พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า จากภาวะโลกร้อน ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมจำนวนมา ทำให้พะยูนบางส่วนที่อาศัยในบริเวณ จ.ตรัง และ จ.กระบี่ เคลื่อนย้ายไปหากินแหล่งหญ้าทะเลตามแนวชายฝั่งจังหวัดใกล้เคียง
เมื่อพะยูนอพยพย้ายถิ่นมากขึ้น ประกอบกับปริมาณการสัญจทางน้ำ และกิจกรรมประมงมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณอ่างพังงา ส่งผลมีอัตราพะยูนตายจากอุบัติเหตุทางน้ำ และอุปกรณ์ทางการประมงเพิ่มขึ้น รมว.ทส.จึงมอบหมายกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล บริเวณอ่าวพังงา จำนวน 11 พื้นที่ ได้แก่

1.อ่าวตังเข็น ภูเก็ต 2.อ่าวป่าคลอก ภูเก็ต 3.อ่าวบ้านคลองเคียน พังงา 4.เกาะหมาก พังงา 5.ช่องหลาด เกาะยาว พังงา 6.อ่าวท่าปอม กระบี่ 7.อ่าวนาง กระบี่ 8.อ่าวน้ำเมา กระบี่ 9.เกาะศรีบอยา เกาะปู กระบี่ 10.เกาะลันตา กระบี่ และ 11.แหลมไทร กระบี่
นอกจากนี้ กำหนด 3 มาตรการ หากพบเห็นพะยูนบาดเจ็บ หรือตาย ให้โทรแจ้งสายด่วน 1362 เพื่อประสานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงเข้าช่วยเหลือ นำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากของ ทช., ประกาศให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชน เดินเรือตามแนวร่องน้ำหลัก และงดเดินเรือในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล หรือกรณีจำเป็นให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต และไม่เกิน 20 น๊อต ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นเขตการแพร่กระจายพะยูน และประชาสัมพันธ์ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่หญ้าทะเลและแหล่งแพร่กระจายของพะยูน หมั่นตรวจเช็คดูแลเครื่องมือประมง หรือหลีกเลี่ยงทำประมงบริเวณดังกล่าว

งดใช้เครื่องมือประมงเสี่ยงอันตรายพะยูน
สำหรับการอนุรักษ์พะยูนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชนชายฝั่งที่ต่างรักและหวงแหนทรัพยากรทางทะเล ซึ่ง ทช.และกรมอุทยานฯ ขอความร่วมมืองดการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพะยูนในแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน หรือในแหล่งหญ้าทะเล ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ทำการประมงในพื้นที่ที่มีพะยูนอาศัยอยู่
นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันนำเทคโนโลยีมาใช้อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการบินสำรวจจำนวนประชากรของฝูงพะยูน เพื่อตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์ รวมถึงการลาดตระเวนเฝ้าระวังไม่ให้มีเรือเข้าไปรบกวนหรือทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อฝูงพะยูน ในกรณีพบกิจกรรมจากการท่องเที่ยวและนำเที่ยว หรือการประมง เป็นสาเหตุการตายของพะยูน จะบังคับใช้มาตรการปิดการท่องเที่ยวและกันพื้นที่เข้าออกในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตอนุรักษ์สัตว์ป่า และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล

ล่าสุดวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดี ทช. ได้นำคณะลงพื้นที่เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพะยูน ร่วมกับเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและชาวประมงในพื้นที่บ้านเกาะกลาง หมู่ 1 ต.คลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อเร่งแก้ปัญหา ลดความเสี่ยงพะยูนบาดเจ็บและตาย
นายปิ่นสักก์ เปิดเผยว่า ช่วง 5-10 ปีผ่านมา ประชากรพะยูนในประเทศไทยมีประมาณ 280 กว่าตัว เพิ่มขึ้นจากเดิม 20 ตัว แต่ในปีนี้เกิดภาวะโลกร้อน อากาศแปรปรวน พื้นที่หญ้าทะเลลดลง ประชากรพะยูนขาดอาหาร และกระจายออกไปยังพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น
สำหรับพะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 6 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 พบเห็นได้มากบริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง เกาะมุกด์ จ.กระบี่ เกาะปู เกาะจำ เกาะศรีบอยา เกาะลันตา และพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเล
อ่านข่าว
2 พะยูนตัวเมีย เกยตื้น ที่ชายหาดเกาะหมากน้อย เร่งหาสาเหตุ