเท้อเข้ามาในแม่น้ำเลยราว 15 กิโลเมตร แต่หากเป็นฤดูแล้ง จะไหลย้อนเข้ามาประมาณ 2 กิโลเมตร ดังนั้นจึงมีแผนจะทำคลองชักน้ำโขงเข้ามาบริเวณปากแม่น้ำเลย ระยะทางประมาณ 900 เมตร จากนั้นก็จะผันน้ำด้วยระบบท่อ ตั้งแต่ อ.เชียงคาน จ.เลย ผ่านหนองบัวลำภู อุดรธานี และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ระยะทางของเฟสแรกจะมีการเจาะอุโมงค์ยาว 60 กว่ากิโลเมตร

เมื่อถามถึงด้านวิศวกรรม น้ำโขงสามารถไหลมาตามแรงโน้มถ่วงได้ไหม ตรงนี้ทาง สนทช.ได้ใช้แบบจำลองโมเดล 3 มิติ ด้วยการต่อท่อส่งน้ำยาว 1 กิโลเมตร วัดอัตราการไหลตั้งแต่ต้นอุโมงค์ไปยังท้ายอุโมงค์ พบว่าอัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 120-150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามแบบวิศวกรรมที่ออกแบบไว้ หากจะทำคลองส่งน้ำเต็มศักยภาพ จะต้องสร้างถึง 16 อุโมงค์ ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานได้มากถึง 31 ล้านไร่ จากเดิมที่มีพื้นที่ในเขตชลประทาน 30 กว่าล้านไร่ แต่เมื่อมันเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงได้ศึกษาความเหมาะสมไปทีละอุโมงค์ (1 อุโมงค์จะมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านไร่) 

ระบบผันน้ำ เริ่มต้นด้วยการขุดปรับปรุงแม่น้ำเลย ความยาวประมาณ 900 เมตร ความลึกของน้ำสูงสุดประมาณ 20 เมตร เพื่อรองรับปริมาณการไหลน้ำ จากนั้นก็จะขุดคลองชักน้ำและบ่อดักตะกอน ความยาว 995 เมตร โดยบ่อดักตะกอนกว้าง 440 เมตร

เมื่อถึงปากทางเข้าอุโมงค์ผันน้ำ จะมีอาคารรับน้ำพร้อมบานประตูเปิด-ปิดเพื่อควบคุมน้ำที่จะเข้าอุโมงค์ เฟสแรกจะทำอุโมงค์ 1 แถว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร ความยาวของอุโมงค์ 64.581 กิโลเมตร เมื่อถึงจุดสิ้นสุดปลายอุโมงค์ที่บ้านดงมะไฟ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู จากนั้นจะเป็นคลองลำเลียงน้ำ ความยาว 16.7 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการผันน้ำโขงอีสาน ความยาวรวม 83.4 กิโลเมตร 

ส่วนระบบผันน้ำไปพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล จะต้องก่อสร้างระบบผันน้ำโขงอีสาน แล้วต่อด้วยคลองลำเลียงน้ำอีก 4 ช่วง ความยาวรวม 59.3 กิโลเมตร อุโมงค์ทางน้ำเปิดอีก 3 ช่วง ความยาวรวม 48.5 กิโลเมตร รวมระยะทางระบบผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล 174.5 กิโลเมตร ก่อนที่ธนาคารน้ำจะเชื่อมต่อกับคลองส่งน้ำสายหลัก 6 สายวางตัวอยู่บนที่สูงไปตามที่ลาดเชิงเขา ความยาวรวมทั้งสิ้น 2,212 กิโลเมตร ทำหน้าที่กระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทาน 33.57 ล้านไร่ แยกเป็นระบบส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วง 21.61 ล้านไร่ ระบบสูบน้ำ 11.96 ล้านไร่ ครอบคลุม 20 จังหวัดภาคอีสาน

สำหรับโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เฟสแรก (ระบบส่งน้ำ) จากปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่เกษตรชลประทาน 1.73 ล้านไร่ คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 1.4 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทบทวนการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่ปรึกษา หลังจากที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก.ยังไม่เห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริเวณหัวงาน เนื่องจากยังพบว่า มีหลากหลายประเด็นที่ยังไม่ครอบคลุม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ประมงพื้นบ้าน และความหลากหลายของพันธุ์ปลา

Timeline โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล

  • ปี 2548 ปี มูลนิธิน้ำ เสนอแนวคิดการผันน้ำโขงด้วยแรงโน้มถ่วง
  • ปี 2550 กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น (SS)
  • ปี 2552-2555 กรมชลประทาน โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ด้วยแรงโน้มถ่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ปี 2560 กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสม รูปแบบการพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลย-ชี-มูล เพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ
  • ปี 2563 สทนช.ศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เฉพาะหัวงานแนวผันน้ำจากบริเวณหัวงาน (ปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์) ระยะทาง 174 กิโลเมตร
  • ปี 2564 กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากโครงการ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง (ปี 2564-2565)
  • ปี 2565 กรมชลประทาน ศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)
  • ปี 2566 กรรมการสิทธิมนุษยชน ส่งรายงานความเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกรมชลประทาน และ สทนช.เพื่อให้ชะลอโครงการ และทบทวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบระยะเวลา 180 วัน (ต.ค.66-มี.ค.67)
  • ปี 2567
  • มี.ค.67 พบปะหารือหัวหน้าส่วนราชการ-ผู้นำชุมชน /ประชุมปฐมนิเทศโครงการ
  • ส.ค.67 ประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1
  • ต.ค.67 กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ครั้งที่ 1
  • ก.พ.68 ประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2
  • มิ.ย.68 ประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ/กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ครั้งที่ 2

กระบวนการนับจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวจะลงพื้นที่ชี้แจงและเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และทบทวนรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอต่อ คชก. เมื่อ คชก.เห็นชอบรับรองรายงาน EIA ขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล) จะต้องพิจารณา และเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รับทราบ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จากนั้นจะต้องส่งความเห็นเพื่อแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อให้รับทราบ สุดท้ายจึงจะเป็นขั้นตอนของกระบวนการออกแบบระบบส่งน้ำ การเวนคืน ชดเชย เยียวยาผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเบื้องต้นมีประชาชนที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบกว่า 1,000 คน 303 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น) 

ติดตามมหากาพย์โครงการผันน้ำ "โขง-เลย-ชี-มูล" ได้ในรายการ จับตารอบทิศ เริ่ม 21-25 พ.ค.67 เวลา 12.30 น. ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 หรือ ช่องทางออนไลน์ 

ดูย้อนหลัง มหากาพย์ผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล กว่า 2 ทศวรรษ

ตอนที่ 1 : จุดเริ่มต้นของการผลักดันโครงการผันน้ำโขง
ตอนที่ 2 : “ผันน้ำโขง-ลงน้ำพอง” ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตอนที่ 3 : เจาะภูเขาทำอุโมงค์ กระทบรอยเลื่อนธรณีวิทยาและสัตว์ป่า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง