ไทยพีบีเอส ถ่ายทอดสด พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
วันที่ 10 พ.ค. 67 เป็น "วันพืชมงคล 2567" กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประชาชนสามารถติดตามชมทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และทุกช่องทางออนไลน์ของไทยพีบีเอส เวลา 08.20 น. เป็นต้นไป * รับสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย *
ชมสด! พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2567 ที่นี่
งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้น การทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น โดยพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
อ่านต่อ : "วันพืชมงคล" พระราชพิธีสำคัญคู่การเกษตรไทย ลุ้นพระโคจะกินอะไร 10 พ.ค.นี้

โดยในปี พ.ศ. 2567 นี้ ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี พ.ศ. 2567 นี้ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา และผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงินนั้น จะมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปี ซึ่งจะดูที่ความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือ พิจารณาคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการหญิงโสดเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้วที่ไม่เป็นทางการ คือ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน
อ่านต่อ : งดงาม ซ้อมใหญ่ “พระราชพิธีพืชมงคลฯ” ปี 67 มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
สำหรับในปีนี้ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร

พระโคแรกนาขวัญ ปี 2567
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้ายเขาลักษณะ โค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม ซึ่งได้คัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง, พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล
อ่านต่อ : รู้จักพระโค "พอ-เพียง" พระโคแรกนาขวัญ ปี 2567

พันธุ์ข้าวที่จะนำมาใช้ในงานพระราชพิธีฯ
ประกอบด้วย พันธุ์ข้าวนาสวน จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105, พันธุ์กข 43, พันธุ์กข 81, พันธุ์กข 85, พันธุ์กข 87 และพันธุ์กข 95 พันธุ์ข้าวเหนียว จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กข 6 และพันธุ์สันป่าตอง 1 เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,743 กิโลกรัมและจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชนผู้สนใจ และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป
เปิดคำทำนายพืชมงคลปี 2567
วันพืชมงคลปี 2567 พระยาแรกนาเสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 5 คืบ น้ำปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ พระโคกิน "น้ำ - หญ้า -เหล้า" น้ำท่าบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารอุดมสมบูรณ์ การคมนาคมสะดวก การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น เศรษฐกิจรุ่งเรือง [อ่านต่อ]
อ่านข่าว :
ขึ้นฟรี! กทพ.ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ หยุดราชการ 3 วัน เดือน พ.ค.
10 พ.ค. "วันพืชมงคล" วันหยุดราชการที่มีแต่ราชการเท่านั้นที่หยุด
วันวิสาขบูชา 2567 กับ 3 เหตุการณ์สำคัญใน "พระพุทธศาสนา"