วันเปิดรับสมัคร รับเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. ขยับใกล้เข้ามาทุกที โดยวันแรกจะเริ่มต้นวันที่ 20 ไปจนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือก ระดับอำเภอกำหนด แต่หลายคนยังคงมีข้อสงสัยคำอธิบายเกี่ยวกับกลุ่มอาชีพผู้สมัคร รับเลือก สว. ซึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ตอบข้อคำถาม ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
เกี่ยวกับกลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 11 (14) กลุ่มสตรี และ (15) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ดังนี้
1. กลุ่มอาชีพที่ 14 "กลุ่มสตรี" มีความหมายอย่างไรและรวมถึงบุคคลใดบ้าง นับรวมบุคคลที่มีเพศชายที่เชี่ยวชาญในเรื่องสิทธิสตรีและหญิงข้ามเพศด้วยหรือไม่ หรือนับเฉพาะบุคคลที่มีเพศกำเนิดเท่านั้น
คำตอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (14) "กลุ่มสตรี" หมายความเฉพาะบุคคลที่มีเพศเป็นหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น
อ่านข่าว : 3 อำนาจ 200 สว.ชุดใหม่ ในวาระ 5 ปี
2. กลุ่มอาชีพที่ 15 จะมีกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์ความเป็น "กลุ่มอัตลักษณ์" และ "ชาติพันธุ์" อย่างไร
คำตอบ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีหนังสือไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอข้อมูลในการจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความหมายของ "กลุ่มอัตลักษณ์" และ "ชาติพันธุ์" ดังนี้
"อัตลักษณ์ทางเพศ" หมายถึง การกำหนดเพศสภาพตามความรู้สึกภายในของบุคคลในการเป็นชาย หญิง หรือเพศสภาพที่ไม่ได้อยู่ในระบบทวิเพศ หรือการมีหรือไม่มีเพศสภาพหรือเพศสภาพอื่น ๆ โดยอาจไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะทางเพศก็ได้
"ชาติพันธุ์" หมายถึง เป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างในด้านต่าง ๆ จากคนส่วนใหญ่ เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดจากบรรพบุรุษเดียวกัน (สายเลือด) มีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณเหมือนกัน (เชื้อชาติ)
มีพันธะเกี่ยวข้องสืบเนื่องกันมายาวนาน แสดงเอกลักษณ์ออกมาโดยการผูกพันลักษณะของสัญชาติ และเชื้อชาติเข้าด้วยกัน มีวัฒนธรรมประเพณีและภาษาพูดเดียวกัน รวมตัวกันเป็นพหุวัฒนธรรมมุ่งมั่นในการอนุรักษ์พัฒนาสืบทอดบนพื้นฐานดินแดนและอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษของตน โดยจำแนกพื้นที่จากลักษณะการตั้งถิ่นฐาน ได้ 4 ลักษณะ ได้แก่
1. กลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง หรือ ชนชาวเขา จำนวน 13 กลุ่ม ได้แก่
- กะเหรี่ยง
- ม้ง (แม้ว)
- เย้า (เมี้ยน)
- ลีซซู (ลีซอ)
- ลาหู่
- มูเชอ
- อาข่า (อีก้อ)
- ลั่วะ
- ถิ่น
- ขนุ
- จีนฮ่อ
- คะอิ่น
- ปะหล่อง (ดาลาอั้ง)
อ่านข่าว : ยอดรับใบสมัคร สว. 6 วัน รวม 17,664 คน กทม.มากสุด 2,293 คน
2. กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบ จำนวน 37 กลุ่ม ได้แก่
- มอญ
- ไทลื้อ
- ไททรงดำ
- ไทใหญ่
- ไทเขิน
- ไทยอง
- ไทหญ่า
- ไทยวน
- ภูไท
- ลาวครั่ง
- ลาวแง้ว
- ลาวกา
- ลาวตี้
- ลาวเวียง
- แสก
- เขมร
- เซเร
- ปรังบรู (โซ่)
- โซ่ง โช (ทะวิง)
- อืมปี
- ก๋อง
- กุลา
- ชอุโอจ (ซุอุ้ง)
- กูย (ส่วย)
- ญัฮกรู (ซาวบน)
- ฌ้อ
- โย้ย
- เขมรถิ่นไทย
- เวียดนาม (ญวน)
- เญอหมี่ ซอ (บีซู)
- ชอง
- กระชอง
- มลายู
- กะเลิง
- ลาวโซ่ง (ไทดำ)
อ่านข่าว : กางปฏิทิน "เลือก สว." ชุดใหม่ เช็ก "วิธี-เอกสาร" สมัครรับเลือก มีอะไรบ้าง
3. กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในทะเล หรือ ชาวเล จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่
- มอแกน
- มอแกลน
- อูรักละโว้ย
4. กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่า จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่
- มลาบรี่ (ตองเหลือง)
- มานิ (ซาไก)
ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
อ่านข่าว : ตะลึง! เด็กชาย 14 ปีคู่กรณี "หมอเหรียญทอง" รับเสพเฮโรอีน