ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โครงการ "เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" ผ่านมุมมอง "อดีตผู้ว่า ธปท."

เศรษฐกิจ
14 พ.ค. 67
11:50
5,530
Logo Thai PBS
โครงการ "เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" ผ่านมุมมอง "อดีตผู้ว่า ธปท."
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ท่ามกลางกระแสความเห็นต่างของสังคม ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล แน่นอนมีผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดยเฉพาะ "ธนาคารแห่งประเทศไทย" ที่หวั่นว่า อาจจะก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว

และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody's

เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง รายการ "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" ได้พูดคุยกับ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย "ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ที่จะวิเคราะห์ และให้มุมมองอีกด้านของเสถียรภาพด้านการเงินประเทศไทย กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รวมถึงจุดสมดุลการทำงานระหว่าง แบงค์ชาติ - รัฐบาล

"ผมคิดว่าต้องทำทั้งเรื่องระยะสั้น และระยะยาว แน่นอนตัวที่ประคองไปก็คือต้องรักษาเสถียรภาพ อย่าไปทำอะไรซึ่งชาวบ้านชาวโลกเขารู้สึกว่า ทำแล้วไม่ค่อยสมเหตุสมผล เช่นไปใช้จ่ายในเรื่องที่มันอาจจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะมันจะส่งผลต่อการเสียเสถียรภาพ ที่ทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อประเทศ"

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

…เริ่มต้นด้วยคำถาม?...รัฐบาลบอกว่าจะผลักดันจีดีพีให้โต 5% หนึ่งในนั้น คือเรื่องแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะสามารถช่วยปั๊มหัวใจให้ตื่นขึ้นมา และอาจจะโตกว่า 1% เฉพาะนโยบายแจกเงิน….

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า "จีดีพีที่โตขึ้น 5% หมายถึงปั๊มแล้วหลังจากนั้นหัวใจจะแผ่วและหยุดไปหรือไม่ หรือว่าปั๊มแล้วแข็งแรงไป 5% อีกหลาย ๆ ปี" เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้ เพราะเท่าที่ดูเหมือนเป็นการแย่งทรัพยากรจากอีกที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เพื่อให้ได้วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

ไม่ว่าจะเป็นการดึงงบมาจากปี 2567 ที่จัดสรรไปแล้ว ก็จะทำให้งบในส่วนอื่น ๆ หายไป ขณะที่ปี 2568 ที่จะมีการเพิ่มงบประมาณ ด้วยการขยายเพดานเงินกู้ ภาพรวมใหญ่จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสวนทางกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกนัยหนึ่ง คือ ไปแย่งเงินจากภาคเอกชน

เรื่องนี้คนก็จะโต้เถียงกันว่า ระหว่างรัฐกับเอกชน ใครจะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ปัญหาพื้นฐาน และยิ่งเรารู้ว่าใช้เพื่ออุปโภค บริโภค มันก็จะเป็นสายป่านห่วงโซ่ของระบบเศรษฐกิจมันจะสั้น ไม่เหมือนการผลิตหรือการลงทุนด้านอื่น ๆ

แม้รัฐบาลจะบอกว่า 6 เดือนของการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดคำถาม "What" "Why" "How"

ดร.ประสาร อธิบายว่า เท่าที่ติดตามคำชี้แจงของรัฐบาล มีการปรับเปลี่ยนอยู่เป็นระยะตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ฉะนั้น "What" มันก็เท่ากับความไม่สม่ำเสมอ และยังไม่อยู่ตัว ขณะที่ "Why" ถ้าสมมุติอยากจะช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ ช่วยพัฒนาทักษะทุนมนุษย์ กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ที่รัฐบาลเดิมอาจจะยังช่วยไม่พอ ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่ถ้าบอกว่าจะนำเงินมาแจกคน 50 ล้านคน ก็จะเกิดคำถามที่ว่า "ทำ" ทำไม

ส่วน "How" การสร้างข้อจำกัดในเรื่องของผู้รับที่ร้านค้า ประเภทร้านค้า ยิ่งทำให้คนเริ่มตั้งคำถามในเรื่องของความโปร่งใสกับความเป็นธรรม อีกทั้งยังไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้

ทั้งที่สภาพความเป็นจริง คนที่ถือคูปองอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้เงิน มันก็จะเกิด Discord Shop หรือเรียกว่าร้านค้าเปิดให้บริการสำหรับผู้ใช้ทุกคน ซึ่งอาจจะเป็นโรงจำนำ บริษัทรับซื้อสิทธิ์ ก็จะทำให้เกิดปัญหาอีกว่าใครจะเป็นคนรับ จะมีกฎกติกาในการที่จะไปขึ้นเงินสดอย่างไร

รวมถึงการใช้เทคโนโลยี "Blockchain" (ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุมที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ)

และในวงการผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์รู้ดีว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิ ภาพต่ำที่สุด เพราะใช้เวลาคำนวณนานกว่าแอปพลิเคชันธนาคารในโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้เกิดคำถาม "คุ้ม ไม่คุ้ม ใครสร้าง เสียเงินเท่าไหร่"

ดังนั้นหากรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าต่อนโนบาย "ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" ก็ต้องตอบคำถามให้กระจ่างชัด ไม่งั้นก็จะเป็น "Public Policy หรือ นโยบายสาธารณะที่คุณภาพไม่ค่อยดี

นโยบายสาธารณะ Vs นโยบายทางธุรกิจ

ดร.ประสาร แสดงความคิดว่า สิ่งสำคัญอย่าทำนโยบายสาธารณะ (Public policy) ให้เป็นนโยบายทางธุรกิจ (Business policy) เพราะหากดูในการแถลงต่อประชาชนของรัฐบาลมันไปในบริบทของ Business policy มากกว่า เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) มีทำให้มีเรื่องของกำไรคุ้มไม่คุ้มของเจ้าของกิจการ อีกทั้งยังมีความซับซ้อนในเรื่องของประชาชนอย่างกว้างขวาง

"ดิจิทัลวอลเล็ต คือ Public policy เกี่ยวเนื่องกับการคลัง เกี่ยวข้องกับการเอาเงินกองกลางไปให้คน ผมเป็นผู้เสียภาษีความจริงผมเป็นเจ้าของเงิน ผมก็อยากรู้ว่าคุณให้ใคร สมควรให้หรือเปล่า คุณมีอำนาจอันชอบธรรมที่จะไปให้คนกลุ่มนั้นไหม และให้ด้วยวิธีไหน คุ้มไม่คุ้ม Public policy คือทำแล้วต้องเกิดผลดีต่อส่วนรวม และไม่ไปสร้างผลเสีย ไม่เกิดรั่วไหลต่าง ๆ หลักพื้นฐานพวกนี้ต้องตอบโจทย์พวกนี้"

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปสิ่งที่เสียดายที่หลายเรื่องสำหรับธนาคารกลาง กับ รัฐบาล ควรจะได้ร่วมมือกันมากกว่าที่ผ่านมา เพราะมีเรื่องท้าทายเยอะที่จะร่วมกันทำ

ดร.ประสาร เล่าย้อนไปในช่วงที่เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ช่วงปี 2553-2558 มีเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกัน ที่รัฐบาลต้องการนำเงินก้อนใหญ่จำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาท ไปทำแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ หรือ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่ยังมีหนี้สาธารณะจำนวน 1.14 ล้านบาท ที่เกิดจากการไปช่วยสถาบันการในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เงินต้มยำกุ้ง

ในตอนนั้นรัฐบาลมีความต้องการอยากให้นำหนี้สาธารณะจำนวน 1.14 ล้านบาท ไปใส่ในบัญชีแบงค์ชาติ เพื่อให้กระทรวงการคลังมีพื้นที่ในการขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

โดยแบงค์ชาติอธิบายให้รัฐบาลฟังว่า "หนี้ก้อนนี้เทียบเท่ากับ 10 % จีดีพี หากลงมาก็หลังหัก หากเพิ่มหนี้สินอีก 1.14 ล้านล้านบาท ก็จะทำให้คนไม่เชื่อนโยบายการเงิน" ก็เจรจาไปเจรจามา จนได้ทางออก เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ด้วยการใช้กองทุนฟื้นฟู แล้วเก็บค่าธรรมเนียม จากธนาคารที่ต้องเสียค่าธรรมอยู่แล้ว เหมือนเป็นการหาทางออกร่วมกัน ทำให้เกิดการยอมรับทั้งสองฝ่าย

"ดอกเบี้ย"มุมมองที่เห็นต่าง

แน่นอนเรื่องดอกเบี้ย ไม่ว่าประเทศไหน อาจจะมีมุมมองที่ต่างกันระหว่างคนที่ดูวัตถุประสงค์หนึ่ง กับคนที่ดูอีกวัตถุประสงค์หนึ่ง หรืออาจจะดูหลายวัตถุประสงค์ประกอบกัน อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ที่สำคัญที่เราพยายามทำอยู่ตลอดคือการสร้างข้อกำหนดให้ดีโปร่งใส ว่าแต่ละฝ่ายมีเหตุและผลอย่างไร ก็มาอธิบายกับประชาชน

อดีตผู้ว่าฯ ธปท. บอกว่า เข้าใจมุมมองของรัฐบาลกับเหตุผล หากดอกเบี้ยต่ำ คนที่จะต้องชำระดอกเบี้ยหนี้สินก็จะน้อยลง เพราะในขณะนี้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงธุรกิจ SME ก็ได้รับผลกระทบ ขณะที่แบงค์ชาติ ที่มีพันธกิจสำคัญเพื่อรับผิดชอบด้าน "เสถียรภาพในระบบการเงิน" ทั้งในและต่างประเทศ อาจมีความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร

อย่างเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หากรัฐบาลเดินหน้า และขยายเพดานเงินกู้อีกกว่าแสนล้านบาท ในปี 2568 โอกาสที่ตลาดการเงินจะมีแรงกดดันให้ดอกเบี้ยขึ้น ก็จะส่งผลให้ต้องดำเนินการนโยบายดอกเบี้ย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

"เดี๋ยวลด เดี๋ยวเพิ่มดอกเบี้ย "ประชาชนจะสับสน ภาคธุรกิจก็วางแผนไม่ถูก ตลาดการเงินก็จะทำงานได้ไม่ดี "พอการเงินเดี๋ยวลด เดี๋ยวเพิ่ม ตลาดจะงง ปั่นป่วน" ที่จะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ที่ตอนนี้หลายประเทศก็ยังมีปัจจัยที่ยังไม่ค่อยแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ที่ยังมีท่าทีคงค้างอัตราดอกเบี้ยสูงไว้อีกนาน ขณะที่อินโดนีเซียก็เพิ่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะว่าสกุลเงินอ่อน

หากรัฐบาลจะปรับ หรือจะถอยสักก้าว มองว่าสังคมไทยไม่ถึงจะไปว่า กลับจะมองไปในทางดีด้วยซ้ำไปว่า เป็นผู้ใหญ่ คือ ฟังความเห็นแล้วนำมาปรับ

อดีต"ผู้ว่า ธปท." ถึง"ผู้ว่า ธปท." คนปัจจุบัน

…ถามว่า "ในฐานะอดีตผู้ว่าฯ แบงค์ชาติ ได้คุยกับผู้ว่าฯ แบงค์ชาติคนปัจจุบันหรือไม่"…

อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับว่า ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันบ้าง แต่เชื่อว่า ผู้ว่าฯ ธปท. คนปัจจุบัน มีข้อมูลที่มากกว่าตัวเองอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นคนเก่งที่มีประสบการณ์ไม่น้อย สิ่งสำคัญ คือ การรับฟังข้อเป็นห่วงของทางรัฐบาล รวบรวมให้ครบถ้วน แล้วดูว่ามีทางออกกลางไหม ที่เป็นทางออกร่วมของทุกฝ่าย

"หากแบงค์ชาติไม่วางน้ำหนักเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศไว้ ในยามที่โลกมีความไม่แน่นอนสูง เศรษฐกิจรอบตัวเรา หรือภายในประเทศเองก็มีความไม่แน่นอน การรักษาเสถียรภาพเอาไว้เป็นเรื่องที่ดี หากมีเสถียรภาพหากผ่านช่วงยากลำบากไปเราอยู่ได้ เราจะยังยืนได้ แต่หากสูญเสียเสถียรภาพ ในยามคลี่คลาย กำลังก็จะอ่อนแอ ความเชื่อมั่นก็จะหาย เพราะเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญ"

…เมื่อถามว่า "แล้วตอนนี้แบงค์ชาติ มีภูมิคุ้มกันพอที่จะสู้กับแรงกดดันทางการเมืองแค่ไหน"…

ดร.ประสาร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2551 มีการปรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนผู้ว่า ธปท. ที่จะต้องมีเหตุผลเพียงพอในสองข้อหลัก คือ 1.ขาดสมรรถภาพที่จะทำงาน 2. สร้างความเสียหายร้ายแรง ต่างจากสมัยก่อนที่มีการเปลี่ยนตัวทันทีโดยที่ไม่มีการบอกล่วงหน้า

ในตอนนี้ ธปท. มีภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับแรงกดดันทางการเมืองได้ หากทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ต้องระวังอย่าทำเรื่องที่สร้างความเสียหาย

ท้ายที่สุดก็คือการทดสอบความเข้มแข็งจากภาคประชาชน สาธารณชนยอมหรือไม่ ตลาดการเงินให้ความเชื่อมั่นอย่างไร ในการกระทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

พบกับ: รายการคุยนอกกรอบกับสุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.30 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : "เผ่าภูมิ"​ เผย​ "คลัง" ยังไม่นัด​ "ธปท."​ ถกดิจิทัลวอ​ล​เล็ต

"พิชัย" ลั่นให้เกียรติ "กฤษฎา" แจงปมจดหมายลาออก

"กฤษฎีกา" เผยปมตีความปลด "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการ คาดแล้วเสร็จสัปดาห์นี้​

ข่าวที่เกี่ยวข้อง