วันนี้ (15 พ.ค.2567) เพจประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยภาพหาดูยากฝูงควายป่า หรือมหิงสา ฝูงสุดท้ายที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของไทย ที่จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์
ข้อมูลระบุว่า โครงการสำรวจประชากรและชนิดพืชอาหารควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เป็นโครงการที่ดำเนินการโดย กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ที่ความร่วมมือปฏิบัติการกับ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย
ภาพเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ติดกล้องศึกษาประชากรก่อนสูญพันธุ์
เป้าหมาย เพื่อต้องการรู้ถึงจำนวนควายป่า ที่มีการกระจายอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ด้วยการใช้กล้องดักถ่ายติดตั้งชายป่าลำห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยหลักของควายป่า สำหรับพืชอาหารของควายป่าจะใช้การวางแปลงสำรวจและเก็บข้อมูลด้วย twig count method
ในระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นการออกปฏิบัติการครั้งแรกของทีมสำรวจ ซึ่งครั้งนี้เป็นการเข้าพื้นที่เพื่อการติดตั้งกล้องดักถ่ายให้ครบทุกจุดที่ได้กำหนดไว้
ในการติดตั้งกล้องบริเวณ 2 ฝั่งลำห้วยขาแข้งในครั้งนี้ นอกจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุแล้ว ยังได้พบเห็นว่า ลำห้วยขาแข้งนั้นมีน้ำขังเป็นบางช่วงบางตอน พื้นผิวลำห้วยแตกระแหง แต่แท้จริงแล้วด้านล่างเป็นโคลน
นอกเหนือจากการเหยียบย่ำลำห้วยในหน้าแล้งแล้ว ทริปนี้มีความพิเศษสุดๆ เมื่อฝูงมหิงสา พากันออกมาต้อนรับ ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล จนได้มีการบันทึกมาให้ได้ชื่นชมกัน
ควายป่าฝูงสุดท้ายห้วยขาแข้ง
สำหรับควายป่า หรือ มหิงสา เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของไทยและหายาก ลักษณะภายนอกที่อาจดูคล้ายควายบ้าน แต่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่า ล่ำสัน มีวงเขาตีโค้งกว้างกว่าควายบ้าน เมื่อตัวโตเต็มวัยมีความสูงที่ไหล่ประมาณ 2 เมตร น้ำหนักมากกว่า 1,000 กิโลกรัม
ลักษณะลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีเทา สีดำหรือสีน้ำตาลดำ ขาทั้ง 4 สีขาวแก่หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้าสีขาว ด้านล่างของลำตัวเป็นลายสีขาวรูปตัววี (V) ควายป่ามีเขาทั้ง 2 เพศ
อุปนิสัยของควายป่ามีความว่องไวดุร้ายกว่าควายบ้านมาก พบว่าชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ออกหากินในเวลาเช้าและเวลาเย็น กินอาหารจำพวก ใบไม้ หญ้า และหน่อไม้ หลังจากกินอาหารอิ่มแล้ว ควายป่าจะนอนเคี้ยวเอื้องตามพุ่มไม้ หรือนอนแช่ปรักโคลนตอนช่วงกลางวัน
ควายป่า ห้วยขาแข้ง (ภาพ: กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช)
ศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของควายป่าในประเทศไทย พบว่าเป็นควายป่าพันธุ์ไทย ที่มีขนาดใหญ่กว่าควายป่าแหล่งอื่น ๆ และคาดว่ายังมีควายป่าแท้ ๆ หลงเหลืออยู่บ้างในบางประเทศ เช่น เนปาล รัฐอัสสัม และโอริสสาของอินเดีย
สถานภาพควายป่าถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าต้องห้ามบัญชี 3 Appendix III ของอนุสัญญา CITES โดยสาเหตุของการเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ของควายป่ามีปัจจัยภัยคุกคาม เช่น การถูกล่าเพื่อเอาเนื้อและเอาเขาที่สวยงาม การถูกบุกรุกทำลายพื้นที่อยู่อาศัย การผสมพันธุ์กันเองในระหว่างเครือญาติ และเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อาจเสี่ยงต่อการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างควายป่าและควายบ้าน
อ่านข่าวอื่นๆ
กรมราชทัณฑ์ แถลงด่วน "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิตขณะถูกคุมขัง
"ลี เซียน ลุง" ลงจากเก้าอี้นายกฯสิงคโปร์ หลังครองตำแหน่งกว่า 20 ปี